xs
xsm
sm
md
lg

ถก พ.ร.บ.ตำรวจกัน “เด็กเส้น” วาง 3 กฎเหล็กโยกย้าย อาวุโส-ผลงาน-ชาวบ้านพึงใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายมีชัย ฤชุพันธุ์
“คำนูณ” เผยผลประชุม กก.พิจารณา พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ครั้งที่ 16 ที่กำหนดเกณฑ์การแต่งตั้งตำรวจชั้นสัญญาบัตรที่ต้องให้อยู่ภายใต้ 3 องค์ประกอบหลัก “อาวุโส-ผลงาน-ความพอใจของชาวบ้าน” โดยกำหนดลงในกฎหมายอย่างชัดเจน ป้องกันแก้ไขเอื้อประโยชน์บางคน ระบุต้องรับราชการอย่างน้อย 33 ปี ถึงมีลุ้นเก้าอี้ ผบ.ตร.

วันนี้ (7 มิ.ย.) นายคำนูณ สิทธิสมาน กรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ได้เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการดังกล่าวที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน โดยเขาได้โพสต์ลงในเฟซบุ๊กเกี่ยวกับการกำหนดเกณฑ์พิจารณาแต่งตั้งนายตำรวจสัญญาบัตรตั้งแต่ระดับรองสารวัตร จนถึงรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ดังนี้

“Change in action (16)

กำหนดเกณฑ์ละเอียด 33 ปี จากรอง สว.ถึงรอง ผบ.ตร. / ปิดทางข้อครหาแก้กฎ ก.ตร. 'ต่อยอดทอดสะพาน', 'ชักบันไดหนี' สนองบางบุคคล

การประชุมคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ วานนี้เริ่มลงรายมาตราในหมวดการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งระดับต่างๆ ซึ่งจะเป็นการบัญญัติหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนไว้ในกฎหมายหลักระดับ พ.ร.บ.เป็นครั้งแรก จากที่เคยบัญญัติอยู่ในกฎหมายลำดับรอง อาทิ กฎ ก.ตร. หรือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ

เหตุผลสำคัญที่สุดก็คือ เพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์เพื่อเอื้อประโยชน์แก่บางบุคคลเป็นพิเศษ

ก่อนอื่น การบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรแรกเข้า ที่ไม่ใช่ตำแหน่งวิชาชีพเฉพาะ ให้ดำรงตำแหน่งในส่วนราชการใด ให้ดำเนินการดังนี้

1. ถ้าผู้ที่จะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ให้ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีซึ่งมีคะแนนเฉลี่ยตลอดหลักสูตรสูงสุดมีสิทธิเลือกก่อนตามลำดับ

2. ถ้าผู้ที่จะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นผู้สอบคัดเลือกหรือแข่งขันได้ ให้ผู้ที่สอบคัดเลือกหรือแข่งขันได้เป็นลำดับที่ 1 มีสิทธิเลือกก่อนเรียงตามลำดับไป

หากมีกรณีอื่นนอกเหนือจากนี้ให้ดำเนินการตามวิธีการที่ก.ตร.กำหนด

ต่อมา การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรในระดับตำแหน่งต่าง ๆ ให้อยู่ภายใต้ 3 เกณฑ์ ดังนี้

- ระยะเวลา

- พื้นที่

- การประเมินรายบุคคล

เริ่มต้นจากเกณฑ์ระยะเวลา ได้กำหนดระยะเวลาขั้นต่ำที่ข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรแต่ละคนจะต้องอยู่ตำแหน่งในแต่ละลำดับชั้นให้ครบก่อนจึงจะมีสิทธิได้รับการพิจารณาให้เลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่งในลำดับชั้นที่สูงขึ้น ดังนี้

1. ตำแหน่งสารวัตร จะต้องดำรงตำแหน่งรองสารวัตรมาแล้วไม่น้อยกว่า 7 ปี

2. ตำแหน่งรองผู้กำกับการ จะต้องดำรงตำแหน่งสารวัตรมาแล้วไม่น้อยกว่า 4 ปี

3. ตำแหน่งผู้กำกับการ จะต้องดำรงตำแหน่งรองผู้กำกับการมาแล้วไม่น้อยกว่า 4 ปี

4. ตำแหน่งรองผู้บังคับการ จะต้องดำรงตำแหน่งผู้กำกับการมาแล้วไม่น้อยกว่า 4 ปี

5. ตำแหน่งผู้บังคับการ จะต้องดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับการมาแล้วไม่น้อยกว่า 4 ปี

6. ตำแหน่งรองผู้บัญชาการ จะต้องดำรงตำแหน่งผู้บังคับการมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี

7. ตำแหน่งผู้บัญชาการ จะต้องดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี

8. ตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะต้องดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี

9. ตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะต้องดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี

นั่นหมายความว่า ตามเกณฑ์ระยะเวลาทั่วไปนี้ข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรจะต้องดำรงตำแหน่งระดับชั้นต่างๆ อย่างน้อย 33 ปี จึงจะมีโอกาสได้เป็นแคนดิเดตตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

หากข้าราชการตำรวจแรกบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งรองสารวัตรหลังจบปริญญาตรี มีอายุ 22 ปี ก็จะมาอยู่ในตำแหน่งแคนดิเดตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติขณะมีอายุอย่างน้อย 55 ปี

ขอย้ำถึงเหตุผลสำคัญที่สุดในการกำหนดเกณฑ์ระยะเวลาขั้นต่ำในการดำรงตำแหน่งแต่ละระดับชั้นไว้ในกฎหมายหลักระดับ พ.ร.บ.ที่กล่าวไว้ข้างต้นอีกครั้งก็คือ เพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์เพื่อเอื้อประโยชน์แก่บางบุคคล ซึ่งเคยเกิดข้อครหาวิพากษ์วิจารณ์มาแล้วในอดีตเมื่อมีการเปลี่ยนหรือพยายามเปลี่ยนกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการนี้ ในลักษณะเสมือนเป็นการลดระยะเวลาระดับบน เพิ่มระยะเวลาระดับล่าง จนเกิดเป็นศัพท์สแลงบางคำ อาทิ “ต่อยอดทอดสะพานสูง” หรือ “ชักบันไดหนี” เป็นต้น

เมื่อผ่านเกณฑ์เวลาแล้ว ในการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจยังจะต้องพิจารณาจากอีก 2 เกณฑ์ คือ เกณฑ์พื้นที่ และเกณฑ์การประเมินรายบุคคล

โดยเกณฑ์พื้นที่นั้นจะได้พิจารณาว่าการแต่งตั้งในระดับสารวัตรขึ้นไปจนถึงระดับรองผู้บังคับการให้พิจารณาจากผู้มีคุณสมบัติที่รับราชการอยู่ในภายในภาคเดียวกันเท่านั้น

ส่วนเกณฑ์การประเมินรายบุคคลนั้นจะได้กำหนดให้ข้าราชการตำรวจแต่ละคนมีคะแนนประจำตัวถ่วงน้ำหนักจาก 3 กรอบ คือ อาวุโส ผลงาน และความพึงพอใจของประชาชน

ซึ่งจะได้พิจารณารายละเอียดในการประชุมครั้งต่อๆ ไป”
นายคำนูณ สิทธิสมาน(แฟ้มภาพ)


กำลังโหลดความคิดเห็น