xs
xsm
sm
md
lg

ส่อประเคน “บงกช-เอราวัณ” ผู้สัมปทานเจ้าเดิม “ธีระชัย” เตือนเจอ 157 แน่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง(ภาพจากแฟ้ม)
อดีต รมว.คลัง จับทางอธิบดีกรมเชื้อเพลิงฯ ส่อเสนอให้ใช้ระบบสัมปทานในแหล่งเอราวัณ - บงกช แทนที่ระบบแบ่งปันผลผลิต เพื่อให้ผู้รับสัมปทานรายเดิมได้ทำธุรกิจต่อไป ทั้งที่พิสูจน์แล้วว่ามีปริมาณปิโตรเลียมมหาศาล ต้องประมูลโปร่งใส ขณะกฎหมายใหม่ ระบุ ให้ใช้ระบบสัมปทานเฉพาะแหล่งที่ยังไม่รู้ปริมาณเท่านั้น เตือนถ้ายังฝืน ผิด ม.157 แน่

วันนี้ (2 ก.ค.) เวลา 08.04 น. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala กรณีที่ นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับแหล่งผลิตปิโตรเลียมเอราวัณ และบงกช ที่สัมปทานจะหมดอายุใน 5 - 6 ปีข้างหน้า โดยระบุว่า สองแหล่งนี้ ผลิตก๊าซ 3 ใน 4 ของปริมาณที่ผลิตทั้งหมดในอ่าวไทย จึงมีมูลค่ามหาศาล และถ้าจะเกิดผลประโยขน์แก่ใคร ก็จะเป็นผลประโยชน์ที่มโหฬารมหาศาล

นายธีระชัย กล่าวว่า ตามข่าวสาธารณะที่ผ่านมา กระทรวงพลังงาน แสดงท่าทีรวมๆ กันหลายครั้ง ที่ทำให้ผู้อ่านข่าวหลายคนตีความกันได้ว่า มีแนวโน้มอยากจะสนับสนุนให้ผู้รับสัมปทานรายเดิมได้ทำธุรกิจต่อไป แต่ทั้งนี้ พ.ร.บ. ปิโตรเลียม ห้ามมิให้มีการต่อสัมปทานไปอีก กระทรวงพลังงานจึงได้แก้ไข เพิ่มทางเลือก สัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) แต่ในการคัดเลือกเอกชนเพื่อจะให้สิทธิทำธุรกิจนั้น ระหว่างระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) กับ ระบบสัมปทาน ปฏิบัติแตกต่างกันอย่างฟ้ากับเหว

เพราะในระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) รัฐได้รับส่วนแบ่ง ดังนั้น การคัดเลือกจะต้องใช้วิธีประมูลโปร่งใสเท่านั้น เพื่อเลือกเอกชนรายที่เสนอสัดส่วนให้แก่รัฐสูงสุด แต่ในระบบสัมปทาน ถึงแม้จะมีบางคนพยายามเรียกว่าเป็นการ “ประมูล” แต่ในข้อเท็จจริง มิได้เป็นการประมูลตามนัยของกฎหมาย เพราะการพิจารณาจะเปรียบเทียบตัวเลขปริมาณงานปริมาณเงิน ตามที่เอกชนแจ้ง โดยอ้างว่า ผู้ที่เสนอตัวเลขปริมาณงานปริมาณเงินที่สูงกว่า จะทำประโยชน์ให้แก่รัฐมากกว่า

แต่ตัวเลข “ปริมาณงานปริมาณเงิน” นั้น เป็นองค์ประกอบของการทำงาน ภาษาอังกฤษเรียกว่า Input จึงเป็นปัจจัยเฉพาะของเอกชนแต่ละราย และไม่สามารถกำหนดสูตรใดๆ ที่จะแปร “ปริมาณงานปริมาณเงิน” ออกเป็นตัวเลขผลสำเร็จ (Output) ได้ เพราะเอกชนรายที่เก่งน้อยกว่า หรือมีเทคโนโลยีที่ล้าหลังกว่า ถึงแม้จะใช้ “ปริมาณงานปริมาณเงิน” ที่เท่ากัน ก็จะยังได้ผลผลิตที่ต่ำกว่า

ส่วนการประมูลที่แท้จริงตามกฎหมายนั้น จะต้องเปรียบเทียบผลประโยชน์ที่รัฐได้รับ ตัวต่อตัว จึงเป็นการเปรียบเทียบผลลัพธ์ หรือที่เรียกว่า Output / Outcome แต่การเปรียบเทียบ Input ของเอกชนแต่ละราย ที่ย่อมจะโง่ / ฉลาดต่างกันนั้น ไม่ใช่การประมูลตามกฎหมาย

ถ้าพิจารณาคำสัมภาษณ์ของอธิบดีฯ “... ส่วนการประมูล แหล่งบงกช / เอราวัณ จะใช้รูปแบบใด ซึ่งคณะกรรมการปิโตรเลียมจะกำหนด หากอ่าวไทย เลือกเปิดแบบสัมปทาน ดังนั้น 2 แหล่งนี้ก็จะใช้แนวทางแบบสัมปทานก่อน” นายวีระศักดิ์ กล่าว จึงย่อมมีผู้อ่านข่าวที่สงสัย ต้องเตือนให้ระวัง อาจจะมีการจัดฉากเพื่อสร้างผลประโยชน์

อาจจะมีการเดินเกม หวังให้คณะกรรมการปิโตรเลียมชงเรื่องเสนอรัฐมนตรีพลังงาน ว่า สำหรับอ่าวไทย ยังจำเป็นต้องใช้ระบบสัมปทาน เพื่ออาจจะเล็งหวังให้รัฐมนตรีพลังงาน อ้างว่า ตนเองจำเป็นต้องทำตามคณะกรรมการ สำหรับ 2 แปลง มโหฬาร มหาศาลนี้ ก็เลยจะต้องใช้ระบบสัมปทานต่อไป

เพียงแต่จะอ้างว่า เป็นการเปิดสัมปทานใหม่ และทุกคนที่สนใจร่วมยื่นได้ วิธีนี้ก็จะสามารถใช้กระบวนการคัดเลือกเอกชน โดยคณะกรรมการภาครัฐ โดยใช้ดุลพินิจ ให้คะแนนประกวดความงาน เหมือนกับที่เคยชี้นิ้ว ทุกครั้งที่ผ่านมา กระบวนการทำนองนี้ จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ประชาชนบางคน เขาเริ่มกังวล ว่าอาจจะมีการดำเนินการอย่างนี้

“แต่ผมมีข้อสังเกต 1. สองแหล่งนี้ มีปิโตรเลียมอย่างแน่นอนอยู่แล้ว ผลิตมาต่อเนื่องหลายสิบปีแล้ว และยังจะผลิตต่อเนื่องไปอีกนานมาก ข้อมูลนี้ ข้าราชการทั้งปวงทราบดี ดังนั้น ถ้ารัฐไม่ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต ที่มีการประมูลโปร่งใส แต่ดื้อดึงไปใช้ระบบสัมปทาน รัฐจะพิสูจน์แก่ประชาชนได้อย่างไรว่า ประเทศได้ประโยชน์สูงสุดตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 164 กำหนดไว้ เพราะเงื่อนไขใดๆ ไม่ว่าจะอ้างตามไทยแลนด์ 3 หรือไทยแลนด์ 4 หรือ 4.0 ใดๆ ก็ไม่เป็นข้อพิสูจน์ว่า ประเทศได้ประโยชน์สูงสุด

“2. ในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 164 นั้น พื้นที่ที่จะใช้ระบบสัมปทานได้ จะต้องมีเงื่อนไขเฉพาะ ไม่ใช่ทุกที่ ทุกแห่ง แต่ย่อมจะต้องหมายเฉพาะถึงพื้นที่ที่ยังไม่มีการพิสูจน์การมีปิโตรเลียมอย่างแน่แท้ เท่านั้น ผมจึงขอเตือนว่า ถ้าคณะกรรมการปิโตรเลียม หรือ กระทรวงพลังงาน หรือ รัฐบาล ปฏิบัติฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด ก็จะมีความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 157 สถานเดียว” นายธีระชัย ระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น