ประธาน กรธ.รับไพรมารีโหวต ผ่อนมาแยะแล้ว ชี้ถกหาทางออก กกต.ควรเป็นเจ้าภาพ คุยปัญหากับพรรค ไม่ต้องเกรงใจรัฐ หนุนทาบบุคคลนั่ง กกต. หาก สนช.คว่ำรอบสอง เชื่อทำงานได้ดี
วันนี้ (10 ก.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอและแนวทางต่อการงดเว้นใช้การเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อหาผู้สมัคร ส.ส. หรือไพรมารีโหวต ว่าเบื้องต้นผ่อนมาเยอะแล้ว แต่ถ้ายังติดขัดตรงไหนหรืออะไรที่ทำให้เดินหน้าไม่ได้ เราต้องรู้ก่อนว่าเกิดปัญหาตรงไหน วันนี้กติกาคือทุกคนต้องไปทำไพรมารีโหวต แต่ถ้ายังทำไม่ได้จะทำได้แค่ไหน ต้องการอย่างไร หากต้องแก้ต้องไปแก้ที่ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. แต่ตอนนี้กฎหมายยังไม่ออกมาก็ยังพูดอะไรได้ไม่เต็มปาก ทั้งนี้ เมื่อถึงเวลาคงต้องนัดฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยกัน ซึ่งเจ้าภาพของเรื่องนี้ควรเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ต้องเตรียมประเด็นปัญหา กกต.อาจคุยกับพรรคการเมืองว่าขณะนี้ปัญหาเป็นแบบไหน จะปรับปรุงอย่างไรเพื่อให้ได้ข้อสรุป และข้อเท็จจริง โดยที่ไม่ต้องเกรงใจรัฐบาล เพราะไม่ใช่เรื่องที่ต้องเกรงใจกัน แต่ต้องบอกปัญหาให้เห็นจะได้แก้ถูก อะไรที่ กกต.แก้เองได้ก็ทำไป ส่วนอะไรที่แก้ไม่ได้ต้องให้รัฐบาลช่วยแก้ ดังนั้นต้องบอกกัน
เมื่อถามว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้กฤษฎีกาแก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 ให้พรรคการเมืองสามารถจัดประชุมใหญ่เพื่อทำไพรมารีโหวต และให้ กกต.สามารถแบ่งเขตการเลือกตั้ง รวมถึงอาจจะใช้การทำไพรมารีโหวตแบบภาคนั้น นายมีชัยกล่าวว่า เรื่องนี้นายวิษณุได้ออกมาปฏิเสธแล้ว
เมื่อถามถึง การสรรหา กกต.ชุดใหม่ รอบ ที่ 2 หากที่ประชุม สนช.ในวันที่ 11 ก.ค.นี้ยังไม่สามารถเลือกบุคคลเข้ามาเป็น กกต.ได้ครบจะต้องมีการไปทาบทามบุคคลเข้ามาเป็น กกต.หรือไม่ ประธาน กรธ.กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการสรรหา เพราะทาง กรธ.ได้เปิดช่องทางไว้แล้ว จริงๆ อยากให้ใช้วิธีนั้นบ้างจะได้คนที่ตั้งใจและมีความรู้ มีความสามารถ ส่วนที่กังวลกันว่าเปิดรับสมัครยังหาคนยาก ทาบทามจะยากกว่าหรือไม่นั้น ก็ไม่แน่เสมอไป เพราะบางคนเขาก็พร้อมที่จะทำงาน บางคนถือว่าเป็นโชค บางคนถือว่าเป็นหน้าที่ ซึ่งแต่ละคนไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นประโยชน์เขาอาจจะยอมเสียสละมา ซึ่งคนแบบนั้นมักจะทำงานได้ดี