สนช.จ่อถก กม.ควบรวม 11 รัฐวิสาหกิจแปรสภาพเป็นบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ พร้อมตั้ง คนร.ทำแผนยุทธศาสตร์ “ครูหยุย” ระบุหนักกว่าแปรรูป หวั่นเล่นแร่แปรธาตุสมบัติชาติ แถมยังรับฟังความเห็นตาม ม.77 ไม่ครบ
วันนี้ (23 ส.ค.) นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้า สนช.จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ (รสก.) พ.ศ. ... ซึ่งกฎหมายนี้เป็นกฎหมายใหม่ ร่างขึ้นเพื่อปฏิรูปการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจให้เหมาะสมกับบริทของเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ คนร. มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เสนอแนะให้คำปรึกษาต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายและแนวทางในการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งจัดตั้งบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ ทำหน้าที่ในฐานะผู้ถือหุ้นในรัฐวิสากิจที่เป็นบริษัทแทน ทั้งนี้ การเสนอร่างดังกล่าวเป็นการแก้ปัญหาการตั้งบุคคลหรือพรรคพวกเข้ามาเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ และบางคนก็ไม่ความรู้ความสามารถเกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจ ทำให้รัฐวิสาหกิจไม่พัฒนา ทำให้การบริหารขาดทุน
ด้านนายวัลลล ตังคณานุรักษ์ สนช.กล่าวว่า เท่าที่ดูกฏหมายฉบับบนี้จะรวมรัฐวิสาหกิจที่มีอยู่ 11 แห่ง เช่น ทีโอที ไปรษณีย์ ขสมก. ปตท. การบินไทย การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยฯ ให้เป็นบรรษัทรัฐวิสาหกิจบริหารในลักษณะบอร์ด โดยมี คนร.เป็นผู้กำกับดูแล ซึ่งในมาตรา 44-48 กำหนดให้ คนร.แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 9 คนมาบริหารบรรษัทรัฐวิสาหกิจ ซึ่งบรรษัทนี้จะรวมบรวมกิจการ หุ้น ที่กระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ให้มารวมไว้ในที่เดียวกัน หรือเป็นการบริหารแทนกระทรวงการคลัง ตนมองว่าเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก เพราะได้เอาสมบัติของชาติมาให้เอกชนดูแล โดยเฉพาะกรรมการผู้ทรงวุฒิจำนวน 9 คนที่จะมีอำนาจในการบริหาร
“บรรรษัทแห่งชาติจะดูแลควบคุมการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจทั้งหมด หรือทุกอย่างอยู่ในอุ้งมือของบรรษัทดังกล่าวซึ่งสามารถบริหารอย่างไรก็ได้ และหากว่าผู้ทรงคุณวุฒิมาจากนักการเมืองที่ไม่ดี ประเทศชาติจะเป็นอย่างไร ผมหวั่นว่าจะมีการเล่นแร่แปรธาตุสมบัติของชาติ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะหนักกว่าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอีก” นายวัลลภกล่าว
นายวัลลภกล่าวว่า นอกจากนี้กฎหมายดังกล่าวมองว่ายังไม่ได้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนหรือผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 มีเพียงรับฟังจากผู้ถือหุ้น คนบางกลุ่ม ขณะที่ตัวแทนจากสหภาพของรัฐวิสาหกิจมีการรับฟังน้อยมาก บางแห่งก็ไม่ได้รับฟัง ถือว่าไม่ได้รับฟังอย่างครบถ้วนดีพอที่จะสามารถส่งมายัง สนช.ให้พิจารณากฎหมายนี้ได้