xs
xsm
sm
md
lg

กก.ร่างกฎหมาย ตร. วาง ผบ.ตร.ต้องรับราชการ 33 ปี หรืออายุ 55 ปีขึ้น เข้มสัญญาบัตร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
“คำนูณ” แจง กก.ร่างกฎหมาย ตร. กำหนดแคนดิเดต ผบ.ตร.ต้องรับราชการ 33 ปี หรืออายุ 55 ขึ้นไป พร้อมวางเกณฑ์สัญญาบัตรครองตำแหน่งเข้ม

วันนี้ (7 มิ.ย.) นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ... เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจฯ เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. เริ่มลงรายมาตราในหมวดการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งระดับต่างๆ ซึ่งจะเป็นการบัญญัติหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนไว้ในกฎหมายหลักระดับ พ.ร.บ.เป็นครั้งแรก จากที่เคยบัญญัติอยู่ในกฎหมายลำดับรอง อาทิ กฎ ก.ตร. หรือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ เหตุผลเพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์เพื่อเอื้อประโยชน์แก่บางบุคคลเป็นพิเศษ

นายคำนูณกล่าวว่า การบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรแรกเข้า ที่ไม่ใช่ตำแหน่งวิชาชีพเฉพาะ ให้ดำรงตำแหน่งในส่วนราชการใด ให้ดำเนินการดังนี้ 1. ถ้าผู้ที่จะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ให้ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีซึ่งมีคะแนนเฉลี่ยตลอดหลักสูตรสูงสุดมีสิทธิเลือกก่อนตามลำดับ 2. ถ้าผู้ที่จะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นผู้สอบคัดเลือกหรือแข่งขันได้ ให้ผู้ที่สอบคัดเลือกหรือแข่งขันได้เป็นลำดับที่ 1 มีสิทธิเลือกก่อนเรียงตามลำดับไป หากมีกรณีอื่นนอกเหนือจากนี้ให้ดำเนินการตามวิธีการที่ ก.ตร.กำหนด

นายคำนูณกล่าวอีกว่า จากนั้นการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรในระดับตำแหน่งต่าง ๆ ให้อยู่ภายใต้ 3 เกณฑ์ ดังนี้ ระยะเวลา พื้นที่ และการประเมินรายบุคคล โดยเกณฑ์ระยะเวลา ได้กำหนดระยะเวลาขั้นต่ำที่ข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรแต่ละคนจะต้องอยู่ตำแหน่งในแต่ละลำดับชั้นให้ครบก่อนจึงจะมีสิทธิได้รับการพิจารณาให้เลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่งในลำดับชั้นที่สูงขึ้น ดังนี้

1. ตำแหน่งสารวัตร จะต้องดำรงตำแหน่งรองสารวัตรมาแล้วไม่น้อยกว่า 7 ปี 2. ตำแหน่งรองผู้กำกับการ จะต้องดำรงตำแหน่งสารวัตรมาแล้วไม่น้อยกว่า 4 ปี 3. ตำแหน่งผู้กำกับการ จะต้องดำรงตำแหน่งรองผู้กำกับการมาแล้วไม่น้อยกว่า 4 ปี 4. ตำแหน่งรองผู้บังคับการ จะต้องดำรงตำแหน่งผู้กำกับการมาแล้วไม่น้อยกว่า 4 ปี 5. ตำแหน่งผู้บังคับการ จะต้องดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับการมาแล้วไม่น้อยกว่า 4 ปี 6. ตำแหน่งรองผู้บัญชาการ จะต้องดำรงตำแหน่งผู้บังคับการมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี 7. ตำแหน่งผู้บัญชาการ จะต้องดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี 8. ตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะต้องดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี 9. ตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติและรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะต้องดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี

“หมายความว่า ตามเกณฑ์ระยะเวลาทั่วไปนี้ ข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรจะต้องดำรงตำแหน่งระดับชั้นต่างๆ อย่างน้อย 33 ปีจึงจะมีโอกาสได้เป็นแคนดิเดทตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หากข้าราชการตำรวจแรกบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งรองสารวัตรหลังจบปริญญาตรีมีอายุ 22 ปี ก็จะมาอยู่ในตำแหน่งแคนดิเดทผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติขณะมีอายุอย่างน้อย 55 ปี” นายคำนูณกล่าว

นายคำนูณกล่าวว่า เหตุผลสำคัญที่สุดในการกำหนดเกณระยะเวลาขั้นต่ำในการดำรงตำแหน่งแต่ละระดับชั้นไว้ในกฎหมายหลักระดับ พ.ร.บ.ที่กล่าวไว้ข้างต้นอีกครั้งก็คือ เพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์เพื่อเอื้อประโยชน์แก่บางบุคคล ซึ่งเคยเกิดข้อครหาวิพากษ์วิจารณ์มาแล้วในอดีตเมื่อมีการเปลี่ยนหรือพยามเปลี่ยนกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการนี้ ในลักษณะเสมือนเป็นการลดระยะเวลาระดับบน เพิ่มระยะเวลาระดับล่าง จนเกิดเป็นศัพท์แสลงบางคำ อาทิ 'ต่อยอดทอดสะพานสูง' หรือ 'ชักบันไดหนี' เป็นต้น

“เมื่อผ่านเกณฑ์เวลาแล้ว ในการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจยังจะต้องพิจารณาจากอีก 2 เกณฑ์ คือ เกณฑ์พื้นที่ และเกณฑ์การประเมินรายบุคคล โดยเกณฑ์พื้นที่นั้นจะได้พิจารณาว่าการแต่งตั้งในระดับสารวัตรขึ้นไปจนถึงระดับรองผู้บังคับการให้พิจารณาจากผู้มีคุณสมบัติที่รับราชการอยู่ในภายในภาคเดียวกันเท่านั้น ส่วนเกณฑ์การประเมินรายบุคคลนั้นจะได้กำหนดให้ข้าราชการตำรวจแต่ละคนมีคะแนนประจำตัวถ่วงน้ำหนักจาก 3 กรอบ คือ อาวุโส ผลงาน และความพึงพอใจของประชาชน” นายคำนูณกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น