ถก พ.ร.บ.ตำรวจครั้งที่ 15 เริ่มลงรายละเอียดหัวใจสำคัญการปฏิรูปตำรวจ โดยพิจารณาเรื่อง “สายงานสอบสวน” เป็น 1 ใน 4 สายงานหลักของ สตช.ที่จะกำหนดให้มีเจ้าพนักงานสืบสวนอยู่ใต้บังคับบัญชาเพื่อประโยชน์ในการรวบรวมหลักฐานสำนวนคดี โดยแยกจากหน่วยสืบสวนงานปราบปรามในปัจจุบัน
วันนี้ (5 มิ.ย.) นายคำนูณ สิทธิสมาน กรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กเปิดเผยความคืบหน้าผลการประชุมของคณะกรรมการดังกล่าวที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน โดยเขาบอกว่าเป็นการลงลึกในรายละเอียดในเรื่องสำคัญที่เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญดังนี้
Change in action (15)
ปฏิรูปใหญ่สายงานสอบสวน
การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ นัดล่าสุดเย็นวานนี้ (4 มิถุนายน) เริ่มต้นลงลึกรายละเอียดรายมาตราในประเด็นที่เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการปฏิรูปตำรวจ คือ การทำหน้าที่ของเจ้าพนักงานสอบสวน อันเป็น 1 ใน 4 สายงานของการจัดส่วนราชการในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยร่างฯ ใหม่จะระบุถึงความหมายของสายงานสอบสวนไว้ ดังนี้
“สายงานสอบสวน ได้แก่งานเกี่ยวกับการสอบสวน และงานสืบสวนที่เกี่ยวเนื่องกับการสอบสวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายว่าด้วยการสอบสวน และกฎหมายอื่น”
นั่นหมายความว่า ในสายงานสอบสวนจะมีเจ้าพนักงานสืบสวนเพื่อประโยชน์ในการรวบรวมพยานหลักฐานทำสำนวนคดีภายใต้บังคับบัญชาของสายงานตัวเองแยกออกมาจากงานสืบสวนทั่วไปเพื่อป้องกันอาชญากรรมซึ่งอยู่ในสายงานป้องกันและปราบปราม
การมีพนักงานสืบสวนภายใต้บังคับบัญชาในสายงานสอบสวนเองจะเป็นหลักประกันในการทำงานภายในกรอบอำนาจหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดจากการแทรกแซง
ทั้งนี้ ตำแหน่งของข้าราชการตำรวจทั้งหมดตามร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ ฉบับใหม่ที่ปรับแก้จากเดิมจะมีดังนี้
(1) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
(2) จเรตำรวจ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
(3) ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
(4) ผู้บัญชาการ และผู้บัญชาการสอบสวน
(5) รองผู้บัญชาการ และรองผู้บัญชาการสอบสวน
(6) ผู้บังคับการ และผู้บังคับการสอบสวน
(7) รองผู้บังคับการ และรองผู้บังคับการสอบสวน
(8) ผู้กำกับการ และรองผู้กำกับการสอบสวน
(9) รองผู้กำกับการ และรองผู้กำกับการสอบสวน
(10) สารวัตร และสารวัตรสอบสวน
(11) รองสารวัตร รองสารวัตรสอบสวน และพนักงานสืบสวนในการสอบสวน
(12) ผู้บังคับหมู่ และผู้ช่วยพนักงานสอบสวน
(13) รองผู้บังคับหมู่
ประเด็นที่ปรับแก้ คือ ระบุชื่อตำแหน่งในสายงานสอบสวนไว้ในทุกระดับตั้งแต่เริ่มต้นที่ (12) ขึ้นไปจนถึงสูงสุดที่ (4) และเพิ่มตำแหน่งพนักงานสืบสวนในสายงานสอบสวนไว้ในชื่อ “พนักงานสืบสวนในการสอบสวน” ไว้ที่ตำแหน่งระดับเทียบเท่ารองสารวัตรตามปรากฏใน (11)
จะเห็นได้ว่า เมื่อเริ่มบรรจุเข้ารับราชการชั้นสัญญาบัตรในสายงานสอบสวนที่ตำแหน่งรองสารวัตรสอบสวนตาม (11) จะมีโอกาสเติบโตในสายงานขึ้นไปตามลำดับจนถึงระดับผู้บัญชาการตาม (4)
ส่วนตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตาม (3) และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตาม (2) ก็จะบัญญัติไว้ในมาตราต่อๆ ไปให้แต่งตั้งจากสายงานสอบสวน 2 คน และ 1 คนตามลำดับ
นั่นหมายความว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจากสายงานสอบสวนจะเป็นหนึ่งในแคนดิเดทที่จะได้รับการพิจารณาให้เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพราะในมาตราต่อๆ ไปข้างหน้าจะกำหนดให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาจากผู้ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและจเรตำรวจเป็นหลัก
และเพื่อความเป็นอิสระในการสอบสวน และการทำความเห็นทางคดี ร่างฯ ใหม่จึงกำหนดตำแหน่งของข้าราชการตำรวจไว้ให้มีผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ตำรวจในสายงานสอบสวนโดยเฉพาะตั้งแต่ระดับหัวหน้าสถานีตำรวจหรือระดับกองกำกับการขึ้นไปจนถึงระดับกองบัญชาการควบคู่กันไปกับตำแหน่งผู้บังคับบัญชาทั่วไป
ผู้บังคับบัญชาทั่วไปในแต่ละระดับยังคงมีหน้าที่และอำนาจสูงสุดในการบริหารหน่วยงานเหมือนเดิม ยกเว้นแต่อำนาจและหน้าที่ในการสอบสวนและการทำความเห็นทางคดี ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของผู้บังคับบัญชาสายงานสอบสวน
ส่วนการแต่งตั้งโยกย้าย และการเลื่อนเงินเดือนประจำปี แม้จะเป็นหน้าที่และอำนาจของผู้บังคับบัญชาทั่วไปในระดับกองบัญชาการและกองบังคับการ แต่จะต้องดำเนินการตามข้อเสนอของผู้บังคับบัญชาสายงานสอบสวน
เว้นแต่ในกรณีที่เห็นว่าข้อเสนอของผู้บังคับบัญชาสายงานสอบสวนมิได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมาย หรือกฎ ก.ตร.กำหนด ให้ผู้บังคับบัญชาทั่วไปมีอำนาจสั่งให้ผู้บังคับบัญชาสายงานสอบสวนทบทวนให้ถูกต้องตามที่กฎหมายหรือกฎ ก.ตร.กำหนดได้
ทั้งนี้ หากผู้บังคับบัญชาสายงานสอบสวนทบทวนแล้วยังยืนยันตามข้อเสนอเดิม แต่ผู้บังคับบัญชาทั่วไปเห็นว่าการดำเนินการนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือกฎ ก.ตร. ให้ผู้บังคับบัญชาทั่วไปมีอำนาจออกคำสั่งให้ถูกต้องตามกฎหมาย หรือกฎ ก.ตร. แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับผลกระทบจากคำสั่งดังกล่าวที่จะร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค.ตร. หรือฟ้องศาลปกครอง แล้วแต่กรณี
นอกจากนั้น ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในสายงานสอบสวนที่ดำรงตำแหน่งตาม (8) (9) (10) (11) และ (12) เฉพาะที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำอยู่ที่สถานีตำรวจ ได้รับเงินเพิ่มเป็นกรณีพิเศษตามอัตราที่ ก.ตร.กำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง โดยให้คำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานและการดำรงตนอยู่ในความยุติธรรมได้อย่างมีเกียรติโดยเทียบกับค่าตอบแทนที่รัฐจ่ายให้แก่ข้าราชการฝ่ายอื่นที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ประกอบด้วย
บทบัญญัตินี้มีอยู่แล้วใน พ.ร.บ.ตำรวจฯ ฉบับปัจจุบัน แต่คณะกรรมการฯ ปรับแก้ให้เน้นเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำอยู่ที่สถานีตำรวจ
เพื่อให้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดของรัฐลงตรงไปที่สถานีตำรวจอันเป็นหน่วยที่ใกล้ชิดประชาชนที่สุด และเพื่อมิให้กำลังพลไปกระจุกตัวอยู่แต่เฉพาะในส่วนกลางโดยไม่จำเป็น
นอกจากนั้น คณะกรรมการฯ ยังได้ย้อนกลับไปเพิ่มเติมหน้าที่และอำนาจของ ก.ตร. ให้กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำที่เกี่ยวกับกำลังพล อุปกรณ์ และเครื่องมือเครื่องใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ของสถานีตำรวจและกองบังคับการ ซึ่งอย่างน้อยต้องกำหนดอัตรากำลังพลสายงานสอบสวนรวมทั้งสายงานป้องกันและปราบปรามให้เพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่
และให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐานดังกล่าวของ ก.ตร. โดยเฉพาะกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดและสถานีตำรวจภูธร
ทั้งนี้ เพื่อทำให้สถานีตำรวจมีความพร้อมในการรับใช้ประชาชนสูงสุดโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ต้องดิ้นรนหาเงินมาจ่ายเอง