“อัษฎางค์-ชาญวิทย์” วิเคราะห์กรณี “บิ๊กแดง” ต้องรับผิดชอบหรือไม่ กรณี “จ่าคลั่ง” คมชัดมุมมองของคนที่อยู่ต่างขั้วการเมือง แม้ต่างก็เป็นนักประวัติศาสตร์ ที่ มีเหตุผลในการอธิบาย
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้(12 ก.พ.63) เฟซบุ๊ก อัษฎางค์ ยมนาค ของ นายอัษฎางค์ ยมนาค นักประวัติศาสตร์ โพสต์หัวข้อ “ถอดรหัสประเด็นร้อนจากประโยคคำพูดของบิ๊กแดง”
โดยเนื้อหา ระบุว่า “• เขาคืออาชญากร ไม่ใช่ทหาร ?
• เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ปฎิบัติการทางทหาร ?
หนึ่งในเรื่องที่แปลกแต่จริงของมนุษย์ คือ
• เห็นของสิ่งเดียวกัน แต่มองเห็นไม่เหมือนกัน
• ได้ยินคำพูดคำเดียวกัน แต่ฟังเข้าใจไม่เหมือนกัน
เรื่องที่บิ๊กแดงพูดถึงฆาตกรในคราบทหารที่เทอร์มินอล 21 มี 2 ประเด็นที่กลายเป็นประเด็นร้อน คือ
• 1)ประโยคที่ว่า
“วินาทีที่ผู้ก่อเหตุได้สังหาร ลั่นไกใส่คู่กรณี ณ วันนั้น ณ นาทีนั้น เขาคืออาชญากร ไม่ใช่ทหารอีกต่อไปแล้ว”
ซึ่งเกิดคำถามขึ้นทันที กับฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ ว่าทำไมพูดเหมือนปัดความรับผิดชอบ เพราะฆาตกร คือทหาร และตลอดช่วงเวลาที่ก่อเหตุก็แต่งกายในชุดทหาร
ผมขอยกกรณีตามข้อกำหนดของคณะสงฆ์มาเป็นตัวอย่างประกอบการอธิบาย เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจน
อาบัติปาราชิก
พระภิกษุต้องอาบัติปาราชิก ทันทีทันใด จากการปาราชิกข้อใดข้อหนึ่งใน 4 ข้อ ดังต่อไปนี้ แม้จะไม่กล่าวลาสิกขาบท ก็ถือว่าขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที เมื่อความผิดสำเร็จ
•เสพเมถุน (มีเพศสัมพันธ์)
•ลักทรัพย์ (ขโมย)
•ฆาตกรรม (ฆ่าคน)
•อวดอุตริมนุสธรรม (อวดวิชา)
ปาราชิก แปลว่า ผู้ต้องพ่าย
หมายถึง ผู้ต้องพ่ายแพ้ในตัวเอง ที่ไม่สามารถปฏิบัติในพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงประทานไว้ให้ได้
เพราะฉะนั้น พระสงฆ์ ที่กระทำปาราชิก 1 ใน 4 ข้อดังกล่าว จะพ้นสภาพสงฆ์ในทันทีโดยอัตโนมัติ ในวินาทีที่กระทำปาราชิก โดยไม่ต้องกล่าวลาสิกขา (โดยปกติเวลาพระจะสึกจากการเป็นพระ จะต้องกล่าว ลาสิกขา เสียก่อน)
การปาราชิกของพระสงฆ์คงช่วยทำให้เข้าใจและเห็นภาพตามประโยคที่บิ๊กแดงพูดว่า
“วินาทีที่ผู้ก่อเหตุได้สังหาร ลั่นไกใส่คู่กรณี ณ วันนั้น ณ นาทีนั้น เขาคืออาชญากร ไม่ใช่ทหารอีกต่อไป
• 2)ประโยคที่ว่า
“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ปฎิบัติการทางทหาร”
มีคำถามจากสื่อมวลชนว่า ผู้บังคับบัญชา ต้องแสดงรับผิดชอบด้วยการลาออกหรือไม่?
ซึ่งคำตอบของบิ๊กแดงที่ว่า “ถ้าเป็นการปฏิบัติการทางทหารตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ตนเองยินดีลาออก แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่ปฏิบัติการทางทหาร”
เป็นการปัดความรับผิดชอบหรือไม่?
ผมมีคำถามที่ช่วยอธิบายคำตอบ ว่า..
เหตุการณ์ ผอ.กอล์ฟ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการและอาจารย์ในโรงเรียน ปล้นฆ่าร้านทองที่ลพบุรี
•เป็นปฏิบัติการของผู้ที่เป็นครูอาจารย์ หรือไม่?
รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้อำนวยการ
•ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก หรือไม่?
ถ้าคุณตอบว่า “ใช่”
ต่อไปนี้ ใครก็ตามในหน่วยงาน ในองค์กร ทำผิด ผู้บังคับบัญชาสูงสุดต้องลาออก
สมมติว่า บิดาของคุณเป็นประธานบริษัทแห่งหนึ่ง แล้วพนักงานขับรถของบริษัทไปฆ่าคนตาย บิดาของคุณซึ่งเป็นประธานบริษัทต้องลาออก ใช่หรือไม่?
ถ้าคุณตอบว่า “ไม่ใช่”
เหตุการณ์ ผอ.กอล์ฟ ปล้นฆ่า ก็คล้ายกับเหตุการณ์จ่าคลั่ง ฆ่าคน
คือไม่ใช่ปฏิบัติการของครูอาจารย์
และไม่ใช่ปฏิบัติการของทหาร
รวมทั้งความเป็นครูอาจารย์ ความเป็นทหาร ความเป็นพระสงฆ์ ยุติลงทันทีโดยอัตโนมัติ ในวินาทีที่ผู้นั้นต้องพ่ายแพ้ในตัวเอง ที่ไม่สามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบตามสภานะในอาชีพของตนเองตามที่มีระบุไว้ในองค์กร
จบมั้ย
(หมายเหตุ จะพูดอะไร ควรพูดเป็นประเด็นๆ ไป อย่าเอาประเด็นอื่นมารวม เช่น ประเด็นนี้เป็นการชี้แจงคำแถลงเพื่อให้เข้าใจถูกต้องตรงกัน ส่วนประเด็นความรับผิดชอบของกองทัพต่อเหตุการณ์โศกนาฏกรรมนี้ ยังไงต้องมี )
ขณะเดียวกัน(12 ก.พ.63) เฟซบุ๊ก ชาญวิทย์ เกษตรศิริ Charnvit Kasetsiri ของนายชาญวิทย์ เกษตรศิริ สมาชิกพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) และนักประวัติศาสตร์ โพสต์ข้อความ ระบุว่า
“อีกฉากหนึ่งของวัฒนธรรมไม่ต้องรับผิด (accountability)
Credit - Puangthong Pawakapan
ก็แค่อีกฉากหนึ่งของวัฒนธรรมไม่ต้องรับผิด (accountability)
ปี 2557 ผบ.ทบ.ของเกาหลีใต้ ลาออกเพราะพลทหารเสียชีวิตจากการถูกรังแกโดยผู้บังคับบัญชา 5 คน ทั้ง 5 คนถูกดำเนินคดีอาญาข้อหาฆ่าคนตาย
กรณีไทย ได้แต่บอกว่า เสียใจกับความหละหลวมในการดูแลคลังอาวุธของตัวเอง ตัดความรับผิดชอบของกองทัพ ด้วยการทำให้ผู้กระทำผิด "ไม่ใช่ทหาร" อีกต่อไป (ด้วยประโยคง่ายๆ ว่าทันทีที่เขาลั่นกระสุนใส่ประชาชน เขาไม่ใช่ทหารอีกต่อไป)
นี่ไม่ใช่ครั้งแรก ที่ระบบการเก็บรักษาอาวุธของกองทัพสร้างปัญหาให้กับประชาชน ทั้งกรณีปล้นปืนที่ อ.เจาะไอร้องในปี 2547, กพ.ปีที่แล้ว ก็เกิดเหตุการณ์พลทหารปล้นปืน M16 แล้วก็เอาปืนไปปล้นรถกับทรัพย์สินของประชาชน กระนั้น ก็ยังปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ที่โคราชอีก มันชี้ว่า พวกเขาไม่ได้ใส่ใจกับเรื่องนี้อย่างจริงจังเลย
ความหละหลวมบางเรื่อง เมื่อส่งผลเสียหายอย่างใหญ่หลวงถึงขนาดทำให้มีคนเสียชีวิตถึง 30 คน เป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจสูงสุดในองค์กรต้องแสดงความรับผิดชอบขั้นสูงสุด ไม่ใช่กรีดน้ำตาทำหน้าเศร้า แล้วกล่าวคำว่า เสียใจเท่านั้น
แต่นั่นแหละนะ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้มีอำนาจของไทยไม่ต้องรับผิดกับ "อำนาจและหน้าที่" ของตนเอง เรื่องใหญ่กว่านี้ก็ทำกันมาแล้ว ทั้งตุลา 2516, พฤษภา 2535, เมษา-พฤษภา 2553, การเสียชีวิตของประชาชน-ทหารเกณฑ์ในค่ายทหารอีกนับไม่ถ้วน ฉะนั้น ฉันก็ไม่หวังจะเห็นความรับผิดอย่างสง่างามจากใครในกรณีนี้ทั้งสิ้น
กรณีการทำธุรกิจสีเทาในค่ายทหาร นี่ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องปกติของระบบราชการ พวกแชร์ลูกโซ่ก็ระบาดกันในระบบราชการนี่แหละ ด้านหนึ่งเพราะระบบ Hierachy ในระบบราชการช่วยรับประกันความมั่นคงของผู้ที่เกี่ยวข้องระดับหนึ่ง เพราะทุกคนมีงานและระบบเงินเดือนมั่นคง
บ่อยครั้งคนที่เป็นหัวหน้าแก๊ง มักมีตำแหน่งสูง มีอำนาจบังคับให้ลูกทีมต้องทำตามกฎเกณฑ์ ห้ามเบี้ยว แต่ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อหัวหน้าทีมเบี้ยวลูกน้องเสียเอง ลูกน้องก็ต้องก้มหน้ารับความอยุติธรรมไป เพราะรู้ว่าการร้องเรียนผู้บังคับบัญชาของตนในระบบราชการเป็นสิ่งที่ยากยิ่ง เพราะเขามักจะมีเส้นใหญ่กว่าตน ร้องเรียนไปก็มีแต่จะทำให้ตัวเองลำบากยิ่งขึ้น แต่กรณีโคราช มันเกิดกับคนที่รู้จักการใช้อาวุธร้ายแรง ผลกระทบจึงมหาศาลขนาดนี้
อย่าไปคาดหวังว่า ธุรกิจสีเทานี้จะหมดไปจากกองทัพหรือระบบราชการ ตราบเท่าที่ระบบ Hierachy ยังเข้มแข็ง มันก็จะอยู่คู่สังคมไทยไปอีกนาน
แน่นอน, ชาญวิทย์ ในปัจจุบัน ก็คือ สมาชิกพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับทหาร และกองทัพอยู่แล้ว โดยพวกเขามองว่า กองทัพ เป็นขุมกำลังให้ “เผด็จการ” นั่นเอง ยิ่ง “บิ๊กแดง” ที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่า ค้ำบัลลังก์ให้ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงแทบไม่ต้องสงสัยที่จะถูกตัดแขนขา ด้วยเกมโหนกระแสอย่างง่ายดาย
แต่ประเด็นสำคัญ ที่ “อัษฎางค์” ต้องการให้แยกแยะออกจากกันให้ชัดเจน ก็คือ คำพูดของ “บิ๊กแดง” มีความจริงรองรับหรือไม่ หรือ แค่ปัดความรับผิดชอบ เรื่องนี้ผู้อ่านจะเป็นผู้ตัดสิน ว่าเหตุผลของใครน่ารับฟังกว่ากัน
อีกประเด็น คือ ความรับผิดชอบของ “บิ๊กแดง” และกองทัพ ซึ่ง จะต้องรับผิดชอบเหตุการณ์ครั้งนี้ ด้วยการสรุปบทเรียนแล้วหาทางป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก โดยเฉพาะมาตรการคุมเข้มเรื่องอาวุธ รวมทั้งการกวาดล้างผลประโยชน์สีเทาในกองทัพทุกรูปแบบ อย่างที่หลายฝ่ายเชื่อว่า เป็นสาเหตุสำคัญของเรื่องที่เกิดขึ้น
ถ้าไม่แยกแยะให้ชัดเจน นอกจากจะไม่มีประโยชน์ในการเสนอแนะให้กองทัพกลับไปทบทวนตัวเองแล้ว ยังเท่ากับเป็นการเหมารวมทุกเรื่องเอามาโจมตีกองทัพและผู้นำกองทัพ เพื่อให้เกิดผลทางการเมืองเท่านั้น
เช่น กรณีกดดันให้ “บิ๊กแดง” ลาออก ถึงแม้ว่า “บิ๊กแดง” ไม่ลาออก อย่างน้อยก็ได้โจมตีด้วยข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงต่อสาธารณชน และดิสเครดิตในทางการเมืองเรียบร้อยเช่นกัน
นี่คือ สิ่งที่สังคมการเมืองไทยไม่เคยเปลี่ยนและสร้างสรรค์ได้ มาหลายสิบปี แม้คนรุ่นเก่าจะหมดไปมากแล้ว แต่รุ่นใหม่ก็ยังเจริญรอยตามอยู่เหมือนเดิม หรือว่าไม่จริง