xs
xsm
sm
md
lg

สนช.มติเอกฉันท์ผ่าน กม.วิธีการงบฯ ลดระดับคุมรัฐวิสาหกิจถึงแค่บริษัทแม่-ลูก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
ประชุม สนช.เคาะมติเอกฉันท์เห็นชอบกฎหมายวิธีการงบประมาณ ลดระดับคุมรัฐวิสาหกิจถึงแค่บริษัทแม่-ลูก คงมาตรา 52/1 ไว้ตามเดิม แก้นิยามคำว่ารัฐวิสาหกิจจาก 3 ปี เป็น 5 ปี หรือมากกว่านั้น

วันนี้ (20 ก.ค.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ 178 คะแนนเห็นชอบให้ร่าง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. ... ประกาศใช้เป็นกฎหมาย

ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว คือ มาตรา 4 ว่าด้วยการกำหนดนิยามความหมายของคำว่ารัฐวิสาหกิจ โดยมีความหมายดังนี้

(1) องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล กิจการของรัฐซึ่งมีกฎหมายจัดตั้งขึ้น หรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ

(2) บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนที่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตาม (1) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกิน 50%

(3) บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจตาม (1) หรือ (2) หรือที่รัฐวิสาหกิจตาม (1) และ (2) หรือที่รัฐวิสาหกิจตาม (2) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกิน 50%

การอภิปรายของสมาชิก สนช.หลายคนได้สอบถามถึงการกำหนดเนื้อหาในมาตรา 4 ไว้ในลักษณะดังกล่าว ซึ่งจะมีผลให้สามารถตรวจสอบได้รัฐเฉพาะวิสาหกิจของรัฐ และบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจเท่านั้น จากเดิมที่หลักการเดิมของ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 กำหนดคำนิยามของคำว่ารัฐวิสาหกิจให้คลุมไปถึงบริษัทที่บริษัทลูกเข้าไปถือหุ้นเกิน 50%

ในประเด็นดังกล่าว ตัวแทนของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ได้ชี้แจงว่า ในเชิงการตรวจสอบสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินสามารถเข้าไปตรวจสอบบริษัทที่บริษัทลูกเข้าไปถือหุ้นเกิน 50% ได้อยู่แล้ว โดยตรวจสอบผ่านการจัดทำงบดุลของบริษัทแม่ในรัฐวิสาหกิจ

อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณามาตรา 52/1 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลที่ว่าด้วยการกำหนดให้กฎหมายอื่นที่อ้างความหมายของคำว่ารัฐวิสาหกิจตามกฎหมายวิธีการงบประมาณ จะต้องดำเนินการปรับปรุงนิยามรัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องกับกฎหมายฉบับนี้ภายใน 3 ปี และหากไม่ได้แก้ไขให้เสร็จภายใน 3 ปี จะต้องใช้นิยามรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายวิธีการงบประมาณฉบับใหม่ ปรากฏว่านายคำนูณ สิทธิสมาน ในฐานะ กมธ.วิสามัญ อภิปรายไม่เห็นด้วยต่อการกำหนดบทเฉพาะกาลไว้เช่นนั้น

นายคำนูณกล่าวว่า การทบทวนคำนิยามรัฐวิสาหกิจของกฎหมายอื่นที่มาอ้างกฎหมายนิยามคำว่ารัฐวิสาหกิจ ตามกฎหมายวิธีการงบประมาณ ควรต้องได้รับการทบทวนตามภารกิจของกฎหมายฉบับนั้นหรือของหน่วยงานนั้น โดยไม่ควรให้หน่วยงานนั้นมาใช้นิยามคำว่ารัฐวิสาหกิจตามกฎหมายวิธีการงบประมาณฉบับใหม่ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้พิจารณาภารกิจของหน่วยงานตนเอง

นายคำนูณกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ การกำหนดระยะเวลาไว้ 3 ปี จะมีปัญหาตามมาอีก คือ ในอนาคตเมื่อกระบวนการนิติบัญญัติเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว โดยมีสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ทำให้การแก้ไขกฎหมายทำได้ลำบาก เนื่องจากจะต้องพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศอีกจำนวนมาก จึงเห็นว่าไม่ควรกำหนดเวลาบังคับเอาไว้

ภายหลังการอภิปรายของนายคำนูณ ต่อมานายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ในฐานะประธานควบคุมการประชุมได้สั่งพักการประชุมเป็นเวลา 15 นาที เพื่อให้คณะกรรมาธิการวิสามัญไปประชุมเพื่อหาข้อยุุติ จากนั้นกลับมาประชุมอีกครั้ง โดยได้ข้อตกลงร่วมกันว่า ให้มาตรา 52/1 ไว้ตามเดิม แต่แก้ไขระยะเวลาของการแก้ไขนิยามคำว่ารัฐวิสาหกิจจาก 3 ปี เป็น 5 ปีหรือมากกว่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น