เมืองไทย 360 องศา
“พูดอะไรมาก็ระมัดระวังไว้ด้วย การพูดจาต่างๆ ต้องระมัดระวัง และอยู่ที่ประชาชนเขาจะเชื่อถือได้แค่ไหนอย่างไร ผมไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจะต้องมาสนับสนุน แต่กรุณาพูดจาให้มันดีๆ ใครจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนผมก็แล้วแต่เขา ไอ้การพูดอย่างนี้มันฟังดูดีหรือเปล่า ให้เกียรติซึ่งกันและกันหรือเปล่า ถ้าบางเวลาผมมีอารมณ์ขึ้นมาแล้ว ผมพูดไปมันก็เสียหายด้วยกันทั้งหมด ผมไม่อยากจะมีอารมณ์ตรงนี้ ประชาชนก็ไปใคร่ครวญเอาเอง และดูด้วยวันหน้าเขาจะทำตัวกันอย่างไรที่ออกมาพูดกันวันนี้ ลองคอยดูวันหน้าก็แล้วกัน เลือกตั้งแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น แล้วเขาจะเปลี่ยนท่าทีอะไรกันอย่างไร ก็ไปคอยดูตรงนู้นแล้วกัน แล้วค่อยไปถามเขาอีกที”
คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มีไปถึง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สะท้อนให้เห็นถึงอารมณ์กราดเกรี้ยว และเหมือนกับว่านี่คือ การ “ตัดเชือก” กันแบบในวันข้างหน้าอย่างน้อยในช่วงหลังเลือกตั้งครั้งหน้าแบบ “ผีไม่เผาเงาไม่เหยียบ” กันเลยทีเดียว
มองในมุมที่เห็นมันก็เหมือนกับว่าทั้งคู่ต้องเดินกันมาในทางแคบที่ทั้งคู่ “ต้องเบียด” แย่งกันไปข้างหน้า ต่างคนก็ถือว่าอีกฝ่ายเป็นคู่แข่ง ที่ต้องเลือกเดินกันแล้ว ไม่ใครก็ใครต้องตกลงข้างทางกันแน่นอน
คำพูดก่อนหน้านั้นของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็แสดงท่าทีชัดเจนแล้วว่า พรรคประชาธิปัตย์ในยุคที่เขายังเป็นหัวหน้าพรรคจะ “ไม่สนับสนุนนายกฯคนนอก” อย่างเด็ดขาด และยังแถมด้วยวลีเด็ดทำนองว่า “หากใครที่คิดว่าสนับสนุนแนวทางนั้นให้ไปพรรคอื่น” อีกทางหนึ่งมันก็เหมือนกับการ “ตัดเชือก” เปิดศึกชนเต็มตัวและเปิดเผยกับกลุ่ม กปปส. ภายใต้การนำของ สุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งถือว่าเป็น “ขาใหญ่” อีกคนหนึ่งในพรรคประชาธิปัตย์นั่นเอง
คำพูดของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดังกล่าวยังเกิดขึ้นในช่วงที่บรรดาอดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์แทบทั้งหมดที่เคยเป็น กปปส. ยืนยันสมาชิกพรรค และแสดงเจตจำนงขอลงสมัครในนามพรรคต่อไป ซึ่งในวงการก็มองว่า นี่คือ ยุทธวิธีแบบ “ม้าไม้เมืองทรอยด์” หรือการ “ฝากเลี้ยง” เพื่อรอจังหวะโหวตหนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯคนนอกในแบบที่อาจเป็นลักษณะ “งูเห่า” ในอดีตอะไรประมาณนั้น เพราะก่อนหน้านั้นแผนการตั้งพรรค กปปส. ที่เคยวางเอาไว้ก็ล่มไปแล้ว
ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณากันในช่วงจังหวะเวลาแล้วมันก็ถึงเวลาที่จะต้องให้แต่ละคนต้องเข้ามายืนยันตัวตนในเรื่องสมาชิกพรรคว่าจะอยู่หรือไปภายใน 30 วัน ตามกฎหมายพรรคการเมือง และตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/60 แม้ว่ายังมีการถกเถียงกันว่าต้องยืนยันสมาชิกพรรคภายในกี่วันกันแน่ จนต้องมีการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ตอนนี้ถือว่าต้องว่ากันไปตามกำหนดภายใน 30 วันเอาไว้ก่อน ซึ่งนี่ก็คือหนึ่งในไฟต์บังคับที่มีกรอบเวลากำหนด
เมื่อวกมาที่พรรคประชาธิปัตย์ นาทีนี้ถือว่าแบ่งเป็น “สองขั้วใหญ่” ชัดเจน นั่นคือขั้นที่นำโดย “ชวน - บัญญัติ - อภิสิทธิ์” กับอีกฟาก ก็คือ กลุ่ม กปปส. ที่นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ นั่นเอง แต่ถ้าถามถึงขุมกำลังก็ต้องบอกว่านาทีนี้ยังสูสี โดยเฉพาะหากพิจารณาจากพื้นทีฐานเสียงหลักคือภาคใต้ แม้ว่าทางฝ่ายแรกจะดูเหลื่อมนำหน้ามากกว่า เพียงแต่ว่าจุดชี้ขาดน่าจะอยู่ที่ “ราคายาง - ปาล์ม” ถ้าในช่วงโค้งสุดท้ายฝ่ายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แก้ปัญหายกระดับราคาได้ดีมันก็พลิกผันได้ไม่ยาก
นั่นคือ ท่าทีและจุดยืนภายในพรรคประชาธิปัตย์ ที่เวลานี้ฝ่ายที่กุมอำนาจบริหารที่นำโดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ประกาศชัดเจนแล้วว่าจะหนุนหัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่หนุนนายกฯคนนอก ซึ่งก็มีความหมาย คือ “ตัดเชือก” กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างสิ้นเชิง จนเป็นที่มาของอารมณ์เดือดดาลตามมานั่นแหละ
ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากคำพูดอีกท่อนหนึ่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ฝากมาแบบลอยลม ว่า “ดูด้วยวันหน้าเขาจะทำตัวกันอย่างไรที่ออกมาพูดกันวันนี้ คอยดูวันหน้าก็แล้วกัน เลือกตั้งแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น แล้วเขาจะเปลี่ยนท่าทีอะไรกันอย่างไร ก็ไปคอยดูตรงนู้นแล้วกัน แล้วค่อยไปถามเขาอีกที” พูดเหมือนกับว่า “มั่นใจอะไรบางอย่าง” เช่น มั่นใจว่าต้องได้กลับมาเป็นนายกฯอีกรอบหรือเปล่า ทำนองว่า “จะรอดูน้ำหน้า” อะไรประมาณนั้นหากพูดกันแบบบ้านๆ ให้เข้าใจอารมณ์
ที่บังเอิญแบบประจวบเหมาะกัน ก็คือ มีความเคลื่อนไหวบางอย่างในช่วงเวลาเดียวกัน นั่นคือ ข่าวความเคลื่อนไหวของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ตั้งพรรคใหม่ เพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยมีการทาบทามกลุ่มการเมือง อดีต ส.ส. จากหลายพรรคเข้ามาร่วม ซึ่งในจำนวนนั้นมีอดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็น กปปส. บางคนเข้าร่วม โดยข่าวบอกถึงขนาดที่ว่ามีการเชิญเข้าไปหารือกันในทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 3 เมษายน ที่ผ่านมา ด้วยซ้ำไป
ตามข่าวบอกว่า ช่วงแรกจะดัน อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหัวหน้าพรรค และดัน สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นเลขาธิการพรรค และที่น่าสนใจคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นที่ปรึกษาพรรค โดยจะเปิดตัวพรรคใหม่ในเดือนมิถุนายนนี้ ด้วยเหตุความเคลื่อนไหวแบบนี้หรือเปล่า ที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ มีความมั่นใจถึงขนาดเอ่ยฝากคำพูดในแบบที่ว่า “ฝากไว้ก่อนเถอะ”
เพราะหากเป็นจริงตามนี้ก็ต้องถือว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าชิงตำแหน่งแบบ “คนใน” มาตามระบบไม่มีเงื่อนไขคนนอก ให้คนอื่นค่อนแคะ เพียงแต่ว่าต้องชนะการเลือกตั้งเท่านั้น หรือไม่ก็อีกทางหนึ่งสามารถรวบรวมเสียงโหวตของ ส.ส. และ ส.ว. ได้ตามจำนวนเกินกึ่งหนึ่งคือ 375 เสียง ซึ่งตอนนั้นเชื่อว่าเขามี “พรรค ส.ว.” อย่างน้อย 250 เสียงตุนเอาไว้ในกระเป๋าแล้ว แบบนี้หรือเปล่าถึงได้ฝากคำถามกลับมาถึง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่า “ให้รอดูวันข้างหน้าจะมีท่าทีอย่างไร”
ดังนั้น นาทีนี้หากพิจารณาจากความเคลื่อนไหวโฟกัสกันเฉพาะสองคน คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มันก็เหมือนกับว่ามาถึงทางแคบที่ต้องตัดสินใจว่าต้องหลีกทางให้อีกฝ่ายหรือเปล่า หากไม่หลีกก็ต้องเบียดให้ตกลงข้างทางกันไปเลย แล้วเดินไปแบบทางใครทางทางมันหรือเปล่า!!