“รสนา” ชี้ รัฐอำพรางหักดิบแก้กฎหมาย ยกปิโตรเลียมแปลงเอราวัณและบงกช ให้สัมปทานแก่เอกชนแบบเดิม เชื่อจะเป็นข้ออ้างในอนาคตให้สัมปทานกันตลอดไปชั่วกัลปาวสาน ตั้งข้อสงสัยทุ่มเททำเพื่อประโยชน์ของใคร? และทำให้กันแบบฟรีๆ หรือไม่?
วันนี้ (2 ก.ค.) เมื่อเวลา 00.22 น. น.ส.รสนา โตสิตระกูล หนึ่งในแกนนำ คปพ. ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก รสนา โตสิตระกูล หัวข้อเรื่อง “เปิดประมูลแหล่งเอราวัณและบงกชใน “ระบบสัมปทาน” ขัดกฎหมาย เพื่อเอื้อประโยชน์ใคร?” ว่า
การแก้ไข พ.ร.บ. ปิโตรเลียม 2514 (ฉบับที่ 7) ที่เพิ่งประกาศใช้เป็นกฎหมายเมื่อ 22 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา เป็นเพียงการอำพรางว่าได้แก้ไขเพื่อเพิ่มระบบใหม่ขึ้นมา คือ ระบบแบ่งปันผลผลิต และระบบจ้างผลิต
ที่ต้องแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียม เพราะแปลงเอราวัณ และบงกช ตาม พ.ร.บ. ปิโตรเลียม 2514 เข้าเงื่อนไขห้ามต่อสัมปทานให้เอกชนอีก จึงจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายเพิ่มระบบอื่นขึ้นมา แต่ก็ทำให้ระบบใหม่พิกลพิการ ใช้ไม่ได้เพื่ออำพรางว่ากฎหมายมีถึง 3 ระบบให้เลือกใช้
ขณะนี้ได้มีการประกาศชัดเจนว่าในแปลงเอราวัณ และ บงกช จะนำสัมปทานมาใช้อีก โดยเลี่ยงบาลีว่า ไม่ใช่การ “ต่อสัมปทาน” แต่เป็นการ “เปิดสัมปทานใหม่” ต่างหาก
การกระทำเช่นนี้ เป็นการเลี่ยงกฎหมาย และเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ห้ามใช้ระบบสัมปทานอีก เมื่อให้สัมปทานผลิตแก่เอกชนครบ 2 ครั้งแล้ว ใช่หรือไม่?
การที่กฎหมายบัญญัติเช่นนี้ เพื่อให้กรรมสิทธิ์ในปิโตรเลียมกลับมาเป็นของรัฐ หลังจากเปิดโอกาสให้เอกชนมาบุกเบิกและได้รับประโยชน์จากทรัพยากรของประเทศไปอย่างเต็มที่แล้วในระยะเวลา 30 - 40 ปี ที่ผ่านมา
แม้แต่ในหลวงรัชกาลที่ 7 ก็เคยทรงมีพระราชดำริว่าเมื่อการให้ประทานบัตร (สัมปทาน) บ่อศิลา (ถ่านหิน) สิ้นสุดลงแล้ว ให้สงวนบ่อถ่านศิลานั้นไว้เพื่อรัฐบาลทำเอง ไม่ให้สัมปทานกับเอกชนอีก การที่รัฐบาลจะดำเนินการต่อไปจึงควรเป็นระบบที่มีหน่วยงานของรัฐเข้าไปร่วมดำเนินการด้วย ไม่ใช่ระบบสัมปทานที่เอกชนได้สิทธิผูกขาดแบบเดิมอีกต่อไป
ซึ่งไม่ต่างจากสัมปทานอื่นๆ ที่รัฐให้เอกชน เช่น สัมปทานทางด่วน ที่มีหน่วยงานของรัฐ คือ การทางพิเศษเป็นผู้บริหารด้วย เมื่อครบอายุสัมปทานแล้ว ทางด่วนนั้นตกเป็นของรัฐ การทางพิเศษก็สามารถบริหารทางด่วนนั้นอย่างต่อเนื่องต่อไปโดยผลประโยชน์ตกเป็นของรัฐอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
แต่กรณีสัมปทานของเอราวัณและบงกช ที่มีมูลค่าปีละประมาณ 2 แสนล้านบาท รัฐบาลกลับไม่ให้ตั้ง
“บรรษัทพลังงานแห่งชาติ” มาดูแลผลประโยชน์ปิโตรเลียมแบบ “การทางพิเศษ” ที่ดูแลผลประโยชน์จากค่าผ่านทางด่วน แม้มีมูลค่าเพียงประมาณปีละ 2 หมื่นล้านบาทเท่านั้น
การยกสัมปทาน 2 แปลงนี้ให้เอกชนอีก 10 ปี เท่ากับยกมูลค่าปิโตรเลียมให้เอกชนไปถึง 2 ล้านล้านบาท และเมื่อให้สัมปทานเอกชนอีก ก็ต้องให้สัมปทานกันตลอดไป เพราะข้ออ้างว่า หากไม่ต่อสัมปทาน จะกระทบความมั่นคงทางพลังงานช่วงรอยต่อ ที่กำลังการผลิตลดลง เพราะรัฐบาลไม่มีหน่วยงานที่สามารถรับช่วงงานได้โดยต่อเนื่อง ก็จะมีข้ออ้างนี้เพื่อต่อสัมปทานให้เอกชนต่อไปและต่อไปตลอดชั่วกัลปาวสาน
วิญญูชนควรถามว่า การดื้อรั้นใช้อำนาจเผด็จการโดยให้ผ่านการออกกฎหมายของสภา ที่หักดิบไม่ทำตามผลการศึกษาและข้อเสนอเพื่อแก้ไขจุดอ่อนในกฎหมายปิโตรเลียม 2514 ของ สนช. เอง และหักดิบข้อเสนอของภาคประชาชน เพื่อให้หน่วยงานรัฐสามารถใช้การแก้ไขกฎหมายอำพรางกระบวนการที่จะยกแปลงเอราวัณและบงกชที่มีมูลค่า 2 ล้านล้านบาท ในระบบสัมปทานแบบเดิมให้เอกชนเช่นนี้เป็นการทำเพื่อประโยชน์ของใคร?
และต้องถามว่าที่ทุ่มเททำเพื่อให้สัมปทานแก่เอกชนใน 2 แปลงนี้ เป็นการทำให้กันแบบฟรีๆ หรือไม่?