xs
xsm
sm
md
lg

สคร. ชี้แจง พ.ร.บ. รัฐวิสาหกิจตอบโจทย์เพิ่มประสิทธิภาพ ย้ำไม่ใช่การแปรรูปซ่อนเงื่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สคร. ชี้แจง พ.ร.บ. รัฐวิสาหกิจตอบโจทย์เพิ่มประสิทธิภาพ แยกบทบาทชัดระหว่างนโยบายกับผู้ถือหุ้น ย้ำไม่ใช่การแปรรูปซ่อนเงื่อน

นางปานทิพย์ ศรีพิมล ที่ปรึกษาด้านการพัฒนารัฐวิสาหกิจ เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับเจตนารมณ์ และหลักการร่าง พ.ร.บ. พัฒนารัฐวิสาหกิจที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการไปแล้วเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2560 ปรากฏข้อเท็จจริงผ่านสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ว่า ยังคงมีข้อสังเกตว่า ร่างกฎหมายนี้จะนำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยเปิดช่องให้บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติลดสัดส่วนการถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจชั้นแม่ และรัฐวิสาหกิจชั้นลูก การมีบรรษัทฯ จะมุ่งแต่กำไรสูงสุดจนไม่คำนึงถึงภารกิจบริการสาธารณะ การลดบทบาทของภาคแรงงานรัฐวิสาหกิจ

ทั้งนี้ สคร. ขอชี้แจงเพิ่มเติม คือ 1. ร่าง พ.ร.บ. พัฒนารัฐวิสาหกิจ มีเจตนารมณ์แยกบทบาทระหว่างผู้กำหนดนโยบายออกจากผู้ถือหุ้น โดยกำหนดให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เป็นผู้กำหนดนโยบายผ่านแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ ขณะที่บรรษัทฯ ทำหน้าที่เป็นผู้ถือหุ้นกำกับให้รัฐวิสาหกิจในกำกับดำเนินตามนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดตั้งบรรษัทฯ จึงอยู่ภายใต้หลักการของการกำหนดบทบาทของผู้ถือหุ้นไม่ให้ทับซ้อนกับผู้กำหนดนโยบาย นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ. พัฒนารัฐวิสาหกิจยังให้ความสำคัญกับการคงสถานะความเป็นรัฐวิสาหกิจเอาไว้ โดยนำเอามติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังในรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัท ให้มีผลบังคับกับบรรษัทฯ ในการถือหุ้นตามสัดส่วนที่กำหนดไว้ในมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวต่อไป

2. การทำหน้าที่ของบรรษัทฯ ตามร่าง พ.ร.บ. พัฒนารัฐวิสาหกิจจะต้องให้ความสำคัญกับหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการของรัฐวิสาหกิจในฐานะผู้ถือหุ้น ให้เกิดผลตอบแทนที่เหมาะสมแก่รัฐ และยังต้องกำกับให้รัฐวิสาหกิจมีการดำเนินการที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจที่กำหนดเป้าหมาย นโยบาย และทิศทางในการพัฒนารัฐวิสาหกิจให้มีการดำเนินการให้สอดคล้องกับภารกิจตามกฎหมายของแต่ละรัฐวิสาหกิจได้อย่างโปร่งใส และมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ข้อกล่าวอ้างที่ว่า รัฐวิสาหกิจที่มาอยู่ใต้บรรษัทฯ จะต้องมุ่งกำไรสูงสุดจึงไม่ถูกต้อง เพราะมาตรา 44 แห่งร่าง พ.ร.บ. พัฒนารัฐวิสาหกิจกำหนดให้จัดตั้งบรรษัทฯ ขึ้นเป็นนิติบุคคลโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจในกำกับของบรรษัท และกำกับดูแลการประกอบกิจการของรัฐวิสาหกิจในฐานะผู้ถือหุ้นให้เกิดผลตอบแทนที่เหมาะสม และสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ

3. ส่วนการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ บรรษัทฯ จะทำหน้าที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจในชั้นแม่ผ่านการเป็นผู้ถือหุ้นโดยตรงให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลที่ดีตามที่กำหนดในร่าง พ.ร.บ. พัฒนารัฐวิสาหกิจ ขณะที่การกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจในชั้นอื่น ๆ ซึ่งบรรษัทฯ ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นโดยตรง จะต้องใช้กฎหมาย กฎ และระเบียบที่เกี่ยวข้องในการกำกับรัฐวิสาหกิจชั้นอื่น ๆ ในการกำกับดูแลต่อไป และ 4. ด้านบทบาทของสหภาพและแรงงานสัมพันธ์ร่าง พ.ร.บ. พัฒนารัฐวิสาหกิจกำหนดให้รัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังโอนหุ้นให้แก่บรรษัทฯ ตามร่าง พ.ร.บ. นี้เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ซึ่งไม่เป็นการยกเลิกองค์กรแรงงานต่าง ๆ ตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจแต่อย่างใด ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ. พัฒนารัฐวิสาหกิจที่ สนช. ได้ให้ความเห็นชอบวาระที่ 1 นั้น จึงไม่มีหลักการและบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อมแต่ประการใด แต่จะเป็นกฎหมายกลางใช้ในการพัฒนาระบบการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจให้มีการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ อยู่ภายใต้หลักธรรมาภิบาล และความโปร่งใส โดยคำนึงถึงประโยชน์ของภาครัฐ และประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น