xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.เสียงแตกให้เลือกตั้งพรรคเดียวต่างเบอร์ ค้านอ้าง ปชช.สับสน-หนุนบอกกันเสาไฟฟ้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
“นิพิฏฐ์” อัด กรธ. อคติ วางระบบเลือกตั้งให้ผู้สมัครพรรคเดียวกันต่างเบอร์ทำ ปชช.สับสน ป้องกันซื้อเสียงไม่ได้ ยุส่งเขียนให้สุดๆ ไปเลย เหน็บอย่าให้ถึงขั้นตีลังกาลงคะเเนน ด้าน “วิรัตน์-ศุภชัย” เห็นต่าง มองข้อดีป้องกันส่งเสาไฟฟ้าลงสมัคร ทำ ส.ส.เขตมีบทบาทมากขึ้น

วันนี้ (6 ส.ค.) นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มีการปรับเปลี่ยนหลักการในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เกี่ยวกับเบอร์ผู้สมัคร ส.ส. จากเดิมที่เป็นแบบเขตเดียวเบอร์เดียว ปรับเปลี่ยนเป็นให้ผู้สมัครแต่ละเขตจับสลากเบอร์ของตัวเองตามลำดับการสมัคร ไม่จำเป็นต้องมีเบอร์หมายเลขพรรคเหมือนกันนั้น คงหมายความว่า ต่อไปนี้ ผู้สมัครเเต่ละเขตพื้นที่อาจได้หมายเลขไม่เหมือนกับพรรค ซึ่งเป็นเรื่องเเปลก กรธ. คงคิดนำหลักนี้มาป้องกันการซื้อเสียง แต่ตนว่าคงใช้ไม่ได้ กลับกันจะทำให้คนสับสน มีปัญหาความสับสน ทั้งในเเง่ความสะดวกของผู้หาเสียง และประชาชนผู้ไปลงคะเเนน ใช้แบบเดิมคือให้ผู้สมัครมีหมายเลขเดียวกับพรรคทั้งประเทศน่าจะดีกว่า การซื้อเสียงไม่ได้ขึ้นอยู่กับหมายเลขผู้สมัครอย่างเดียว ไหนว่ากฎหมายที่ออกมาป้องกันการซื้อเสียงได้แล้ว ทำไมไม่คิดในแง่อำนวยความสะดวก สำหรับคนที่อยากไปลงคะเเนน รวมถึงผู้สมัครด้วยเล่า

“แต่ กรธ.เขาจะเอาอย่างนี้ก็ต้องเอา เขาเดินมาทางนี้เเล้ว คงไม่ปรับแก้ ก็ไม่เป็นไร เอาให้มันยากที่สุดเท่าที่คนจะงงไปเลย เพราะ กรธ.คิดแบบมีอคติ คิดบนสมมติฐานว่าทุกคนจ้องจะทุจริต แต่ไม่คิดถึงคนที่เขาไม่ทุจริตบ้าง หลักการเลยออกมาแบบนี้ แต่ผมรับได้หมดไม่เรียกร้องให้เปลี่ยนด้วยเอาให้สุดไปเลย แต่ช่วยเขียนให้คนใส่เสื้อยืด นุ่งกางเกงขาสั้นมาลงคะเเนนได้ด้วย รวมถึงอย่าไปเขียนช่องใหม่ว่าให้คนต้องตีลังกาไปเลือกตั้งก็เเล้วกัน”

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเเนวคิดการจัดเรียงหมายเลขผู้สมัคร ส.ส.แบบใหม่ของ กรธ.ว่ามีข้อดีคือป้องกันนายทุนที่จ้องจะซื้อเสียงแบบทุ่มตลาด ป้องกันการซื้อเสียง หรือเทคนิคจูงใจ โฆษณาแฝงผ่านโลกออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย ที่ไกลเกินควบคุม บทบาท ส.ส.เขตจะมีความหมายมากขึ้น จะเป็นผู้ทำคะแนนเเทบทุกคะแนน เมื่อไปบวกกับการให้ลงคะแนนเเบบเลือกตั้งใบเดียว และยังป้องกันข้อครหากรณีส่งใครลงก็ชนะ หรือส่งเสาไฟฟ้าลงสมัครก็ได้ แต่ก็มีข้อเสียในมิติความสับสนของประชาชน วิธีใหม่อาจมีผลต่อคะแนนบ้าง ถ้าประชาสัมพันธ์ไม่ทั่วถึง และในเเง่กรรมการบริหารพรรค ที่ต้องการช่วยลูกพรรคลงพื้นที่หาเสียงเเต่ละเขตทำได้ยากขึ้น ทำให้พรรคต้องเลือกคนที่ได้รับการยอมรับในพื้นที่โดดเด่นที่สุดมาลงสมัคร

ด้านนายศุภชัย ศรีหล้า อดีต ส.ส.อุบลราชธานี และอดีตรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับแนวคิดใหม่ของ กรธ. การที่เบอร์ผู้สมัคร ส.ส.เขตไม่เหมือนกับพรรค ขจัดปัญหาเดิมที่คนสนใจแต่ว่าเลือกพรรคไหนใครได้เป็นนายกฯ มากกว่าพิจารณาเลือกคนที่ทุ่มเทในพื้นที่ หรือผู้สมัครหน้าตาเเบบไหนที่ทำงานให้เขา ตนเคยคิดไปถึงขนาดว่า ไม่ต้องมีเบอร์ผู้สมัครในเขตเลือกตั้งเลยก็ได้ เรียงรายชื่อตัวอักษรยิ่งจะยุติธรรม ถ้าใครไม่สนใจประชาชน คนก็ไม่เลือก ชาวบ้านจะได้ดูตั้งเเต่หัวจดเท้า แก้ปัญหาเดิมๆ ที่เอาใครก็ได้มาลงสมัคร พอได้เป็นผู้เเทนก็เข้าไปยกเท้าในสภา ทำอะไรก็ได้ ลืมประชาชน ลืมหน้าที่ อีกทั้งการซื้อเสียงในอดีตก็ซื้อกันตามเบอร์ กรธ. กำหนดมาแบบนี้ใช่เลย แก้ปัญหาได้ ช่วยตัดมายาคติเดิมๆ ไม่มีฉากกั้นกลางให้นายทุนหลอกประชาชน ที่ ส.ส.บางคนเป็นเพียงร่างทรง ปล่อยให้นายทุนพรรคคอยชักใยสั่งหันซ้ายหันขวาได้ และตัวตนของ ส.ส.เขต จะชัดเจนมีตัวตนขึ้นทันที พรรคต้องง้อ ส.ส.เขต เพราะเป็นผู้ทำคะเเนนให้ จะมาสั่งการไม่ได้แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น