xs
xsm
sm
md
lg

สัมปทาน"บงกช-เอราวัณส่อ"เจ้าเดิม ชี้ขัดกม.ปิโตรฯชัด "ธีระชัย"เตือนรัฐเจอม.157แน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อดีตรมว.คลัง จับทางอธิบดีกรมเชื้อเพลิงฯ ส่อเสนอให้ใช้ระบบสัมปทานในแหล่ง"เอราวัณ - บงกช" แทนระบบแบ่งปันผลผลิต เพื่อให้ผู้รับสัมปทานรายเดิมได้ทำธุรกิจต่อไป ทั้งที่พิสูจน์แล้วว่ามีปริมาณปิโตรเลียมมหาศาล ต้องประมูลให้โปร่งใส ขณะที่กฎหมายใหม่ ระบุให้ใช้ระบบสัมปทานเฉพาะแหล่งที่ยังไม่รู้ปริมาณเท่านั้น เตือนถ้ายังฝืน เจอม.157 แน่

วานนี้ (2 ก.ค.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala กรณีนายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับแหล่งผลิตปิโตรเลียม เอราวัณ และบงกช ที่สัมปทานจะหมดอายุใน 5-6 ปีข้างหน้า โดยระบุว่า สองแหล่งนี้ผลิตก๊าซ 3 ใน 4 ของปริมาณที่ผลิตทั้งหมดในอ่าวไทย จึงมีมูลค่ามหาศาล และถ้าจะเกิดผลประโยขน์แก่ใคร ก็จะเป็นผลประโยชน์ที่มหาศาล

นายธีระชัย ระบุว่า ตามข่าวสาธารณะที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานแสดงท่าทีรวมๆกันหลายครั้ง ที่ทำให้ตีความกันได้ว่า มีแนวโน้มสนับสนุนให้ผู้รับสัมปทานรายเดิมได้ทำธุรกิจต่อไป แต่ทั้งนี้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ห้ามมิให้มีการต่อสัมปทานไปอีก กระทรวงพลังงาน จึงได้แก้ไข เพิ่มทางเลือกสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC)แต่ในการคัดเลือกเอกชนเพื่อจะให้สิทธิทำธุรกิจนั้น ระหว่างระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต(PSC)กับ ระบบสัมปทาน ปฏิบัติแตกต่างกันอย่างฟ้ากับเหว

เพราะในระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต(PSC)รัฐได้รับส่วนแบ่ง ดังนั้นการคัดเลือกจะต้องใช้วิธีประมูลโปร่งใสเท่านั้น เพื่อเลือกเอกชนรายที่เสนอสัดส่วนให้แก่รัฐสูงสุด แต่ในระบบสัมปทานถึงแม้จะมีบางคนพยายามเรียกว่าเป็นการ“ประมูล”แต่ในข้อเท็จจริง มิได้เป็นการประมูลตามนัยของกฎหมาย เพราะการพิจารณาจะเปรียบเทียบตัวเลขปริมาณงาน ปริมาณเงิน ตามที่เอกชนแจ้ง โดยอ้างว่าผู้ที่เสนอตัวเลขปริมาณงาน ปริมาณเงินที่สูงกว่า จะทำประโยชน์ให้แก่รัฐมากกว่า

แต่ตัวเลข“ปริมาณงานปริมาณเงิน”นั้น เป็นองค์ประกอบของการทำงาน ภาษาอังกฤษเรียกว่า Input จึงเป็นปัจจัยเฉพาะของเอกชนแต่ละราย และไม่สามารถกำหนดสูตรใดๆที่จะแปร “ปริมาณงานปริมาณเงิน”ออกเป็นตัวเลขผลสำเร็จ(Output)ได้ เพราะเอกชนรายที่เก่งน้อยกว่า หรือมีเทคโนโลยีที่ล้าหลังกว่า ถึงแม้จะใช้“ปริมาณงานปริมาณเงิน”ที่เท่ากัน ก็จะยังได้ผลผลิตที่ต่ำกว่า

ส่วนการประมูลที่แท้จริงตามกฎหมายนั้น จะต้องเปรียบเทียบผลประโยชน์ที่รัฐได้รับ ตัวต่อตัว จึงเป็นการเปรียบเทียบผลลัพธ์ หรือที่เรียกว่า Output /Outcome แต่การเปรียบเทียบ Inputของเอกชนแต่ละราย ที่ย่อมจะโง่ / ฉลาด ต่างกันนั้น ไม่ใช่การประมูลตามกฎหมาย

ถ้าพิจารณาคำสัมภาษณ์ของอธิบดีฯ “...ส่วนการประมูล แหล่งบงกช / เอราวัณ จะใช้รูปแบบใด ซึ่งคณะกรรมการปิโตรเลียมจะกำหนด หากอ่าวไทย เลือกเปิดแบบสัมปทาน ดังนั้น 2 แหล่งนี้ ก็จะใช้แนวทางแบบสัมปทานก่อน" นายวีระศักดิ์ กล่าว จึงย่อมมีผู้อ่านข่าวที่สงสัย ต้องเตือนให้ระวัง อาจจะมีการจัดฉากเพื่อสร้างผลประโยชน์

อาจจะมีการเดินเกม หวังให้คณะกรรมการปิโตรเลียม ชงเรื่องเสนอรัฐมนตรีพลังงานว่า สำหรับอ่าวไทยยังจำเป็นต้องใช้ระบบสัมปทาน เพื่ออาจจะเล็งหวังให้รัฐมนตรีพลังงาน อ้างว่าตนเองจำเป็นต้องทำตามคณะกรรมการ สำหรับ 2 แปลง มโหฬาร มหาศาลนี้ ก็เลยจะต้องใช้ระบบสัมปทานต่อไป

เพียงแต่จะอ้างว่า เป็นการเปิดสัมปทานใหม่ และทุกคนที่สนใจร่วมยื่นได้ วิธีนี้ก็จะสามารถใช้กระบวนการคัดเลือกเอกชนโดยคณะกรรมการภาครัฐ โดยใช้ดุลพินิจ ให้คะแนนประกวด เหมือนกับที่เคยชี้นิ้วทุกครั้งที่ผ่านมา กระบวนการทำนองนี้จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ประชาชนบางคนเขาเริ่มกังวล ว่าอาจจะมีการดำเนินการอย่างนี้

"แต่ผมมีข้อสังเกต 1. สองแหล่งนี้ มีปิโตรเลียมอย่างแน่นอนอยู่แล้ว ผลิตมาต่อเนื่องหลายสิบปีแล้ว และยังจะผลิตต่อเนื่องไปอีกนานมาก ข้อมูลนี้ ข้าราชการทั้งปวงทราบดี ดังนั้นถ้ารัฐไม่ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต ที่มีการประมูลโปร่งใส แต่ดื้อดึงไปใช้ระบบสัมปทาน รัฐจะพิสูจน์แก่ประชาชนได้อย่างไรว่า ประเทศได้ประโยชน์สูงสุดตามที่ รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 164 กำหนดไว้ เพราะเงื่อนไขใดๆไม่ว่าจะอ้างตามไทยแลนด์ 3 หรือ ไทยแลนด์ 4 หรือ 4.0 ใดๆ ก็ไม่เป็นข้อพิสูจน์ว่า ประเทศได้ประโยชน์สูงสุด

2. ในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 164 นั้น พื้นที่ที่จะใช้ระบบสัมปทานได้ จะต้องมีเงื่อนไขเฉพาะ ไม่ใช่ทุกที่ ทุกแห่ง แต่ย่อมจะต้องหมายเฉพาะถึงพื้นที่ที่ยังไม่มีการพิสูจน์การมีปิโตรเลียมอย่างแน่แท้ เท่านั้น ผมจึงขอเตือนว่า ถ้าคณะกรรมการปิโตรเลียม หรือกระทรวงพลังงาน หรือรัฐบาล ปฏิบัติฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด ก็จะมีความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 157 สถานเดียว" นายธีระชัย ระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น