เมืองไทย 360 องศา
ตอบโต้กันฝุ่นตลบแล้วสำหรับเรื่อง “พลังดูด” ที่แต่ละฝ่ายไม่ว่าจะเป็น “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กับฝ่ายพรรคการเมือง นักการเมืองที่เริ่มร้อนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
ฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่อ้างในทำนองว่า “ดูดกันมาตั้งนานแล้ว” ไม่ใช่เรื่องแปลก ทุกพรรคก็ดูดกันมาทั้งนั้น ซึ่งหากพูดกันแบบให้ความเป็นธรรมแล้วมันก็จริงอย่างที่เขาพูดนั่นแหละ หากจับความมาตั้งแต่ยุคของ “หลงจู๊” บรรหาร ศิลปอาชา พรรคชาตไทย ยุคของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ พรรคความหวังใหม่ ยุค ชวน หลีกภัย พรรคประชาธิปัตย์ และที่ครึกโครมมากที่สุดก็เห็นจะเป็นยุค ทักษิณ ชินวัตร ที่เริ่มก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ที่จะเรียกว่าดูด ส.ส. คงไม่น่าจะใช่ แต่น่าจะเรียกว่า “ซื้อ” กันน่าจะชัดเจนกว่า และที่น่าเกลียดก็คือซื้อกันยกพรรค ยกกลุ่มใหญ่ ไม่เชื่อก็ลองเลียบเคียงถาม พล.อ.ชวลิต และ “ป๋าเหนาะ” เสนาะ เทียนทอง แห่งกลุ่มวังน้ำเย็น ก็อาจได้ความจริงไปอีกแบบหนึ่งก็เป็นได้
วกมาที่ยุคปัจจุบันที่ “พลังดูด” เริ่มทำงาน ออกฤทธิ์ อีกทีเสียงโวยวายเวลานี้ก็จะมาจากพวกนักการเมือง จากพรรคการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะสองพรรคใหญ่ที่เป็นเป้าหมาย อย่างพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ เริ่มจากพรรคประชาธิปัตย์ก่อนที่ตอนนี้สั่นสะเทือนไม่น้อยโดยเฉพาะเมื่อมีกลุ่ม กปปส. ของ “กำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณ ยกขบวนเข้ามามา “กบดาน” เงียบอยู่ในพรรค ขณะที่บางส่วนก็ถูกดูดออกไปแล้ว ซึ่งบรรยากาศแบบนี้แหละมันยังส่งผลให้สถานะของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคคนปัจจุบันเริ่มไม่ค่อยมั่นคง ซึ่งเจ้าตัวก็ยอมรับเหมือนกัน พร้อมๆ กับการเสนอให้มีการ “ปฏิรูปพรรค” ที่เขาชูล้ำหน้าไปอีกขั้นหนึ่งก็คือการเสนอให้สมาชิกพรรค “โหวตเลือกหัวหน้าพรรค” ไปด้วย
เพิ่มเติมจากที่กฎหมายพรรคการเมืองใหม่ที่บังคับให้มีการ “หยั่งเสียง” เลือกผู้สมัคร ส.ส. ของพรรค รวมไปถึงเรื่องวงเงินค่าสมาชิกพรรคตามที่กำหนดเพื่อปิดทางพวกนายทุนชี้นำพรรคเหมือนแต่ก่อน
แน่นอนว่า มองในภาพบวกการเสนอปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์แบบนี้ของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นการเปิดกว้างเพื่อการพัฒนาพรรคเข้าสู่ยุคปฏิรูป แต่อีกด้านหนึ่งมันก็เหมือนกับ “ป่วน” นั่นแสดงให้เห็นว่าเขาเริ่มไม่มั่นคงในสถานะของตัวเอง โดยเฉพาะหากปล่อยให้โหวตเลือกกันแบบเดิม แม้ว่ามีระดับ “นายหัวใหญ่” อย่าง ชวน หลีกภัย หนุนอย่างเต็มตัวก็ตาม ดังนั้น เมื่อเป็นแบบนี้จึงเสนอให้สมาชิกทั่วประเทศลงคะแนนเสียงให้หรือเปล่า เพราะถึงอย่างไรน่าจะชัวร์กว่า น่าจะโดดเด่นกว่าคนอื่น ย่อมได้เปรียบกว่าคนอื่น
ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากผลสะเทือนจากพลังดูดที่นาทีนี้เข้าใจกันว่าเป็นพรรคที่สนับสนุน “บิ๊กตู่” เป็นฝ่ายดูด ส่วนจะชื่อพรรคประชารัฐ หรือพรรคอะไรค่อยมาว่ากัน เอาเป็นว่าที่โดนไปแล้วไม่น้อยกว่า 2 คน เช่น สกลธี ภัททิยกุล ที่ไปเป็นรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ และยังไม่นับอีกสองสามคนที่เข้าไปในทำเนียบรัฐบาลวันนั้น
เอาเป็นว่าในภาคเหนือ ภาคกลาง และ อีสาน น่าจะเจอแรงดูดจนต้านไม่ไหว ส่วนภาคใต้ในกลุ่ม กปปส.ที่แม้ว่าชื่อจะยังอยู่กันครบ แต่ใจนั้นไม่รับประกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ นี่แหละถึงเป็นที่มาของเสียงโวยวายยกใหญ่
ส่วนพรรคเพื่อไทยแม้ว่าจะก่อนหน้านี้จะคุยโวว่าปึกทุกคน ทุกภาค แต่เอาเข้าจริง “ในวงการ” ถือว่าโดนเข้าไปหลายชุด ทั้งภาคเหนือ และอีสาน ถ้ายังใจแข็งไม่ไปก็เจอกับรายการ “บล็อก” ไม่ให้ขยับ มันก็ไปต่อได้ลำบาก
ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจาก “กติกาใหม่” คือ รัฐธรรมนูญ และกฎหมายพรรคการเมือง ที่เอื้อประโยชน์ให้กับพรรคขนาดกลางและพรรคขนาดเล็ก จนมั่นใจว่าด้วยกลไกแบบนี้ พรรคเพื่อไทยจะไม่มีทางชนะเลือกตั้งได้ถล่มทลาย ไม่มีเสียงมากพอที่จะเป็นรัฐบาลพรรคเดียว หรือแม้จะผสมกับพรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นไปได้ยาก เพราะด้วยตัวเลขที่คาดเดาได้ล่วงหน้าว่าไม่ถึง ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการขัดขวาง หรือ"พลังสีเขียว"ในกองทัพที่ยืนทะมึน และประกาศท่าทีล่วงหน้าไปแล้วว่า “หนุนบิ๊กตู่” มันก็น่าหนักใจสำหรับพรรคใหญ่
ส่วนประเภทที่บอกว่าให้เคารพเจตนารมณ์ของประชาชน เช่น จะอ้างว่าหากพรรคการเมืองได้เสียงมากที่สุดก็ควรให้พรรคนั้นได้เป็นรัฐบาล ก็แล้วไงละ หากไม่ได้เสียงมาถล่มทลาย ซึ่งด้วยกลไกใหม่แบบที่ว่ามันก็เป็นไปได้ยาก เสียงไม่พอ มันก็ต้องเสร็จ “ลุงตู่” อยู่ดี เพราะเชื่อว่าเตรียมแก้เกมด้วยการยอมให้ “บางพรรค” เสนอชื่อเป็นนายกฯด้วยท่าทางแบบเขินๆ นั่นแหละ และเชื่อหรือไม่ว่าด้วยคะแนน ส.ว. ที่แต่งตั้งโดย คสช.250 เสียง บวกกับเสียงของ ส.ส. จากพรรคขนาดกลางและเล็กรวมกันมันก็เรียบร้อยอยู่แล้ว ตามแผนขอให้ล็อกเก้าอี้เป็นนายกฯไว้ก่อน ซึ่งหลังจากนั้นมันก็ง่ายแล้ว ขี้คร้านที่พรรคการเมืองจะคลานเข้าไปขอร่วมรัฐบาล
และหากพูดถึงเส้นทางบิ๊กตู่ ให้รอดูเดือนมิถุนายนว่าจะประกาศท่าทีชัดเจนออกมาตามที่ “บอกใบ้” ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว แต่ขณะเดียวกัน ในช่วงวันที่ 7 - 8 พฤษภาคมนี้ ให้จับตาดูการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่ บุรีรัมย์ ก็แล้วกันว่ามันชัดขนาดไหน เพราะนี่แค่พลังดูดแบบน้ำจิ้ม ของจริงให้รอดูหลังเดือนหน้าคือ มิถุนายนก็แล้วกัน!!