xs
xsm
sm
md
lg

กรธ.ยันเลือกตั้งระบบใหม่ไมมีเบอร์พรรค ผู้สมัครส.ส.เขตหมายเลขต่างกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้ชี้แจงเกี่ยวกับหลักการนับคะแนนในหน่วยเลือกตั้ง โดยยืนยันว่ามีการพิจารณาแล้ว เห็นข้อดี ที่จะทำให้ทราบผลการเลือกตั้งโดยเร็ว ไม่ต้องเคลื่อนย้ายหีบบัตร ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการทุจริต
ส่วนการกำหนดให้แต่ละเขต ผู้สมัครของพรรคมีเบอร์ต่างกันตามลำดับการสมัครผู้แทน ซึ่งมีการทักท้วงว่า เป็นระบบที่ไม่สนับสนุนระบบพรรคการเมืองนั้น นายนรชิต ก็ยืนยันหลักการ เนื่องมาจากระบบการกาบัตรเบอร์เดียว ทั้งผู้สมัครและพรรคการเมือง และเป็นเรื่องความเท่าเทียมกัน ไม่ให้มีความได้เปรียบเสียเปรียบ
ส่วนกรณีผู้ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง โดยไม่มีเหตุผลสมควร ให้ตัดสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส. สมาชิกสภาท้องถิ่น รวมถึง กำนัน ผู้ใหญ้บ้าน ส.ว. ผู้ดำรงตำแหน่งใดๆ ทางการเมือง หรือองค์กรอิสระ เป็นเวลา 2 ปี และหากเป็นบุคคลที่อยู่ในตำแหน่งเหล่านี้อยู่แล้ว ก็ให้พ้นจากตำแหน่งทันทีนั้น นายนรชิต ชี้แจงโดยยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับการไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพราะไม่เกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับนี้ ตามที่มีสื่อบางฉบับเข้าใจผิดไป
โฆษกกรธ. ยังกล่าวถึงร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้า แม้หลายฝ่ายมีข้อสังเกตว่า ขั้นตอนอาจเกิดการทุจริตได้ แต่ยังยืนยันถึงความจำเป็น อย่างในกรณีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ต้องไปปฏิบัติราชการ หรือไปทำงานนอกสถานที่ หรือไม่สามารถใช้สิทธิ์เลือกตั้งในวันที่ไม่มีการเลือกตั้งได้ โดยเพิ่มเติมให้ลงทะเบียนล่วงหน้า ทั้งแบบถาวร หรือเฉพาะการเลือกตั้งในครั้งนั้นๆ โดยให้การลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าในต่างประเทศ ใช้หลักการเดียวกัน แต่เพิ่มเติมวิธีการให้ลงคะแนนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรืออินเตอร์เน็ตได้ แต่การลงคะแนน ต้องเป็นความลับ รวมถึงมีการกำหนดเพิ่มเติมให้ประกาศผลการเลือกตั้งหากมีการนับคะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของผู้มาใช้สิทธิ์ทั้งหมด ภายใน 7 วัน นับวันจัดการเลือกตั้ง
นอกจากนี้ ที่ประชุม กรธ. ยังได้พิจารณา ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งตัวร่างใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยมีทั้งหมด 110 มาตรา ประกอบด้วยหมวด อำนาจศาล องค์ประกอบศาล การพิจารณาของศาล การทำคำวินิจฉัยหรือคำสั่ง สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และบทเฉพาะกาล ซึ่งหากไม่มีการเปลี่ยนแปลง ก็จะยืนยันหลักการเดิมเกี่ยวกับสถานะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามคุณสมบัติในรัฐธรรมนูญ หากไม่เป็นไปตามคุณสมบัติ ก็ให้พ้นจากตำแหน่ง
ด้านนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง กรณีกรธ. มีการปรับเปลี่ยนหลักการใน ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. เกี่ยวกับเบอร์ผู้สมัครส.ส. จากเดิมที่เป็นแบบเขตเดียว เบอร์เดียว ปรับเปลี่ยนเป็นให้ผู้สมัครแต่ละเขต จับสลากเบอร์ของตัวเองตามลำดับการสมัคร ไม่จำเป็น ต้องมีเบอร์หมายเลขพรรคเหมือนกันนั้น คงหมายความว่า ต่อไปนี้ผู้สมัครเเต่ละเขตพื้นที่ อาจได้หมายเลขไม่เหมือนกับพรรค ซึ่งเป็นเรื่องเเปลก กรธ.คงคิดนำหลักนี้มาป้องกันการซื้อเสียง แต่ตนว่า คงใช้ไม่ได้ ในทางกลับกันจะทำให้คนสับสน ทั้งในเเง่ความสะดวกของผู้หาเสียง และประชาชนผู้ไปลงคะเเนน ควรใช้แบบเดิม คือให้ผู้สมัครมีหมายเลขเดียวกับพรรคทั้งประเทศ น่าจะดีกว่า เพื่ออำนวยความสะดวก สำหรับคนที่ไปลงคะเเนน รวมถึงผู้สมัครด้วย
"แต่ กรธ.เขาจะเอาอย่างนี้ ก็ต้องเอา เขาเดินมาทางนี้เเล้ว คงไม่ปรับแก้ ก็ไม่เป็นไร เอาให้มันยากที่สุดเท่าที่คนจะงงไปเลย เพราะ กรธ.คิดแบบมีอคติ คิดบนสมมติฐานว่า ทุกคนจ้องจะทุจริต แต่ไม่คิดถึงคนที่เขาไม่ทุจริตบ้าง หลักการเลยออกมาเเบบนี้ แต่ผมรับได้หมด ไม่เรียกร้องให้เปลี่ยนด้วย เอาให้สุดไปเลย”นายนิพิฏฐ์ กล่าว
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง เเนวคิดการจัดเรียงหมายเลขผู้สมัคร ส.ส.แบบใหม่ของกรธ. ว่า มีข้อดี คือป้องกันนายทุนที่จ้องจะซื้อเสียงแบบทุ่มตลาด ป้องกันการซื้อเสียง หรือเทคนิกจูงใจ โฆษณาแฝง ผ่านโลกออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย ที่ไกลเกินควบคุม บทบาท ส.ส.เขต จะมีความหมายมากขึ้น จะเป็นผู้ทำคะเเนนเเทบทุกคะเเนน เมื่อไปบวกกับการให้ลงคะเเนนเเบบเลือกตั้งใบเดียว และยังป้องกันข้อครหา กรณีส่งใครลงก็ชนะ หรือ ส่งเสาไฟฟ้าลงสมัครก็ได้
อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อเสียในมิติความสับสนของประชาชน วิธีใหม่อาจมีผลต่อคะเเนนบ้าง ถ้าประชาสัมพันธ์ไม่ทั่วถึง และในเเง่ กรรมการบริหารพรรค ที่ต้องการช่วยลูกพรรคลงพื้นที่หาเสียง เเต่ละเขตทำได้ยากขึ้น ทำให้พรรคต้องเลือกคนที่ได้รับการยอมรับในพื้นที่โดดเด่นที่สุด มาลงสมัคร
กำลังโหลดความคิดเห็น