xs
xsm
sm
md
lg

จับไต๋ รบ.ประยุทธ์ อุ้มสูตรราคาน้ำมันเทียม ก๊อบปี้ใช้กับแอลพีจี โกยกำไรให้โรงแยกก๊าซ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
อดีต รมว.คลัง วิเคราะห์รัฐบาลประยุทธ์ ไม่ยอมเปลี่ยนสูตรราคาขายน้ำมันในประเทศ โดยบวกค่าขนส่งเทียมจากสิงคโปร์ ทั้งที่หมดความจำเป็นต้องสร้างแรงจูงใจให้โรงกลั่นแล้ว นายกฯ และ รัฐมนตรีหลายคนเคยเป็นกรรมการโรงกลั่นน่าจะรู้เรื่องดี แต่ยังคงเอาไว้เพราะต้องการเอาสูตรนี้ไปใช้กับแอลพีจีเพื่อเพิ่มกำไรมหาศาลให้โรงแยกก๊าซฯ

วันนี้ (12 มิ.ย.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala ในหัวข้อ “ทำไมรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จึงไม่แก้ไขสูตรค่าขนส่งน้ำมันเทียม?” โดยระบุว่า เหตุผลที่ไม่แก้ไขสูตรค่าขนส่งน้ำมันเทียม น่าจะเพราะมุ่งหวังประโยชน์ในเรื่องก๊าซหุงต้ม (LPG) ซึ่งใหญ่กว่ามาก เป็นจริงหรือไม่?

สูตรราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมันในไทย ที่รัฐบาลในอดีตยินยอมให้บวกค่าขนส่งเทียมจากสิงคโปร์มาไทยนั้น เป็นเรื่องที่เถียงกันมานานแล้ว เพียงแต่ข้อถกเถียงในอดีต เน้นในประเด็นเพียงว่า โรงกลั่นในไทยได้กำไรเกินควร หรือไม่? จึงไม่หนักแน่น แต่ลืมนึกกันไปว่า สูตรดังกล่าว เป็นการให้แรงจูงใจที่บิดเบือน และกระตุ้นให้โรงกลั่นน้ำมันในไทย ขยายกำลังผลิตเพื่อส่งออก …

และปีนี้ ก็มี 2 โรงกลั่นใหญ่ที่ประกาศแผนขยายกำลังผลิต ** ทั้งที่ทุกวันนี้ ไทยมีกำลังกลั่นเกินความต้องการในประเทศอยู่แล้ว เกือบ 1 ใน 5 **

เหตุที่มุ่งมั่นขยายเพื่อส่งออก เพราะสามารถเอากำไรจากขายคนไทย ไปตัดราคาส่งออกได้ มาถึงวันนี้ จึงต้องแก้ไขสูตรราคาน้ำมันด่วน! เพราะถ้าต่อไป ยิ่งขยายกำลังกลั่นเพื่อส่งออก คนไทยจะยิ่งถูกเฉือนเลือดเฉือนเนื้อ ก้อนใหญ่มากขึ้น

ถามว่า รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ ที่บริหารประเทศมาตลอดสี่ปี และราคาน้ำมันในตลาดโลกอยู่ในระดับที่ต่ำ จึงสามารถจะแก้ไขสูตรราคาที่ไม่เป็นธรรมแก่คนไทยได้ง่าย แต่กลับไม่ดำเนินการ น่าจะมีเหตุผลใด?

นอกจากนี้ ข้อมูลก็ปรากฏว่า พลเอก ประยุทธ์ และรัฐมนตรีพลังงานคนปัจจุบัน รวมทั้งรัฐมนตรีหลายคนในรัฐบาลประยุทธ์ ก็เคยเป็นกรรมการในโรงกลั่นน้ำมันไทย

รายงานประจำปีบริษัท ไทยออยล์ เคยมีกรรมการ คือ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (รูป 4)

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว (รูป 5)

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ (รูป 6)

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวานิช (รูป 7)

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ (รูป 11)

ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ ปัจจุบัน รมว.พลังงาน (รูป 8)

และ นายทวารัฐ สูตะบุตร ปัจจุบันเป็น ผอ.สำนักนโยบายแลแผนพลังงาน บุคคลหลักในการวางแผนนโยบายพลังงานเสนอรัฐบาล (รูป 9)

ครม. ของพลเอก ประยุทธ์ และผู้พิจารณาเสนอนโยบาย จึงย่อมรู้ถึงสภาพปัญหาเหล่านี้เป็นอย่างดี แต่ทำไมไม่แก้ไข?

หลักฐานข้อมูลที่ 1
นายทวารัฐ ผอ.สนพ. ที่ออกมาชี้แจงคำวิจารณ์ของผม เกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ ในการเปลี่ยนแปลงวิธีกำกับราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) (รูป 1) ระบุว่า ตามที่รัฐบาลในอดีต เคยกำหนดเพดานขายก๊าซแก่ครัวเรือนไว้ 333 ดอลลาร์ต่อตัน เพื่อมิให้ครัวเรือนเดือดร้อนนั้น รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ เปลี่ยนเป็น “เปิดเสรีด้านราคา” โดยให้อ้างอิงราคานำเข้าก๊าซหุงต้มจากตะวันออกกลางแทน! ซึ่งทำให้ราคาเริ่มต้นของครัวเรือนสูงขึ้นอย่างมาก เช่น ในเดือนตุลาคม 2560 สูงกว่าเดิมประมาณ 1 เท่าตัว

เจตนาเพื่อให้ “กลไกการค้าก๊าซ LPG จะคล้ายกลไกการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง และนำมาสู่การแข่งขันที่เข้มข้นมากขึ้น” (ลูกศร) ตรงนี้เอง เป็นจุดบอกเหตุ!!!

เหตุผลที่รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ ไม่แก้ไขสูตรราคาน้ำมัน ที่อ้างอิงราคานำเข้า จึงน่าจะเป็นเพราะ ...มีความประสงค์จะก๊อบปี้ เอาหลักการนี้ ซึ่งเดิมใช้อยู่แต่เฉพาะในธุรกิจน้ำมัน จะต้องการจะขยายวง เอาไปใช้ในธุรกิจก๊าซหุงต้มด้วย!

พูดภาษาง่ายๆ ถ้าหากมีการยกเลิก การอ้างอิงราคานำเข้า สำหรับน้ำมัน ก็จะขัดกับหลักการใหม่ ที่จะนำมาใช้กับก๊าซหุงต้ม …

ถามต่อไปว่า ธุรกิจก๊าซหุงต้ม มีความสำคัญต่อกำไรบริษัทพลังงาน มากน้อยเพียงใด?

เนื่องจากธุรกิจโรงแยกก๊าซ และโรงกลั่นน้ำมันยังมีการผูกขาดอยู่ระดับหนึ่ง …

ดังนั้น การเปิดเสรีแต่ด้านราคา ทั้งที่ยังไม่เปิดเสรีด้านแข่งขันการผลิต จึงเปิดช่องโหว่ ให้บริษัทพลังงานสามารถเพิ่มกำไร

ผมใช้ข้อมูลในงบการเงินปี 2560 ของบริษัท ปตท. เพื่อเป็นตัวอย่างอธิบายเรื่องนี้ โดยไม่สื่อว่าบริษัทดังกล่าว มีส่วนในการกำหนดนโยบายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์แต่อย่างใด

หรือกล่าวหาว่ามีใครทำผิดกฎหมายเรื่องใดนะครับ

หลักฐานข้อมูลที่ 2

ในรูป 2 จะเห็นว่า ปี 2559 และ 2560 บริษัทมีกำไรก่อนต้นทุนทางการเงินและภาษีเงินได้ เป็นเงิน 1.8 และ 2.4 แสนล้านบาท
ตัวเลขดังกล่าว เป็นกำไรจากธุรกิจก๊าซ มากถึง 5.4 และ 7.0 หมื่นล้านบาท คร่าวๆ คิดเป็น 30% ของกำไรทั้งหมด ...
สูงเป็นอันดับสอง รองจากกำไรปิโตรเคมีและการกลั่นเท่านั้น เป็นการยืนยันว่า ธุรกิจก๊าซสำคัญต่อบริษัทพลังงานมาก!

และที่ประชาชนน่าจะสงสัย คือ กำไรธุรกิจก๊าซซึ่งพรวดพราดสูงขึ้น จาก 5.4 หมื่นล้านบาท ขึ้นไปมากถึง 7.0 หมื่นล้านบาทนั้นเป็นกำไรที่เกิดขึ้น สืบเนื่องจากนโยบายก้อปปี้วิธีการกำกับราคาน้ำมัน เอาไปใช้กับก๊าซหุงต้ม เป็นจำนวนเงินเท่าใด?

หลักฐานข้อมูลที่ 3

และในรูป 3 จะเห็นว่า ก๊าซหุงต้ม (LPG) เป็นผลิตภัณฑ์หลักในกลุ่มก๊าซธรรมชาติ เป็นสัดส่วนกว่า 40%

ดังนั้น การที่รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ เปลี่ยนวิธีการกำกับราคาก๊าซหุงต้ม ไปเลียนแบบที่ใช้อยู่สำหรับน้ำมัน จึงอาจทำให้บริษัทพลังงานต่างๆ ดังตัวอย่างกรณี ปตท. ได้ประโยชน์มาก

ดังในรูป 3 จะเห็นได้ว่า ภายหลังจากที่รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ เปลี่ยนวิธีการกำกับราคาก๊าซหุงต้ม ราคาอ้างอิงของโรงแยกก๊าซได้เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทำให้บริษัทกำไรเพิ่มขึ้น ใช่หรือไม่? …

ในปี 2559 ราคาอ้างอิงเท่ากับ 336 ดอลลาร์ต่อตัน ต่อมาในปี 2560 พุ่งขึ้นเป็น 485 ดอลลาร์ต่อตัน เพิ่มขึ้น 44.3% !!!
เป็นอัตราเพิ่มที่แซงหน้าผลิตภัณฑ์ก๊าซอื่นๆ ทั้งหมด! (ดูรูป 3 ตารางข้างล่าง)

ดังนั้น ...
ถามว่า การก๊อบปี้นโยบายอ้างอิงราคานำเข้า ที่ใช้สำหรับน้ำมัน เอาไปใช้กับก๊าซหุงต้ม LPG นั้น ทำให้บริษัทพลังงานต่างๆ กำไรมากขึ้น หรือไม่? คำตอบปรากฏอยู่ในงบการเงินชัดเจนอยู่แล้ว หรือไม่?

ในรูปที่ 10 บริษัท ปตท. ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของโรงแยกก๊าซและโรงกลั่นน้ำมัน แถลงว่า ได้กำไรในปี 2560 “ถือเป็นกำไรสุทธิสูงสุดนับแต่ก่อตั้ง ปตท.”

ในเมื่อนโยบายรัฐบาลนี้ มีผลให้บริษัทพลังงานต่างๆ มีกำไรเพิ่มขึ้น แต่เป็นการควักเงินออกมาจากกระเป๋าของคนไทย ...
ซึ่งผลกำไรที่เพิ่ม เป็นที่ยินดีของนักเล่นหุ้น ทั้งคนไทย และคนต่างชาติ …

ผมจึงเรียกนโยบายแบบนี้ว่า “เฉือนเนื้อคนจน ไปให้คนรวย!” เมื่อมีเจตนาอย่างนี้ จะไปยกเลิกการอ้างอิงราคานำเข้าสำหรับน้ำมันได้อย่างไร?

“ตามข้อวิเคราะห์ข้างต้น นโยบายราคาน้ำมัน “เฉือนเนื้อคนไทย ไปให้โรงกลั่น!” ก็เลยยังจำเป็นต้องคงเอาไว้ก่อน ด้วยเหตุนี้หรือเปล่า?” นายธีระชัย ระบุ





จับไต๋รัฐอุ้มสูตรราคาน้ำมันเทียม..ก๊อบปี้ใช้กับLPGโกยกำไรให้โรงแยกก๊าซ
ผู้จัดการรายวัน360 - อดีต รมว.คลัง วิเคราะห์รบ.ประยุทธ์ ไม่ยอมเปลี่ยนสูตรราคาขายน้ำมันในประเทศ โดยบวกค่าขนส่งเทียมจากสิงคโปร์ ทั้งที่หมดความจำเป็นต้องสร้างแรงจูงใจให้โรงกลั่นแล้ว แถมเอาสูตรนี้ไปใช้กับLPG เพื่อเพิ่มกำไรมหาศาลให้โรงแยกก๊าซฯ ด้าน กบง.เคาะตรึงราคาแอลพีจีครัวเรือน 363 บาทต่อถังต่อไปอีกจนกว่าราคาตลาดโลกจะลดลง แต่ข่าวร้าย ผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ รีดเงินเข้าและลดชดเชยเข้ากองทุนน้ำมัน 37 สต./ลิตร สะสมเงินไม่ให้ต่ำกว่า 3 หมื่นลบ. รับมือน้ำมันขาขึ้นช่วงสิ้นปี หวังเตรียมไว้ตรึงดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร
กำลังโหลดความคิดเห็น