เมืองไทย 360 องศา
ท่าทีล่าสุดของ “นายหัว” ชวน หลีกภัย ที่เวลานี้เป็นประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ที่ออกมาประกาศหนุน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรคต่อไป พร้อมทั้งยืนยันว่า หากมีใครเสนอชื่อตัวเองเป็นหัวหน้าพรรคก็จะไม่รับ และ “ถอนตัว”
ขณะเดียวกัน ยังย้ำหลักการของพรรคประชาธิปัตย์ที่ยึดหลักเสรีนิยม พูดง่ายๆ แบบสรุปความต่อมา ก็คือ ไม่เอา “นายกฯ คนนอก” นั่นแหละ มิหนำซ้ำ ยังกรีดใส่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แม้ว่าจะไม่ได้กล่าวออกมาแบบตรงๆ แต่คำพูดที่บอกว่า “ทหารบางคนก็เลว” มันก็ถือว่าเจ็บแสบไม่น้อย ทางหนึ่งเป็นการตอบโต้คำพูดที่ พล.อ.ประยุทธ์ มักชอบพูดกล่าวหานักการเมืองในทางลบอยู่เสมอ
ขณะเดียวกัน นอกเหนือจาก “นายหัวชวน” แล้ว บรรดาขาใหญ่ในพรรคประชาธิปัตย์ต่างก็แท็กทีมมากันครบ ไม่ว่าจะเป็น “บัญญัติ บรรทัดฐาน” ก็เดินมาในแนวทางเดียวกัน
แน่นอนว่า นี่คือ ท่าทีไม่สนับสนุนนายกฯ คนนอก หรือไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่นแหละ ซึ่งก็สวนทางกับท่าทีของ สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาฯ พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตเลขาฯ กปปส. ชัดเจน
ดังนั้น นาทีนี้หากโฟกัสไปที่พรรคประชาธิปัตย์ในเวลานี้ ก็ต้องบอกว่าทั้งสองฝ่ายต่าง “ยืนประจันหน้า” กัน แม้ว่าในทางเปิดเผยจะยังไม่มีการพูดจารุนแรงใส่กัน เพียงแต่ว่านี่คือท่าทีและนัยทางการเมืองที่ต่างกัน
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา สังคมภายนอกยังไม่ค่อยรับรู้ถึงความเคลื่อนไหวแบบนี้ภายในพรรคประชาธิปัตย์ เพียงแต่ว่าสำหรับคนที่ติดตามมาอย่างใกล้ชิดก็พอมองเห็นถึงความผิดปกติดังกล่าวมานานแล้ว อีกทั้งบรรดา “คนสนิท” หรือลูกน้องของแต่ละฝ่ายที่ออกมาเปิดโปงให้เห็นภาพ เพราะหากจำกันได้ก็จะมีการออกมาแฉโพยกันออกมาเป็นระยะในทำนองว่า “กำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ” กำลังตั้งพรรค กปปส. เพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ซึ่งก็มีการเตรียมการเปิดตัวกันชัดเจน โดยนายธานี เทือกสุบรรณ น้องชายของสุเทพ แต่ก็ฝ่อไปเฉยๆ
ทำให้หลายคนประเมินว่า อาจเป็นเพราะเวลานั้นแผนการ “ยึดพรรคประชาธิปัตย์” ล้มเหลว เพราะมีบรรดาขาใหญ่ดังกล่าวยืนขวางทางอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกัน หากจะใช้วิธีการ “ยกขบวน” กันออกไปแบบพวก “กลุ่ม 10 มกรา” ในอดีต ก็คงไม่ได้ผล เพราะสถานการณ์ได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ที่สำคัญหากพิจารณากันตามสถานการณ์ที่เป็นจริงในเวลานี้ พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช. กำลังอยู่ในช่วง “ขาลง” ทำให้แรงส่งต่อพรรคใหม่ยังมีไม่เพียงพอ
ขณะเดียวกัน หากพิจารณาจากกฎหมายพรรคการเมืองใหม่ที่ต้องรีบยืนยันตัวตนสมาชิกพรรคในเวลาจำกัด อย่างน้อยต้องภายใน 30 เมษายนนี้ ทำให้อดีต ส.ส. ของพรรค โดยเฉพาะพวกที่เป็นแกนนำ กปปส. แทบทั้งหมดยังไม่กล้าเสี่ยง อีกทั้งหากแยกออกไปก็ไม่มั่นใจว่าจะชนะการเลือกตั้ง ได้กลับมาอีก
หลายคนประเมินว่า การที่บรรดาอดีต ส.ส. ที่เป็น กปปส. ยังอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ว่านี่อาจเป็น “แผนฝากเลี้ยง” หรือแผน “ม้าไม้เมืองทรอย” ที่เข้าไปเพื่อรอจังหวะเป็น “งูเห่า” หรือรอสบโอกาสยึดพรรคในอนาคต แต่ไม่ว่าแบบไหนมันก็ยากลำบากกันทั้งนั้น เพราะเจอขาใหญ่ขวางอยู่หน้าประตูอย่างที่เห็น และงานนี้เห็นชัดว่า ชวน หลีกภัย บัญญัติ บรรทัดฐาน แท็กทีมกันแน่นปึ้ก
จะด้วยท่าทีดังกล่าวหรือเปล่าทำให้ สุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ประกาศแนวทางการเมืองล่าสุดที่เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 7 เมษายน ที่ผ่านมา ยืนยันจะตั้งพรรคการเมืองของประชาชน เพื่อสืบสานเจตนารมณ์ของ กปปส. ให้ได้ และเรียกร้องให้ชาวบ้านร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด แม้ว่าตัวเขาจะไม่รับตำแหน่ง ไม่ลงสมัคร ส.ส. แต่ก็จะทำหน้าที่ผลักดันอย่างเต็มที่
เมื่อเป็นแบบนี้มันก็เป็นไปได้ว่าพรรค กปปส. หรือในชื่ออื่นก็อาจจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ และเมื่อถึงตอนนั้นก็อาจได้เห็นกลุ่มอดีต ส.ส. ประชาธิปัตย์ที่เป็น กปปส.หลายคนทยอยเดินออกไปร่วมกับพรรคใหม่ก็ได้
ที่น่าสังเกตก็คือ เวลานี้เริ่มได้เห็นการเคลื่อนไหวบางอย่างแปลกๆ จากการออกมาชื่นชมบรรดา “แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” เริ่มจาก พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ตามมาด้วย สนธิ ลิ้มทองกุล จนตอนนี้ก็มาถึง พิภพ ธงไชย ชื่นชมว่า พวกเขามีความเสียสละเพื่อบ้านเมือง โดยไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน โดยก่อนหน้านั้น ก็วิงวอนให้การท่าอากาศยานฯผ่อนปรนเรื่องการบังคับคดีทางแพ่งจากการฟ้องคดีจากการชุมนุมบุกสนามบินเมื่อหลายปีก่อน
แม้ว่าจะยังคาดเดาได้ยาก แต่ก็มีคนที่มองออกและตั้งคำถามว่า นี่คือ การ “แตะมือหาพวก” หรือไม่ เพราะหาย้อนกลับไป คดีที่ถูกฟ้องร้องดังกล่าวเกิดขึ้นในยุคที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล และมี สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และที่ผ่านมา สามารถสั่งให้การท่าฯ ยุติการฟ้องคดีก็ได้
นอกเหนือจากนี้ ที่ผ่านมา สุเทพ เทือกสุบรรณ ไม่เคยกล่าวถึงบรรดาแกนนำพันธมิตรฯ หรือแม้แต่ที่พันธมิตรเข้ามาสนับสนุนการชุมนุมของ กปปส. ก็ไม่เคยได้ยินคำพูดออกมาจากปากแต่อย่างใด ทำให้เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจไม่น้อยสำหรับท่าทีของเขาล่าสุด ทำให้อดคิดไม่ได้เหมือนกันว่านี่คือความพยายามในการหาพันธมิตรใหม่ เพื่อคะแนนเสียงสำหรับรองรับพรรคการเมืองที่กำลังตั้งขึ้นมาใหม่หรือใม่
ดังนั้น ถ้าให้สรุปนาทีนี้สำหรับโอกาสของ สุเทพ เทือกสุบรรณ ในพรรคประชาธิปัตย์ ถือว่าตีบตัน แต่หากจะออกมาตั้งพรรคใหม่ ก็ต้องมีฐานคะแนนเสียงที่มีเป็นกอบเป็นกำ อย่างน้อยก็ต้องมาหาทางแตะมือกับกลุ่มพันธมิตรฯ อย่างที่เห็นกันอยู่ในเวลานี้หรือเปล่า น่าติดตาม!