ถกร่างกฎหมาย “ปฏิรูปตำรวจ” คืบหน้าไปไกล กำลังพิจารณาในบทเฉพาะกาล เน้นหัวใจสำคัญที่โรงพักทั่วประเทศ 1,482 พร้อมขีดเส้นตายให้บรรจุอัตรากำลังให้ครบตามแผนใน 1 ปี และห้าม สตช.ตั้งหน่วยงานใหม่ใน 10 ปี ลุ้นภารกิจคืนสู่สามัญใกล้ชิดชาวบ้านมากที่สุด
วันนี้ (10 ก.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน กรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กเปิดเผยถึงความคืบหน้าในการพิจารณากฎหมายดังกล่าว โดยระบุว่ากำลังพิจารณาอยู่ในช่วงท้ายแล้ว นั่นคือกำลังพิจารณาในบทเฉพาะกาล และย้ำว่าหัวใจสำคัญโรงพักทั่วประเทศ และการให้ตำรวจทำงานใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด
“Change in action (19)
หัวใจอยู่ที่โรงพัก 1,482 แห่ง / ขีดเส้นตายให้บรรจุอัตรากำลังให้ครบตามแผนภายใน 1 ปี - ห้ามตั้งหน่วยงานใหม่ภายใน 10 ปี
กลับมาประชุม Change in action ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ ต่อ แต่ที่ยังไม่ได้เขียนเล่ารายละเอียดมากเพราะเป็นช่วงพิจารณาร่างฯ รายมาตราตามหลักการที่ได้เล่าไป 18 ตอนแล้ว และขณะนี้ก็อยู่ในช่วงท้ายเริ่มขึ้นเนื้อหาบทเฉพาะกาลไปหลายประเด็นแล้ว หากมีแง่มุมใดที่พอจะเล่าได้โดยไม่เป็นเทคนิคในการเขียนกฎหมายมากเกินไปก็จะทยอยเล่าสู่กันฟังตามโอกาสอันควร
หากถามว่า 'หัวใจ' ของร่างฯใหม่คืออะไร?
พิจารณาภาพรวมทั้งหมดแล้วขอตอบว่า 'หัวใจ' อยู่ที่โรงพักทั่วประเทศรวม 1,482 แห่ง!
แม้เสมือนจะปรับปรุงแก้ไขเปลี่ยนแปลงมาก จนชี้แจงได้วันแล้ววันเล่า แต่มองลึกลงไปแล้วร้อยเปลี่ยนพันเปลี่ยนคือไม่เปลี่ยนหลักการพื้นฐาน
เพราะคือการพลิกฟื้นให้งานตำรวจกลับคืนสู่สามัญให้มากที่สุด
โดยกำหนดให้ทรัพยากรทั้งอัตรากำลังพลและงบประมาณได้รับการจัดสรรกระจายลงไปที่จุดล่างสุดคือสถานีตำรวจหรือโรงพัก 1,482 แห่งทั่วประเทศและหน่วยงานระดับกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเป็นอันดับแรก และยังกำหนดให้ทุกโรงพักมีโอกาสได้รับงบประมาณสนับสนุนจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ได้โดยตรง เพราะโรงพักคือหน่วยงานที่ใกล้ชิดประชาชนที่สุด ให้บริการประชาชนโดยตรงที่สุด
กรอบอัตรากำลังที่เพียงพอสำหรับการให้บริการประชาชนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติกระทำครั้งสุดท้ายเมื่อหลายปีก่อน จนบัดนี้ก็ยังไม่สามารถบรรจุได้ครบ
ส่วนที่ขาดมากที่สุดคือส่วนที่ประจำอยู่ ณ โรงพัก
แต่ในขณะที่สภาวะขาดแคลนกำลังพลและงบประมาณในระดับโรงพักยังไม่รับการแก้ไขเท่าที่ควร กลับพบว่าที่ผ่านมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการจัดตั้งส่วนราชการที่เป็นหน่วยงานกลางทำหน้าที่เฉพาะอย่างขึ้นมาก และค่อยๆ ยกระดับหน่วยงานเหล่านั้นขึ้นไปถึงกองบัญชาการ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อไว้ทำคดีสำคัญที่มีลักษณะเฉพาะ และเกินกำลังโรงพัก ยิ่งทำให้เป็นตัวแบ่งอัตรากำลังพลจริงที่จะจัดสรรลงโรงพักมากยิ่งขึ้นไปอีก
นอกจากนั้นยังพบว่ามีข้าราชการตำรวจที่ทำหน้าที่ในฝ่ายอำนวยการต่างๆ ค่อนข้างมาก จนเกิดคำถามว่ามากเกินไปหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับหน่วยปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยปฏิบัติในระดับโรงพักที่ขาดแคลนทั้งกำลังพลและงบประมาณ
การจัดตั้งกองบัญชาการ พ.ร.บ.ตำรวจฯฉบับที่ใช้อยู่ปัจจุบันกำหนดให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ส่วนหน่วยงานระดับรองลงมาให้ตราเป็นกฎกระทรวง
แต่ไม่ได้มีเงื่อนไขกำกับไว้เท่าที่ควร
ร่างฯใหม่ได้วางเงื่อนไขกำกับไว้ให้เป็นเจตนารมณ์ชัดเจนในหลายมาตราหลายหมวด
อาทิ....
“ในกรณีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีอัตรากำลังไม่เพียงพอ ให้จัดอัตรากำลังให้แก่สถานีตำรวจและตำรวจภูธรจังหวัดตามลำดับให้ครบถ้วนตามกรอบอัตรากำลังก่อน”
หรือ....
“ในกรณีที่มีการแบ่งส่วนราชการเป็นกองบัญชาการและกองบังคับการ การกำหนดอัตรากำลังของส่วนราชการที่ทำหน้าที่เป็นฝ่ายอำนวยการ ให้กระทำเพียงเท่าที่จำเป็น เพื่ออำนวยความสะดวก สนับสนุน และช่วยเหลือการปฏิบัติงานของส่วนราชการที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยปฏิบัติ”
และ....
“เงินอุดหนุนที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดสรรให้แก่สถานีตำรวจ ให้ใช้เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจในสถานีตำรวจนั้น โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน”
นอกจากนั้น คณะกรรมการฯ ยังมีมติให้เขียนไว้ในบทเฉพาะกาลอีก 2 ประเด็น
1. กำหนดให้การจัดวางกรอบอัตรากำลังในโรงพักและกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ต้องบรรจุลงให้ครบตามแผนที่มีอยู่ภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ร่างฯใหม่นี้ใช้บังคับ ส่วนกรอบอัตรากำลังอื่นๆ ทั้งหมดให้บรรจุให้ครบภายใน 2 ปี
2. ห้ามมิให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติตั้งหน่วยงานใหม่ภายใน 10 ปีนับแต่วันที่ร่างฯใหม่นี้ใช้บังคับ จนกว่าอัตรากำลังของโรงพักและกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดจะเพียงพอและครบถ้วน เพื่อให้เกิดความแน่นอนและต่อเนื่องในโครงสร้างและมิให้เกิดหน่วยงานภายในใหม่เกินความจำเป็น
นี่เป็นเพียงตัวอย่างเพียงบางประเด็นที่สะท้อนให้เห็นถึง 'หัวใจ' ของการพลิกฟื้นโครงสร้างของงานตำรวจให้กลับคืนสู่สามัญ”