xs
xsm
sm
md
lg

จี้นายกฯระงับทูลเกล้าฯ พ.ร.บ.ปิโตรเลียมแห่งชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน 360 - คปพ. เปิดโต๊ะแถลงเรียกร้องนายกฯ - ประธาน สนช. ระงับการทูลเกล้าฯ ถวายร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ชี้กระบวนการพิจารณา ตัด ม.10/1 ผิดบังคับการประชุม สนช. และขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญหลายมาตรา แนะแก้ไขใหม่ให้ถูกต้อง หรือให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยป้องกันปัญหาเกิดขึ้นภายหลัง

วานนี้ (25 เม.ย. 2560) เวลาประมาณ 13.00 น. เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้จัดงานแถลงข่าว ณ ห้องประชุมใหญ่ มูลนิธิ 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินนอก เรื่อง “ขอให้นายกรัฐมนตรี และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ระงับการทูลเกล้าฯ ถวายร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ....” เพื่อทบทวนการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และขัดต่อข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

การแถลงข่าวครั้งนี้สรุปความได้ว่า ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. .... ที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560 นั้น ไม่เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไม่คำนึงถึงมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ขาดความรอบคอบ ไม่ระมัดระวังในการดำเนินกิจการต่างๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนส่วนรวม ไม่ยึดถือและไม่ปฏิบัติตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ไม่มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน ไม่มีการวิเคราะห์กฎหมายอย่างรอบด้าน ไม่มีการเปิดเผยผลการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชนในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน

ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. .... ดังกล่าว ยังเป็นร่างกฎหมายที่ขัดต่อหลักนิติธรรม อันอาจเป็นการกระทำต่อบทบัญญัติหลายมาตราในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยเฉพาะประเด็น ในคราวประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อพิจารณา พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. .... เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2560 พบว่า มีการกระทำผิดข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยตัดมาตรา 10/1 ออก โดยไม่ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการฯ ตามข้อบังคับ และไม่ได้มีการลงมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

การที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตัดสินใจให้มีการลงมติในวาระที่ 2 และ 3 ในวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2560 เป็นที่น่าเคลือบแคลงสงสัยว่ามีเจตนาเพื่อที่จะ “ชิงตัดหน้าลงมติ” พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. .... ให้แล้วเสร็จก่อนการลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560 เพียงเพื่อหวังที่จะได้หลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามขั้นตอนก่อนการตรากฎหมายในมาตรา 77 วรรคสอง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ใช่หรือไม่

ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. .... เป็นกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศ รวมทั้งส่งกระทบต่อประชาชนและชุมชนตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา 43 (2) ว่าด้วยการจัดการ บำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมนั้น ต้องรับฟังความเห็นประชาชนอย่างกว้างขวางและรอบด้าน

กฎหมายปิโตรเลียมเป็นกฎหมายที่สำคัญเป็นกติกาที่ใช้บริหารทรัพยากรปิโตรเลียมที่มีมูลค่าประมาณปีละ 4-5 แสนล้านบาท เฉพาะมูลค่าปิโตรเลียมจากแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช มีมูลค่าปีละประมาณ 2 แสนล้านบาท ดังนั้นก่อนการตรากฎหมายปิโตรเลียม ยิ่งควรที่จะมีการรับฟังความเห็นของผู้เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวาง และวิเคราะห์ผลกระทบอย่างรอบด้านและเป็นระบบ ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. .... ยังมิได้มีการดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแต่ประการใด

ตามนิติประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาในสภานิติบัญญัติ หากร่างกฎหมายใดไม่ผ่านกระบวนวิธีทางนิติบัญญัติที่ถูกต้องและมีบทบัญญัติที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ร่างกฎหมายนั้นย่อมไม่อาจประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ และไม่สมควรที่จะนำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยให้เป็นที่ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท

จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณาระงับการทูลเกล้าร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. .... เพื่อมาทบทวนกระบวนการวิธีนิติบัญญัติที่ไม่ถูกต้อง รวมถึงกระบวนการตรากฎหมายที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และดำเนินการเสียใหม่ให้ถูกต้อง หรือหากมีความเห็นแย้งตามหลักฐานที่เป็นประจักษ์ชัดข้างต้นแล้ว ขอได้โปรดพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายเพื่อนำเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยเพื่อให้ได้ข้อยุติดังกล่าวเสียก่อน เพื่อมิให้มีปัญหาในภายภาคหน้าต่อไป

*** “พรเพชร” ยันตัด ม. 10/1 เป็นไปตามขั้นตอน

ด้าน นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณี น.ส.รสนา โตสิตระกูล แกนนำกลุ่มเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เรียกร้องให้ สนช. ส่งร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เนื่องจากเห็นว่ากระบวนการตรากฎหมายไม่ชอบ หลังจากที่มีการตัดมาตรา 10/1 เกี่ยวกับการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติออกไปเป็นข้อสังเกต โดยไม่มีการให้กรรมาธิการวิสามัญฯ ถอนร่างกลับไปพิจารณาใหม่ว่า ประเด็นดังกล่าวไม่เป็นเหตุให้ต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เนื่องจากกระบวนการพิจารณาได้มีการสอบถามความเห็นชอบจากกรรมาธิการฯ และที่ประชุมสนช.แล้ว ซึ่งไม่จำเป็นต้องลงมติ เนื่องจากเป็นการตัดออก ไม่ใช่การแก้ไขเพิ่มเติม
กำลังโหลดความคิดเห็น