xs
xsm
sm
md
lg

มาได้จังหวะ! ถกปฏิรูปตำรวจเปิดทางอัยการร่วมสอบสวนคดีสำคัญ-อุกฉกรรจ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายคำนูณ สิทธิสมาน(แฟ้มภาพ)
ถกปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปสอบสวนเริ่มเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนขึ้น ล่าสุดเสนอให้อัยการเข้ามร่วมสอบสวนในคดีสำคัญและคดีอุกฉกรรจ์ที่มีอัตราโทษสูง 10 ปีขึ้นไปเพื่อความรอบคอบ และอำนวยความยุติธรรมให้ชาวบ้านมากขึ้น

วันนี้ (24 ก.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน กรรมการร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเปิดเผยความคืบหน้าในการพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญ โดยเฉพาะการให้อัยการเข้ามาร่วมการสอบสวนในคดีสำคัญ และคดีอุกฉกรรจ์ที่มีโทษสูงตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ดังนี้

“Change in action (22)

ปฏิรูปการสอบสวน - ให้อัยการเข้าร่วมการสอบสวนตั้งแต่ต้นในคดีอุกฉกรรจ์และคดีสำคัญ!

เพื่อให้การสอบสวนคดีอุกฉกรรจ์และคดีสำคัญต่างๆ มีความรอบคอบ รัดกุม เกิดความสมบูรณ์ในสำนวน สามารถอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เสียหายได้อย่างเต็มที่ ร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา พ.ศ. ... จึงกำหนดให้พนักงานอัยการสามารถเข้ามาร่วมในกระบวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนได้ตั้งแต่ต้นในคดีต่อไปนี้

- คดีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษขั้นต่ำให้จำคุกตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป หรือโทษสถานหนักกว่านั้น

- คดีตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์

- คดีอื่นตามที่อัยการสูงสุดกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติร่วมกันกำหนด

ในคดีเหล่านี้ กำหนดขั้นตอนให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้พนักงานอัยการที่มีเขตอำนาจได้ทราบทันทีหลังจากแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหารับทราบแล้ว

เมื่อได้รับแจ้งแล้ว ให้พนักงานอัยการมีอำนาจไปเข้าร่วมสอบสวนกับพนักงานสอบสวน ณ ที่ทำการของพนักงานสอบสวน หรือขอให้พนักงานนอบสวนแจ้งความคืบหน้าในการสอบสวนให้ทราบเป็นระยะ หรือขอให้ตรวจสอบพยานหลักฐานหรือประเด็นใดเพิ่มเติมเป็นการเฉพาะ

การกำหนดให้พนักงานอัยการ “...ไปเข้าร่วมการสอบสวน ณ ที่ทำการของพนักงานสอบสวน” ก็เพื่อความชัดเจนและไม่ให้เป็นภาระแก่ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือพยาน หากจะต้องพบพนักงานอัยการ

ในการสอบสวนร่วมกันดังกล่าว หรือในกรณีที่พนักงานสอบสวนเห็นว่าควรได้รับคำปรึกษาแนะนำจากพนักงานอัยการ เมื่อพนักงานอัยการเห็นสมควร ให้พนักงานอัยการปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับพนักงานสอบสวนเพื่อให้คำแนะนำหรือตรวจสอบพยานหลักฐานตั้งแต่ชั้นเริ่มต้นการสอบสวน โดยให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามคำแนะนำของพนักงานอัยการในเรื่องที่เกี่ยวกับการสอบสวนคดีนั้น

ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่อัยการสูงสุดและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติร่วมกันกำหนด

ในระหว่างที่ยังมิได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขดังกล่าว ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการไปตามที่พนักงานอัยการแจ้งให้ทราบเป็นเรื่องๆ ไป

ทั้งนี้ ในการแจ้งหรือติดต่อประสานงานกันทั้งหมดตามกระบวนการใหม่นี้ จะแจ้งหรือติดต่อกันทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว”



กำลังโหลดความคิดเห็น