“กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ” แย้มร่างเงื่อนไข TOR เปิดประมูลแหล่งก๊าซเอราวัณและบงกชในระบบ PSC หวังราคาก๊าซต้องไม่สูงไปกว่าเดิม หวั่นค่าไฟสูง จ่อเลิกสูตรอิงราคาน้ำมันเตา แต่จะเป็นสูตรอิงราคาแอลเอ็นจี หรือน้ำมันดิบที่ทิศทางถูกลงแทน พร้อมกำหนดสัดส่วนการจ้างแรงงานไทยเพื่อป้องกันการตกงานไม่ว่ารายใหม่หรือเก่าได้
นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า หลังจาก ครม.เห็นชอบหลักเกณฑ์การประกาศประมูลแหล่งปิโตรเลียมรายภาค โดยในอ่าวไทยใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตหรือ PSC ดังนั้น กรมฯจะเร่งเสนอร่างประมูลแข่งขัน (TOR) แหล่งสัมปทานที่จะหมดอายุปี 2565-2566 คือ แหล่งเอราวัณ และบงกช ต่อคณะกรรมการปิโตรเลียม และคาดว่าเมื่อได้รับการอนุมัติจากกระทรวงพลังงานก็คงจะเข้าสู่ที่ประชุม ครม.เดือนกันยายนนี้และเปิดให้เอกชนเสนอแข่งขันได้ปลายเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้ ขณะที่การประมูลแหล่งอื่นๆ จะเปิดให้ยื่นแข่งขันได้ภายใน 3 เดือนถัดจากการพิจารณา 2 แหล่งนี้เสร็จสิ้น
สำหรับหลักเกณฑ์ PSC จะกำหนดคำนวณจากรายได้ที่พบปิโตรเลียม แบ่งเป็นค่าภาคหลวง10% กำหนดการหักค่าใช้จ่าย 50% เหลืออีก 40%จะเป็นการแบ่งครึ่ง หรือ 50% ทั้งรายได้และการลงทุนของภาครัฐและเอกชน หรือที่เรียกว่า PROFIT SHARING โดยส่วนนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ภาคเอกชนสามารถเสนอตัวเลขเพื่อแข่งขันได้ ขณะที่ร่าง TOR นั้นจะกำหนดให้เอกชนเสนอเรื่องการวางแผนผลิตให้ต่อเนื่องในอัตราที่เหมาะสม รวมถึงการต้องจ้างแรงงานคนไทย และราคาก๊าซฯ ที่จำหน่ายจะต้องไม่สูงกว่าเดิมมากนัก
อย่างไรก็ตาม ก๊าซอ่าวไทยเดิมมีสัญญาซื้อขายที่อ้างอิงราคาน้ำมันเตาย้อนหลัง 6-12 เดือน ดังนั้น กรมฯ กำลังติดตามสถานการณ์ราคาก๊าซฯ ทั่วโลกอย่างใกล้ชิด รวมทั้งราคาน้ำมันดิบและราคาน้ำมันเตา เพราะสูตรนี้อาจจะไม่เหมาะสมสำหรับการประมูลแบบ PSC และอาจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์การลงทุนที่ผู้ลงทุนต้องลงทุนสูงขึ้น ขณะที่ปริมาณสำรองลดน้อยลง เพราะมีการผลิตไปแล้ว 40 ปีจึงต้องพิจรณาว่าควรจะปรับสูตรใหม่ที่อ้างอิงราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ระยะยาวหรือน้ำมันดิบ
“การจะปรับสูตรรับซื้อก๊าซเอราวัณ-บงกช ก็จะให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงทั้งราคาโลกและการลงทุนใหม่ที่จะสูงขึ้น โดยหลักเกณฑ์ก็จะให้ได้ราคาที่ไม่สูงไปกว่าเดิมมากนัก เพื่อไม่ให้กระทบค่าไฟฟ้า ส่วนพนักงานขุดเจาะสำรวจไม่ว่าจะเปลี่ยนเป็นรายใหม่หรือไม่ ทางกรมฯ จะมีการกำหนดเรื่องการใช้พนักงานคนไทยอาจกำหนดสัดส่วนจ้างงานคนไทย 70-80% เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตกงาน รวมถึงผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องมีประสบการณ์ในการสำรวจและผลิตในแหล่งปิโตรเลียมทั่วโลกที่มีกำลังผลิตไม่น้อยกว่าแหล่งเอราวัณ-บงกช นอกจากนี้ กรมฯ จะเจรจากับ บมจ.ปตท.ถึงหลักเกณฑ์การรับซื้อก๊าซฯ ว่าจะใช้รูปแบบใดที่สอดคล้องกับข้อกำหนดของภาครัฐ” นายวีรศักดิ์กล่าว
ปัจจุบันผู้ดำเนินการ หรือโอเปอร์เรเตอร์ แหล่งเอราวัณ ได้แก่ บริษัท เชฟรอน ประเทศไทย สำรวจและผลิต ส่วนแหล่งบงกช คือ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) ซึ่งผู้บริหาร ปตท.สผ.เคยระบุก่อนหน้านี้ว่าเตรียมพร้อมศึกษาเพื่อเข้าประมูลทั้ง 2 แหล่งที่มีกำลังผลิตใหญ่ที่สุดในอ่าวไทย ปัจจุบันผลิตรวมกัน 2,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และกรมเชื้อเพลิงฯ คาดว่ากำลังผลิตจะลดลงเหลือ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตั้งแต่ปี 2564-2566