ปลัดเกษตรฯ จ่อชงบอร์ด ดูแลผู้ได้รับผลกระทบ จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เยียวยาเกษตรกร 5 พันบาท 3 เดือน ย้ำ! ลูกหลานเกษตรกร ที่ตกสำรวจ “เราไม่ทิ้งกัน” ควรได้สิทธิอุทธรณ์ คาดเสนอใช้งบประมาณ 1.35 แสนล้าน โอนผ่านบัญชี ธ.ก.ส. ได้ทันที เผยมีผู้ลงทะเบียนเกษตรกร ไว้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กว่า 9 ล้านทะเบียน
วันนี้ (22 เม.ย.) มีรายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 23 เม.ย.นี้ นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมเสนอต่อคณะกรรมการกำกับดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เป็นมาตรการเยียวยาเกษตรกร ที่ลงทะเบียนไว้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 9 ล้านทะเบียน ให้ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท ระยะเวลา 3 เดือน ต่อทะเบียนเกษตรกร คาดใช้เงินประมาณ 135,000 ล้านบาท โดยโอนผ่านบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ยอมรับว่า เมื่อสัปดาห์ก่อน มีผู้ลงทะเบียนที่ถูก “เอไอ” ระบุว่า เป็นเกษตรกร มากกว่า 10 ล้านคน ผ่านเว็บไซต์ “เราไม่ทิ้งกัน.คอม” มีการชี้แจงถึงระบบการลงทะเบียนเกษตรกร ว่า ผู้ที่เป็นเจ้าของทะเบียน ได้ลงชื่อลูกหลานเข้าไปด้วย ทำให้ใน 10 ล้านคน ระบบเอไอ ระบุว่า มีอาชีพเกษตรกร แต่จริงๆ มีประมาณ 3-4 ล้านคนเท่านั้น ที่เป็นเจ้าของทะเบียน เพื่อที่กระทรวงเกษตรฯ จะช่วยเหลือเอง ดังนั้น อีกประมาณ 6-7 ล้านคน หากมีการอุทธรณ์ หรือกระทรวงการคลัง ให้ทบทวนสิทธิ กลุ่มนี้ต้องได้รับสิทธิเงินเยียวยา 5,000 บาทต่อเดือน
กระทรวงเกษตรฯ ยังได้แจ้งกับคณะกรรมการชุดนี้ ว่า ควรเปิดโอกาสเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของครัวเรือนให้อุทธรณ์ และรับเงิน 5,000 บาท ในกรณีที่เกษตรกรกลุ่มนี้ ได้ประกอบอาชีพ ค้าขาย หรือขับแท็กซี่จริง
“เมื่อประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กิจกรรมทุกอย่างหยุดชะงักลง ภาคการเกษตร เก็บเกี่ยวไม่ได้ นำผลผลิตออกขายลำบาก หากพิจารณาโดยลึกแล้ว จะเห็นว่า เกษตรกรเป็นกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนอยู่แล้ว หากไม่ได้รับการช่วยเหลือเลยก็จะไม่ธรรมเมื่อเทียบกับอาชีพกลุ่มอื่น"
“ต่อไปนี้การช่วยเหลือของกระทรวงเกษตรฯ ในมาตรการดังกล่าว จะช่วยตามรายทะเบียนที่มีประมาณ 9-10 ล้านทะเบียนเท่านั้น ไม่นับเป็นราย ซึ่งจะมีมากกว่า 16-17 ล้านราย แบ่งเป็นที่ขึ้นกับ กรมส่งเสริมการเกษตร 6.1 ล้านทะเบียน ประมงไม่เกิน 1 ล้านทะเบียน ปศุสัตว์ 3 ล้านทะเบียน ซึ่งจะอัปเดตทุกรอบการผลิต” รายงานข่าวระบุ
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ จะเสนอเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการประกันรายได้เกษตรกร ทั้งชาวสวนปาล์ม ยาง ข้าว มันสำปะหลัง ซึ่งยังเดินหน้าตามการประกันรายได้
นอกจากนี้ เกษตรกร อาจได้รับมาตรการฟื้นฟูเพิ่ม ในกรณีที่ผลผลิตได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติและอื่นๆ ที่เป็นมาตรการช่วยเหลือปกติตามสถานการณ์
เมื่อช่วงเช้า กรมส่งเสริมการเกษตร ได้รายงานตัวเลข “ทะเบียนเกษตรกร” มี นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นตัวเลขล่าสุด ของเกษตรกรผู้มาปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร 6,196,346 ครัวเรือน จากพื้นที่การเกษตรประมาณ 130 ล้านไร่ คิดเป็นสมาชิกครัวเรือนรวม 16,332,997 คน จากฐานข้อมูลเดิม รายชื่อและพื้นที่เพาะปลูกในระบบทั้งประเทศ 7,522,003 ครัวเรือน.
โดย รมว.เกษตรฯ สั่งการให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ประสานกับปลัดกระทรวงการคลัง ปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรให้ครอบคลุมทุกราย เพื่อให้เกษตรกรที่เผชิญผลกระทบจากโควิด-19 ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการของรัฐบาลมากที่สุด ที่เป็นห่วง คือ เกษตรกรที่ยังไม่เคยขึ้นทะเบียน จึงไม่มีชื่ออยู่ในระบบและไม่เคยเข้าร่วมโครงการของรัฐ ซึ่งจะไม่มีชื่ออยู่ในฐานข้อมูลของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และกระทรวงการคลัง
จึงเชิญชวนให้เกษตรกร ทั้งกลุ่มเพาะปลูก ปศุสัตว์ ประมง และนาเกลือ ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน เพื่อยืนยันสถานภาพในการรับความช่วยเหลือต่างๆ รวมถึงโครงการประกันรายได้ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
สำหรับเกษตรกรที่ปรับปรุงทะเบียนแล้ว หากรัฐกำหนดมาตรการช่วยเหลือที่ชัดเจนแล้ว หากเยียวยาเป็นเงินจะโอนผ่านบัญชี ธ.ก.ส. ได้ทันที