xs
xsm
sm
md
lg

“กรมเชื้อเพลิงฯ” เปิดประมูลแหล่งเอราวัณ - บงกช ก.ย.นี้ - “ธีระชัย” ปรามหากไม่ใช้ “แบ่งปันผลผลิต” ระวังเจอฟ้อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ” เผยพร้อมเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณ - บงกช ปลาย ก.ย. 2560 ระบุ ขณะนี้อยู่ในระหว่างเสนอกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับระบบแบ่งปันผลผลิตเข้าสู่ ครม. เพื่อเพิ่มทางเลือก จากเดิมที่มีเพียงระบบสัมปทานอย่างเดียว แต่เชื่อว่าทุกระบบใกล้เคียงกันในการรักษาผลประโยชน์ของประเทศ ด้าน “ธีระชัย” ปรามหากผลสรุปกรมเชื้อเพลิงฯ เสนอให้ใช้ระบบสัมปทานโดยอ้างว่าใกล้เคียงกัน ประชาชนสามารถฟ้องร้องเพื่อให้นำหลักฐานมายืนยัน ถ้าไม่จริงตามอ้างเข้าข่ายละเมิดมาตรา 164 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560

วันที่ 9 ก.ย. ทางเว็บไซต์ energynewscenter.com ได้เผยแพร่ข่าวว่า รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติแจงผ่านรายการ “ตลาดช่อง 5” พร้อมเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณ บงกช ปลายเดือน ก.ย. 2560 นี้ โดยจะสามารถเสนอ TOR ต่อ ครม. ได้ในช่วง ส.ค.- ก.ย. 2560 มั่นใจจะช่วยดึงดูดนักลงทุนร่วมประมูลเพื่อรักษาระดับก๊าซในประเทศให้เทียบเคียงปัจจุบันมากที่สุด ในขณะที่วงในเผยยักษ์ใหญ่วงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้ง จีน ตะวันออกกลาง ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น กำลังแต่งตัวเพื่อเตรียมเข้าร่วมประมูลครั้งนี้ (อ่านประกอบ : http://energynewscenter.com/index.php/news/detail/879)

ด้าน นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์เฟซบุ๊ก “Thirachai Phuvanatnaranubala” เห็นแย้งกับคำให้สัมภาษณ์ของรองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ โดยระบุว่า รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงฯ กล่าวถึงศักยภาพปิโตรเลียมในไทย ข้อ 1. ระบุว่า การผลิตก๊าซจำนวนเท่ากัน ในอ่าวไทยจะต้องเจาะหลุมจำนวนมากกว่าเมียนมาหลายเท่าตัว “จึงจำเป็นต้องสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาสำรวจและผลิตก๊าซ ให้ใกล้เคียงกับปัจจุบันมากที่สุด”

ผมขอทักท้วงด้วยความเคารพนะครับ วิธีสร้างแรงจูงใจที่ดีที่สุด ก็คือ ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) และประมูลแข่งขันกันโปร่งใส โดยรัฐไม่กำหนดสัดส่วนขั้นต่ำที่เอกชนจะต้องแบ่งให้รัฐ เป็นตัวเลขที่สูงเกินไป โดยรัฐจัดทำ Data Room เพื่อให้เอกชนทุกรายประเมินศักยภาพได้เองอย่างชัดเจน โดยรัฐกำหนดคุณสมบัติที่จะ pre-qualify เอกชนเข้าประมูล ที่พอเหมาะพอสม ไม่เป็นการกีดกันรายที่มีศักยภาพ และโดยมีจำนวนเอกชนที่เข้าประมูล มากกว่าจำนวนแปลงที่จะประมูล เป็นกี่เท่าๆ ตามที่กำหนดไว้ เพราะถ้าเอกชนประเมินว่า แปลงใดมีศักยภาพต่ำ เอกชนก็จะพากัน เสนอสัดส่วนแบ่งให้รัฐต่ำลง ที่พอดีเหมาะสมกับศักยภาพ โดยอัตโนมัติ ข้าราชการไทยไม่จำเป็นต้องไปคิดเดือดร้อนแทนเอกชนแม้แต่น้อย

ข้อ 2. รองอธิบดีฯ ระบุด้วยว่ากรมฯ ได้กำหนดกติกาสำหรับ PSC โดยเทียบเคียงกับ “แหล่งก๊าซธรรมชาติร่วมไทย - มาเลเซีย (JDA)” ที่ใช้ระบบ PSC เช่นกัน ผมขอทักท้วงว่ากรณี JDA ผู้รับสัญญาในขณะนั้นเป็นรัฐวิสาหกิจของสองประเทศที่รัฐถือหุ้น 100% มิได้เปิดให้เอกชนทั่วไปเข้ามาแข่งขัน และเงื่อนไขก็มิได้เกิดจากการประมูลโปร่งใส จึงไม่สามารถนำ JDA มาใช้เป็นหลักสำหรับกรณีที่เอกชนจะมีการแข่งขันกันเต็มที่ นอกจากนี้ ท่านกำลังออกแรงทำงานเกินกว่าเหตุ หรือไม่ครับ เพราะถ้าใช้วิธีประมูลโปร่งใสแบบคลื่นโทรศัพท์ 4 จี กรมฯ จะต้องกำหนดกติกาอะไรอีก หรือครับ ข้าราชการเพียงแต่นั่งทับมือตนเองไว้ ไม่ต้องไปยกขึ้นแทรกแซงการประมูลโปร่งใส ก็จะยังไม่เรียบร้อย หรือครับ

สุดท้ายท่านกล่าวด้วยว่า “ไม่ว่าจะใช้ระบบใด เชื่อว่าทุกระบบมีความใกล้เคียงกันโดยเฉพาะการรักษาผลประโยชน์ของประเทศให้ดีที่สุด” ผมจึงต้องทักท้วงอีกเช่นกัน กรณีถ้าหากสมมติกรมฯ มีการเสนอให้ใช้ระบบสัมปทานตามเงื่อนไข Thailand 3 แทน PSC โดยอ้างว่าผลตอบแทนจะใกล้เคียงกัน ภาคประชาชนก็อาจจะฟ้องร้อง เพื่อเรียกให้กรมฯ นำหลักฐานมาแสดงยืนยันดังกล่าว รวมทั้งหลักฐานที่ยืนยันได้ว่า ประเทศได้ประโยชน์สูงสุด เพราะถ้าหากยืนยันไม่ได้ กรมฯ อาจจะเข้าข่ายละเมิดมาตรา 164 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ ซึ่งบัญญัติให้รัฐต้องดำเนินการให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุด


กำลังโหลดความคิดเห็น