xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” จวกร่าง กม.ซูเปอร์บอร์ดคุม 11 รัฐวิสาหิจ รวมสมบัติชาติ 6 ล้านล้านขายเหมาเข่ง หนักกว่ายุค “แม้ว”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร และ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน (ภาพจากแฟ้ม)
อดีต ส.ว. กรุงเทพฯ ตั้งคำถาม สนช. รับร่าง กม. ตั้งซูเปอร์บอร์ดพร้อมบรรษัทคุม 11 รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ เปิดช่องเอกชนเข้าถือหุ้น เข้าข่ายแปรรูปอำพราง เอาทรัพย์สินของรัฐ 6 ล้านล้าน รวมทั้งอำนาจและสิทธิมหาชน ผ่องถ่ายให้เอกชนแบบเหมาเข่งหรือไม่ ชี้ หากผ่าน เท่ากับขายสมบัติชาติหนักกว่ายุค “ทักษิณ”

หลังจากที่สภานิติบัญญีติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติรับร่าง พ.ร.บ. การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ (อ่านข่าว คสทร. บุกสภาค้านไร้ผล! สนช. ผ่านรับหลักการ กม. ตั้ง คนร. ซูเปอร์บอร์ดคุมรัฐวิสาหกิจ) วานนี้ (1 ก.ย.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร และ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก รสนา โตสิตระกูล ในหัวข้อ “คสช.เตรียมออกกฎหมายแปรรูปรัฐวิสาหกิจอำพรางแบบยกเข่งโดยผ่านสภาเสียงข้างเดียว กินรวบหนักกว่ายุคทักษิณหรือไม่?”

มีใจความว่า เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2560 สนช. รับหลักการร่างกฎหมายตั้งซูเปอร์บอร์ด และบรรษัทรัฐวิสาหกิจ โดยจะมีการนำรัฐวิสาหกิจจำนวน 11 แห่ง ที่มีสภาพเป็นบริษัททั้งที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ไปแล้ว เช่น ปตท., การบินไทย, อสมท เป็นต้น และรัฐวิสาหกิจที่ ก.คลัง ยังถือหุ้น 100% (ยังไม่เข้าตลาดหลักทรัพย์) เช่น TOT, CAT, ไปรษณีย์ไทย เป็นต้น

เมื่อจัดตั้งบรรษัทรัฐวิสาหกิจแล้ว กระทรวงการคลังจะโอนหุ้นทั้งหมดในรัฐวิสาหกิจ 11 แห่งให้กับบรรษัทรัฐวิสาหกิจเป็นผู้ครอบครองแทน และบรรษัทฯ จะออกใบหุ้นให้กระทรวงการคลัง ซึ่งกระทรวงการคลังจะมีฐานะเป็นเพียงผู้ถือหุ้นรายหนึ่งในบรรษัทฯ

ในอนาคตเมื่อบรรษัทฯ ต้องการเพิ่มทุนในรัฐวิสาหกิจใด หากรัฐไม่สามารถเพิ่มทุนหรือไม่ต้องการเพิ่มทุนก็ต้องเปิดให้เอกชนมาถือหุ้นแทน ซึ่งคือกระบวนการแปรรูปอำพรางโดยที่คราวนี้ประชาชนจะคัดค้านเหมือนสมัยแปรรูปรัฐวิสาหกิจผ่านกฎหมายทุนรัฐวิสาหกิจไม่ได้อีกแล้ว เพราะเป็นการแปรรูปผ่านกระบวนการเพิ่มลดทุนในตลาดหลักทรัพย์ ใช่หรือไม่

หุ้นของรัฐในรัฐวิสาหกิจก็ถูกลดสัดส่วนลงไปเรื่อยๆ จนรัฐวิสาหกิจอาจหมดสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจไปเลยโดยที่ประชาชนไม่มีโอกาสรับรู้

กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นแล้วกับธนาคารกรุงไทยที่บัดนี้หมดสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจไปแล้ว เพราะปัจจุบันกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินถือหุ้นในธนาคารกรุงไทยเกิน 50% ไปแล้ว

การแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ของอดีตนายกฯ ทักษิณ โดยไม่แบ่งแยกสาธารณสมบัติ ไม่แบ่งแยกอำนาจและสิทธิมหาชน ก็สร้างความเสียหายให้กับประเทศอย่างมหาศาลแล้ว จนศาลปกครองสูงสุดต้องมีคำสั่งให้แบ่งแยกสาธารณสมบัติคืนกระทรวงการคลัง และไม่ให้ บมจ.ปตท.ใช้สิทธิและอำนาจมหาชนของรัฐอีก

มาคราวนี้รัฐบาล คสช. น่าจะหนักข้อกว่ารัฐบาลอดีตนายกฯ ทักษิณ ใช่หรือไม่ ที่ถึงกับจะเอาบริษัทรัฐวิสาหกิจ 11 แห่ง ที่มีทรัพย์สินรวมกันมูลค่ามหาศาลประมาณ 6 ล้านล้านบาท ซึ่งมีทั้งทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติ รวมทั้งอำนาจและสิทธิมหาชน เตรียมเปิดขายเหมาเข่ง เป็นกระบวนการผ่องถ่ายทรัพย์สินของรัฐให้เอกชนใช่หรือไม่

การจัดตั้งบรรษัทฯ และการรวบเอากรรมสิทธิ์ในหุ้นรัฐวิสาหกิจไปรวมศูนย์ไว้ในมือของบรรษัทฯ นั้น นอกจากมิได้สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ประเทศไทย และไม่สามารถพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจให้ดีขึ้นแต่อย่างใดแล้ว บรรษัทฯ ยังสามารถจะใช้ทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือในการทำธุรกรรมซื้อขายแลกเปลี่ยนกับนักธุรกิจในประเทศและในต่างประเทศได้ ซึ่งการดำเนินการต่างๆ เหล่านี้ จำเป็นจะต้องมีการถกเถียงในทางการเมืองเสียก่อน และจำเป็นจะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบครบถ้วนโดยรัฐสภาเสียก่อน มิใช่ปล่อยให้ สนช. ซึ่งเป็นสภาเสียงข้างเดียวที่แต่งตั้งมาโดยรัฐบาล คสช.มาตัดสินใจแทนคนไทยทั้งประเทศผู้เป็นเจ้าของสมบัติชาติที่แท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น