xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ไล่คนหนุนคนนอก ยันแค่ “เทือก-ธานี” ออก ชี้สังคมรู้ใครคืออุปสรรค จี้รักษาคำพูด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


หัวหน้าพรรค ปชป. ย้ำ ตั้ง รบ. หลังเลือกตั้งต้องเคารพเจตนารมณ์ ปชช. ยันมีแค่ “สุเทพ - ธานี” ออก ตะเพิดใครหนุนคนนอกไปทางเลือกอื่น ชี้ สังคมรู้ใครเป็นอุปสรรค ขอทุกคนรักษาคำพูด ลั่น “บิ๊กตู่” ต้องรับผิดชอบปมศาลชี้ขาด กม. เลือกตั้ง ย้ำ จะพังเพราะผลประโยชน์ทับซ้อน ขัดหลักธรรมาภิบาล และใช้ ม.44



วันนี้ (1 เม.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนทำตามเจตนารมณ์เพราะการยืนยันตัวตนสมาชิกพรรค ควรจะรู้ว่าพรรคมีแนวคิดเป็นอย่างไร ซึ่งในคำสั่ง เพราะ คสช. ก็ระบุไว้ สำหรับแนวทางของพรรคในการเลือกตั้งครั้งต่อไปที่มีเรื่องของนายกฯคนนอกนั้น หัวใจสำคัญต้องการให้บ้านเมืองเดินไปทางไหน สิ่งที่ตนแถลงนโยบายไปว่า ประชาธิปัตย์ยุคใหม่ต้องการนำพาบ้านเมืองไปทางไหน นั่นคือ สิ่งที่พรรคไปขอความสนับสนุนจากสมาชิกและประชาชน ซึ่งการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะต้องเคารพเจตนารมณ์ของประชาชน ซึ่งวันนี้ประชาธิปัตย์ต้องการจะเป็นหลักในการเดินหน้าทำงาน

นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงการยืนยันเป็นสมาชิกพรรคของสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นกลุ่ม กปปส. ว่า ตนยืนยันว่า นอกจาก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศ ที่ลาออกไป และ นายธานี เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.สุราษฏร์ฯ ที่แสดงเจตนาว่าจะเป็นผู้ไปจดแจ้งพรรคการเมืองใหม่ ก็ยังไม่มีอดีต ส.ส. ท่านอื่น มาบอกว่าจะไม่มาร่วมงานกับเรา และเท่าที่ตนสังเกตวันนี้หลายท่านก็มายืนยันแล้ว บางท่านที่มายืนยันไม่ได้เนื่องจากไปบวช แล้วพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรค ก็ต้องรอสมัครสมาชิกพรรคใหม่

“ยืนยันว่า สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังสนับสนุนหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อยู่แล้ว ส่วนใครที่จะออกนอกแถวไปสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้น ให้ไปทางเลือกอื่น ไม่ต้องมาที่นี่ เพราะมีพรรคอื่นรองรับเยอะแยะ ถ้าจะอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องสนับสนุนหัวหน้าพรรค ไม่ว่าหัวหน้าพรรคจะเป็นใครก็ตาม ซึ่งความเป็นไปได้ที่พรรคประชาธิปัตย์จะสนับสนุนทหารเป็นรัฐบาลนั้น ต้องไปดูว่าทหารเข้ามาได้อย่างไร และมีกี่เสียง” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

เมื่อถามว่า มีการยืนยันว่า จากสมาชิกของพรรคที่มีอยู่กว่า 2.5 ล้านคน จะเหลือเพียงแค่แสนคน จะเป็นไปได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เราพยายามให้ได้มากที่สุด ซึ่งทุกคนทราบดีว่า การออกกฎหมายเช่นนี้ ระยะเวลาการให้ความชัดเจนในบางเรื่องทุกคนทราบดีว่ามีอุปสรรคอะไร หากวันหนึ่งบ้านเมืองถึงวิกฤต และจำเป็นต้องให้ทหารอยู่ในอำนาจต่อจะเป็นอย่างไรนั้น ต้องบอกว่า การจะเดินหน้าที่จะไม่ให้เกิดความขัดแย้ง คือ การที่ทุกคนต้องรักษาคำพูดเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น ถ้ามีการทำอะไรที่ประชาชนมองว่า มีการบิดพลิ้วหรือไม่เป็นไปตามสิ่งที่บอกกับประชาชน ก็จะเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้ง จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันเพื่อให้บ้านเมืองเดินไปได้

นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่งร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า หัวหน้า คสช. มีอำนาจในการแก้ปัญหานี้ได้อยู่แล้ว แต่จะตีความกี่วัน หัวหน้า คสช. ก็ไปร่นระยะเวลาก่อนการบังคับใช้กฎหมายเท่านั้น ทุกอย่างก็เป็นไปตามเดิม ส่วนจะเป็นรัฐบาล หรือ สนช. ที่จะเป็นผู้ส่งตีความกฎหมายนั้น ทุกอย่าง คสช. จะเป็นผู้กำหนด ซึ่ง คสช. เคยบอกกับคนไทยและชาวโลกไว้อย่างไร ก็ควรเกิดตามนั้น

เมื่อถามว่า จะมีการขอความร่วมมือไปทางศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยร่างกฎหมาย ส.ส. เร็วขึ้น เพื่อไม่ให้กระทบโรดแมป คิดว่าทำได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องดูตามความเป็นจริงว่า ใช้เวลาเท่าไหร่ อย่างไร เพราะมีหนทางแก้ไขอยู่แล้ว แต่อยู่ที่ว่าจะทำหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเองก็คงไม่ต้องการให้ล่าช้าอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ต้องเป็นตามกระบวนการ ซึ่งเรื่องที่ส่งตีความนั้นอาจจะไม่เป็นการซับซ้อนก็ได้ ตนยืนยันว่า คนที่รับผิดชอบ สุดท้ายแล้วก็คือ หัวหน้า คสช. เพราะไม่ว่าศาลจะใช้เวลาเท่าไหร่ หัวหน้า คสช. ก็ต้องสามารถแก้ไขสถานการณ์ให้เป็นไปตามโรดแมปได้อยู่แล้ว แต่อยู่ที่ว่าเขาจะทำหรือไม่ทำเท่านั้นเอง

ต่อข้อถามว่า ในตอนแรก นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ยืนยันว่า หากส่งร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ตีความจะกระทบโรดแมปแน่ แต่ภายหลังกลับคำพูด มองว่ามีสัญญาณอะไรหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เราเป็นห่วงเพราะ สนช. เป็นฝ่ายนิติบัญญัติต้องเป็นหลักในความรอบคอบ คุณภาพของกฎหมายที่ออกมา ปัญหาการเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่มีอยู่ตลอดเวลา สะท้อนให้เห็นว่าเป็นการทำงานที่บกพร่องมาก ควรต้องทบทวนว่าจะทำอย่างไร ไม่ให้เกิดกรณีเช่นนี้ขึ้นมาอีก เมื่อถามว่าพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เปิดช่องว่า การสรรหาจะยังไม่เกิดขึ้น หากยังไม่มีผู้นำฝ่ายค้าน และถ้ายังไม่มีเลือกตั้งตุลาการปัจจุบันที่พ้นวาระไปแล้วก็ยังคงดำรงตำแหน่งอยู่ได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้าใครที่คิดจะทำอะไรเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง และคิดว่าจะทำได้ไปเรื่อยๆให้ย้อนไปดูประวัติศาสตร์ ว่า ไม่สามารถทำได้ เพราะสังคมไม่ยอม

“ส่วนสภาวการณ์เช่นนี้จะไม่เป็นผลดีต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ภาวะปัจจุบันขณะนี้ความอึมครึม ความไม่แน่นอน ยังมีปรากฏทุกเวลา ความไม่ชัดเจน ในเรื่องการขจัดผลประโยชน์ที่ซับซ้อน ซึ่งเป็นสิ่งที่ตนติงมาตลอดว่า ถ้าอยากจะปฏิรูปการเมืองต้องช่วยกันทำให้เรื่องแบบนี้หมดไป ไม่ใช่มาทำเสียเอง ถ้าจะพูดเรื่องธรรมาภิบาลต้องไม่มีสิ่งเหล่านี้ ไม่เช่นนั้นก้ไม่ควรพูด ทั้งนี้ จะเป็นการทำลายระบบองค์กรอิสระหรือไม่นั้น ผมมองว่า ขณะนี้องค์กรอิสระก็ได้รับผลกระทบหลายองค์กรแล้วจากการเขียนกฎหมายลูก และการใช้มาตรา 44” นายอภิสิทธิ์ กล่าว





กำลังโหลดความคิดเห็น