xs
xsm
sm
md
lg

“อนันตพร” ยันเอกชน 10 รายสนประมูลเอราวัณ/บงกช - สิ้นปีนี้รู้ชะตาโรงไฟฟ้าถ่านหิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อนันตพร” แย้มเอกชนไทย-เทศแห่แสดงความสนใจร่วมประมูลเอราวัณ-บงกชอย่างไม่เป็นทางการแล้วถึง 10 ราย ให้รอดูวันซื้อเอกสารประมูลคาดเปิดให้ยื่นประมูลได้ ก.ค. 60 ย้ำรูปแบบประมูลต้องรอผลศึกษา ขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ จะรู้ชัดเจนว่าเดินหน้าหรือยกเลิกไม่เกินสิ้นปีนี้
 


พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การเปิดประมูลให้เอกชนมายื่นสิทธิ์สำรวจและผลิตในแหล่งก๊าซเอราวัณและบงกชที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานฯ ปี 65-66 ขณะนี้ได้รับรายงานว่ามีเอกชนแสดงความสนใจมาแล้วประมาณ 10 ราย อย่างไรก็ตาม คงจะต้องรอความชัดเจนในการซื้อซองประมูลว่าที่สุดจะมีกี่ราย ซึ่งกระทรวงพลังงานจะพยายามเร่งรัดการเปิดประมูลให้เป็นไปตามกรอบกำหนดเดิมในเดือน ก.ค. 60 นี้

ทั้งนี้ หลังจากร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมและภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ... ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระ 3 แล้วก็รอการประกาศบังคับใช้ ซึ่งขั้นตอนกระทรวงพลังงานก็จะออกกฎหมายลูก 5 ฉบับ กับ 1 ประกาศรองรับ เพื่อดำเนินการ คาดว่าจะเข้า ครม.เดือน มิ.ย. 2560 ขณะเดียวกัน ทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเองอยู่ระหว่างหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อกำหนดรูปแบบการประมูลใน 2 แหล่งว่าจะใช้รูปแบบใดซึ่งภายใต้ พ.ร.บ.ใหม่จะมี 3 รูปแบบ ได้แก่ สัมปทาน ระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) และสัญญาจ้างบริการ (SC) โดยจะเป็นรูปแบบใดก็จะต้องยึดหลักกติกาสากล เช่น ปริมาณสำรอง ราคาน้ำมัน ฯลฯ

“รูปแบบจะเป็นอย่างไรก็ต้องรอการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการปิโตรเลียม จากนั้นจะเสนอคณะกรรมการปิโตรเลียมก่อนนำมาเสนอที่ผม แล้วนำเสนอ ครม.เห็นชอบ ไม่เกิน พ.ค. และคาดว่าร่างเงื่อนไขหลักเกณฑ์ต่างๆ หรือ Bidding TOR ก็น่าจะออกมาได้ช่วง มิ.ย. และเปิดประมูลได้ ก.ค. ตามที่กระทรวงฯ พยายามเร่งรัด แต่หากเร่งรัดแล้วเกิดความเสียหายอาจจะล่าช้าไปเอกชนเองก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร คือพยายาม” รมว.พลังงานกล่าว

ส่วนกรณีที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้จัดรับฟังความเห็นกลุ่มย่อยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และนักวิชาการ หรือโฟกัสกรุ๊ป เมื่อเร็วๆ นี้และจะกำหนดจัดใหม่อีกครั้งวันที่ 20 เมษายนไม่ได้มีปัญหาอะไร เป็นขั้นตอนเพื่อให้เกิดความชัดเจนซึ่งเอกชนอยากให้เร่งดำเนินการโดยเร็ว และอยากทราบว่าสำรองมีมากแค่ไหนถ้ามากระบบใดก็ได้ เราจึงต้องฟังเสียงทุกฝ่าย ส่วนการจัดตั้งคณะทำงานศึกษาการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ (NOC) ขณะนี้ทาง สนช.ยังไม่ได้ส่งข้อสังเกตุมาที่ ครม.แต่ก็ได้ประชุมกับทุกส่วนเพื่อพิจารณาว่าให้ใครศึกษาจึงจะเหมาะสมที่จะเสนอ ครม. โดยก่อนหน้าวาระ1ได้มอบให้คลังศึกษาหากศึกษาเสร็จยอมรับได้ก็ใช้ของคลังแต่หากไม่ยอมรับก็อาจจะต้องเริ่มศึกษาใหม่ที่จะต้องให้มีรูปแบบของคณะทำงานที่มีตัวแทนจากทุกภาคส่วนซึ่งกระทรวงพลังงานไม่มีปัญหาใดๆ

สำหรับกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ภายในไม่เกินสิ้นปีนี้จะต้องเร่งตัดสินใจว่าที่สุดจะเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ ภายหลังที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เปิดรับฟังและชี้แจงประชาชนในพื้นที่แล้วและขั้นตอนก็จะสรุปความเห็นดังกล่าวมา อย่างไรก็ตาม มีเอกชนเสนอให้รับซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียที่เป็นสัญญาระยะยาวไว้รองรับนั้นจำเป็นต้องคำนึงถึงความมั่นคงด้วย เพราะหากโรงไฟฟ้ามาเลเซียเป็นถ่านหินอยู่ชายแดนแล้วซื้อมาทำไมไทยไม่สร้างเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น