xs
xsm
sm
md
lg

กกต.แย้ม คสช.เริ่มผ่อนคลาย 1 เม.ย. ปชป.-พท.แย้ง กม.ให้เวลาจ่ายค่าสมาชิกถึง 4 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กกต.แจงพรรคเก่าสมาชิกต้องยืนยันตัวตนพร้อมจ่ายคำบำรุงใน 30 วัน ไม่จ่ายถือว่าพ้นสมาชิกภาพ ปชป.-พท. จี้ทบทวนชี้ตีความ กม.ผิดเหตุ พ.ร.ป.พรรคให้เวลาจ่ายถึง 4 ปี-เสนอเลิกไพรมารีโหวต ด้าน กกต.เผย คสช.เริ่มผ่อนคลายให้พรรคการเมืองเก่าหาสมาชิก-จัดประชุม กก.บห.ได้หลัง 1 เม.ย. แต่ต้องขออนุญาต ก่อนเตรียมแก้คำสั่ง คสช.53/60 ชี้ไม่แก้เลือกตั้งไม่ได้

วันนี้ (28 มี.ค.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้จัดประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินกิจการแก่พรรคการเมืองเก่าที่เข้าร่วม 55 พรรคการเมือง จำนวน 308 คน ถึงแนวทางการปฏิบัติตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 และคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 โดยมีแกนนำพรรคการเมืองเข้าร่วมกันจำนวนมาก เช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย, นายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย, นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา

ทั้งนี้ นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. กล่าวตอนหนึ่งในการเปิดประชุมชี้แจงว่า ที่ผ่านมามีพรรคการเมืองหลายพรรคสอบถามมายัง กกต.ซึ่งได้ตอบข้อสอบถามไปแล้ว แต่บางคำตอบอาจทำให้ พรรคการเมืองไม่เข้าใจถ่องแท้ เพราะบางเรื่องเกี่ยวข้องกับคำสั่ง คสช. ตนจึงได้ไปหารือกับตัวแทน คสช. ตัวแทนกฤษฎีกา และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็ได้แนวทางมาพอสมควรและมีแนวโน้มว่าจะมีการแก้ไขคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ในระยะต่อไป รวมทั้งก่อนเริ่มประชุมก็ได้หารือกับหัวหน้าพรรคการเมืองถึงข้อขัดข้องต่างๆ ซึ่ง กกต.จะรับไปหารือในที่ประชุม กกต. แต่ถ้าเป็นข้อขัดข้องที่เกี่ยวข้องกับประกาศ คสช.ก็จะนำไปหารือกับ คสช.โดยเร็ว เพื่อแก้ไขปัญหาทุกอย่างให้ได้เพื่อดำเนินการตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนดได้ อย่างไรก็ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมีกระบวนการที่เปลี่ยนแปลงไปมาก เช่น ทุนประเดิม การจัดตั้งสาขาพรรค การทำไพรมารีโหวต จึงขอให้ทุกพรรคการเมืองศึกษากฎหมายอย่างละเอียดจะได้ดำเนินการอย่างถูกต้อง

ขณะที่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา รักษาการเลขาธิการ กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง บรรยายเรื่อง “บทบาทนายทะเบียนพรรคการเมืองกับการดำเนินกิจการของพรรคการเมือง” ว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงก่อนที่จะเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งมีหลายเรื่อง เช่น การปฏิรูประบบพรรคการเมืองที่เปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมทั้งเรื่องนโยบายและการส่งผู้สมัคร โดยมีการกำหนดคุณสมบัติสมาชิกพรรคที่สูงเกือบเท่าคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส่วนการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้นต้องดูกฎหมายให้ดี เพราะพรรคการเมืองจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายเอง ไม่ใช่หน้าที่สำนักงาน กกต.จะเข้าไปดูให้เหมือนแต่ก่อน แต่สำนักงาน กกต.จะเข้าไปในเฉพาะส่วนที่ต้องเข้าไป อาทิ หากพบว่ามีพรรคใดส่งผู้สมัครไม่ผ่านระบบไพรมารีโหวต กกต.ก็จะลงไปตรวจสอบ และหากพบว่าเป็นจริง กกต.ก็จะแจ้งความให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการกับกรรมการบริหารพรรค แต่จะไม่ทำให้ผลของการเลือกตั้งเสียไป

ด้านนายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต.ได้ชี้แจงแนวปฏิบัติเกี่ยวกับคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ว่ามีหลายประเด็นที่มีปัญหาในทางปฏิบัติ ซึ่ง กกต.ได้มีหนังสือไปยัง คสช.เพื่อให้พิจารณาแก้ไขแล้ว โดยเฉพาะประเด็นความเท่าเทียมระหว่างพรรคการเมืองเก่ากับพรรคการเมืองใหม่ เช่น กรณีที่คำสั่ง คสช.ที่ 53 ไม่ได้รับรองสาขาพรรคการเมืองตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองปี 50 ไว้ ทำให้ไม่มีองค์ประชุมจากส่วนที่เป็นสาขาพรรคในการประชุมใหญ่, พรรคการเมืองเก่าต้องมีสี่สาขาทั่วประเทศในขณะที่พรรคการเมืองใหม่มีเพียงสาขาเดียวก็สามารถส่งผู้สมัครได้ เป็นต้น ประเด็นเหล่านี้ต้องแก้ไขไม่เช่นนั้นจะเลือกตั้งไม่ได้

จากนั้นได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนพรรคการเมืองสอบถามในประเด็นที่ยังมีข้อสงสัย โดยส่วนใหญ่อยากให้มีการแก้ไขกรณีที่กำหนดว่าการยืนยันตัวตนของสมาชิกพรรคการเมืองต้องทำพร้อมกับจ่ายค่าบำรุงพรรค 100 บาทด้วยไม่เช่นนั้นจะสิ้นสภาพ และมีบางพรรคเสนอให้ยกเลิกการทำไพรมารีโหวต รวมถึงมีข้อสงสัยว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กกต.เป็นผู้รักษากฎหมายและแนวทางปฏิรูปการเมืองมีเป้าหมายให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการสร้างพรรค กกต.จึงควรอำนวยความสะดวกให้พรรคสามารถคงสมาชิกไว้ให้ได้มากที่สุด แต่สิ่งที่ กกต.กำลังทำกลับเป็นการทำลายฐานสมาชิกของพรรคการเมือง อีกทั้งการตีความกฎหมายของ กกต.ไม่ตรงกับสิ่งที่กฎหมายเขียนไว้ เช่น กฎหมายพรรคการเมืองให้เวลาสมาชิกในการจ่ายค่าบำรุงพรรค 4 ปี แต่มีการตีความคำสั่งคสช.ที่ 53/2560 ว่าสมาชิกที่ยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคต้ไม่จ่ายค่าบำรุงพรรคภายใน 30 วัน จะพ้นจากความเป็นสมาชิก โดยไม่มีกรอบเวลา 4 ปีเหมือนในกฎหมายพรรคการเมือง จึงอยากให้ กกต.ทบทวนเรื่องดังกล่าว รวมถึงกรณีสมาชิกพรรคการเมืองยืนยันแต่ยังไม่พร้อมชำระเงินควรให้แจ้งต่อ กกต.ได้ ส่วนสถานภาพจะเป็นอย่างไรก็ให้ไปสู้กันตามกฎหมาย เนื่องจาก พ.ร.ป.พรรคการเมืองก็กำหนดไว้อยู่แล้วว่าภายในกี่เดือนพรรคต้องจัดให้สมาชิกไม่น้อยกว่าเท่าไรจ่ายค่าบำรุงพรรค

นอกจากนี้ การให้หัวหน้าพรรครับรองว่าสมาชิกมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม เป็นเรื่องที่ยากในการปฏิบัติ หัวหน้าพรรคไม่มีทางรับรองได้วว่าสมาชิกคนใดไม่เคยติดคุก ไม่เคยล้มละลายจริง จึงอยากให้แก้ไข เพราะหัวหน้าพรรคสามารถรับรองได้แค่เพียงว่าสมาชิกพรรครับรองคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของตัวเองมาแล้วเท่านั้น

นายชูศักดิ์ ศิรินิล ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ถามว่าจะสามารถให้สาขาพรรค ผู้สมัคร อดีต ส.ส. เป็นผู้รับใบยืนยันและหลักฐานการเป็นสมาชิกพรรคมาส่งให้หัวหน้าพรรคแทนการมาที่สมาชิกต้องมายืนยันด้วยตนเองได้หรือไม่

โดยนายแสวงชี้แจงว่า ในส่วนการยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคต้องจ่ายเงินบำรุงพรรค 100 บาทต่อปี ภายในวันที่ 30 เมษายนด้วย ไม่เช่นนั้นจะต้องพ้นสภาพการเป็นสมาชิกพรรค ส่วนกรณีที่กำหนดให้สมาชิกพรรคนำสำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านมายืนยันความเป็นสมาชิกพรรคด้วยนั้น ไม่จำเป็นต้องนำเอกสารทั้งสองฉบับมาใช้ในการยืนยันความเป็นสมาชิกพรรคแล้ว ขณะที่การยืนยันการเป็นสมาชิกถือเป็นขั้นตอนทางธุรการที่แต่ละพรรคจะไปดำเนินการ แต่จะไปขึ้นเป็นป้ายตัววิ่งไม่ควรทำ เพราะจะขัดกับคำสั่ง คสช.ได้ จึงควรที่จะขออนุญาต สำหรับการจะไม่ทำไพรมารีโหวตและกำหนดวันเลือกตั้งนั้นขึ้นอยู่กับการหารือระหว่าง คสช., ครม., กรธ., ประธาน สนช. และตัวแทนพรรคการเมืองที่จะมีขึ้นหลังกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเอกสารประกอบการประชุมที่ทางสำนักงาน กกต.ได้แจกจ่ายให้กับพรรคการเมืองที่มาร่วมประชุม ได้ระบุถึงการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 โดยกิจการที่ทั้งพรรคการเมืองเก่าและใหม่สามารถ ขอดำเนินการได้ แม้จะยังไม่ยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 57/2557 ก็เช่น การหาสมาชิก หรือการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค โดยในส่วนของพรรคการเมืองเก่าจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ส่วนพรรคการเมืองใหม่เริ่มได้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม แต่ต้องขออนุญาตจาก คสช.ก่อนส่วนกิจการที่ยังดำเนินการไม่ได้คือการจัดประชุมใหญ่พรรคการเมือง การจัดตั้งสาขาพรรคการเมือง การจัดตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด และการประชุมสมาชิกพรรคการเมือง จนกว่าจะมีการยกเลิกประกาศ คสช.ที่ 57/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558

นอกจากนี้ยังมีการระบุถึงกรอบเวลาดำเนินการเพื่อส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ไว้ว่า ก.ค. 61 คาดว่า พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา อาจมีการยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมประกาศ คสช.ฉบับที่ 57/57 และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/58 ก.ย. 61 คาดว่า พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.จะมีผลบังคับใช้จัดตั้งสาขาพรรคการเมือง พ.ย.61 คาดว่า กกต.จะประกาศจำนวนเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตของแต่ละจังหวัด และ ธ.ค. 61 - ม.ค. 62 จัดตั้งตัวแทนสาขาพรรคการเมือง, ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด, ทำไพรมารีโหวต










กำลังโหลดความคิดเห็น