โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เผย ที่ประชุมพิจารณาร่างกฎหมายลูก ส.ว. เสร็จ มี 200 คน จาก 20 กลุ่ม มีหน้าที่เป็นสภาพลเมือง ต้องไม่เกี่ยวนักการเมือง แต่งวดแรกมี 250 คน ให้ คสช. คัดจาก 200 เหลือ 50 + 194 ที่ คสช. + 6 บิ๊กทหาร ตั้งโทษ 3 ประเด็น จำคุก 1 - 10 ปี ปรับ 20,000 - 200,000 แบน 10 ปี
วันนี้ (5 ส.ค.) ที่โรงแรมรอยัลคลิฟบีช รีสอร์ท แอนด์ สปา จ.ระยอง เมื่อเวลา 09.30 น. การประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นอกสถานที่เป็นวันที่ 3 เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ จำนวน 3 ฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. เป็นประธานการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ซึ่งเป็นฉบับสุดท้ายในการมาพิจารณานอกสถานที่
จากนั้นเวลา 10.00 น. นายนรชิต สิงหเสนี โฆษก กรธ. แถลงว่า ขณะนี้ กรธ. พิจารณาร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้เสร็จแล้ว ซึ่งในเบื้องต้นหลักการที่ กรธ. กำหนดไว้คือ วุฒิสภาต้องไม่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง หรือพรรคการเมืองแยกกันเด็ดขาดระหว่างสภาสูงกับสภาล่าง วุฒิสภาต้องทำหน้าที่เป็น “สภาพลเมือง” ห้ามนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง กรธ. กำหนดไว้ว่า ให้ ส.ว. มี 200 คนมาจาก 20 กลุ่ม ดังนี้ 1. กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง (ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ ทหาร แต่ไม่รวมผู้พิพากษา ตุลาการ อัยการ ตำรวจ ข้าราชการครู และ อาจารย์) 2. กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม (ผู้พิพากษา ตุลาการ อัยการ ตำรวจ ผู้ประกอบวิชาชีพ หรือทางสอนกฎหมายที่มิใช่ข้าราชการ หรือ เจ้าหน้าที่รัฐ) 3. กลุ่มการศึกษา ได้แก่ ครู อาจารย์นักวิจัย และผู้บริหารการศึกษา 4. กลุ่มการสาธารณสุข 5. กลุ่มอาชีพทำนา และปลูกพืชล้มลุก 6. กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง 7. กลุ่มอาชีพพนักงาน หรือลูกจ้างของบุคคลอื่นที่มิใช่หน่วยงานของรัฐ
นายนรชิต กล่าวต่อว่า 8. กลุ่มประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และสาธารณูปโภค 9. กลุ่มประกอบกิจการด้านการค้า ธุรกิจ และอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม 10. ผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สารสนเทศ 11. สตรี 12. คนพิการ ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มอัตลักษณ์อื่นๆ 13. กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี นักกีฬา การแสดงและบันเทิง 14. กลุ่มประชาสังคม กลุ่มองค์กรสาธารณประโยชน์ 15. กลุ่มสื่อสารมวลชน และผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม 16. ผู้ประกอบธุรกิจด้านการท่องเที่ยว หรือการบริการ 17. กลุ่มประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ 18. กลุ่มอุตสาหกรรม 19. กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพอาชีพอิสระ และ 20. กลุ่มด้านอื่นๆ นอกเหนือจาก 19 กลุ่ม โดยคุณสมบัติการแบ่งกลุ่มให้ กกต. วินิจฉัย ว่า ผู้สมัครอยู่ในกลุ่มใด หากผู้สมัครเข้าได้หลายกลุ่มจะต้องเลือกว่าจะสมัครกลุ่มใดได้เพียงกลุ่มเดียวและการแสดงหลักฐานให้ กกต. กำหนดว่าจะใช้อะไรบ้างหลักฐานต้องชัดเจนไม่ต้องให้ใครมารับรอง หรือรับการยืนยันว่าอยู่ในกลุ่มใด เพื่อไม่ให้มีความยุ่งยาก หากมีการคัดค้านให้ กกต. วินิจฉัยและให้คำวินิจฉัยของ กกต. ถือเป็นที่สิ้นสุดส่วนการสมัครสามารถสมัครได้แห่งเดียวและกลุ่มเดียวโดยมีเงื่อนไขคือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเคยศึกษาหรือทำงานอยู่ตามระยะเวลาที่กำหนดคือไม่น้อยกว่า 3 ปี ส่วนค่าสมัครกำหนดไว้ที่ 2,500 บาท ซึ่งคิดเป็นครึ่งหนึ่งของค่าสมัคร ส.ส. ใครสมัครแล้วไม่มีชื่อให้ยื่นคำร้องต่อ กกต. ภายใน 7 วัน
นายนรชิต กล่าวอีกว่า ส่วนวิธีการเลือกคือให้เริ่มเลือกตั้งแต่ระดับอำเภอทั้ง 20 กลุ่ม ขั้นตอนแรกให้แต่ละกลุ่มเลือกกันเองจากผู้สมัครทั้งหมดภายในกลุ่มให้เหลือ 5 คน โดยผู้ที่ได้รับเลือก คือ ผู้ที่มีคะแนนสูงสุด 5 คนแรก จากนั้นจะเป็นการเลือกไขว้เลือกกลุ่มอื่นให้เหลือกลุ่มละ 3 คน คือ คนที่ได้คะแนนสูงสุด 1 - 3 เป็นตัวแทนระดับอำเภอ แต่หากมีคะแนนเท่ากันให้ใช้วิธีจับฉลากถ้ากลุ่มใดไม่มีคนสมัครก็ให้ส่งไประดับจังหวัดเท่าที่มีซึ่งในขั้นตอนการเลือกไขว้ ขณะนี้ กรธ. มี 2 แนวคิด คือ แนวคิดที่ 1 ให้เลือกไขว้กันทุกกลุ่มแนวคิดที่ 2 แบ่งเป็นสายจับสลากว่ากลุ่มใดอยู่สายไหนเหมือนการแบ่งสายแข่งฟุตบอลโลก จากนั้นจับสลากอีกครั้งว่าสายใดจะต้องเลือกไขว้กับสายใดส่วนการเลือกระดับจังหวัดให้ใช้วิธีเดียวกับระดับอำเภอ โดยเลือกให้เหลือตัวแทนจังหวัดกลุ่มละ 1 คน จะส่งผลให้ตัวแทนในแต่ละจังหวัดจะมีไม่เกิน 20 คน จากนั้นการเลือกในระดับประเทศก็จะใช้วิธีการเช่นเดียวกันและต้องเลือกให้เหลือกลุ่มละ 10 คน รวมแล้วจะได้ ส.ว. ทั้งหมด 200 คน ซึ่งในร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. มีบททั่วไป 100 มาตรา และมีบทเฉพาะกาลกำหนดไว้ว่าในวาระเริ่มแรกให้นำรายชื่อ 200 คนที่เลือกมาตามกระบวนการแล้วให้นำมาเสนอ คสช.เพื่อคัดเลือกให้เหลือ 50 คน ตามมาตรา 269 (ค) ของรัฐธรรมนูญปี 60 และนำไปรวมกับ ส.ว. ที่ได้รับการสรรหาจาก คสช. 194 คน และมาตามตำแหน่งที่กำหนดไว้อีก 6 คน ปลัดกระทรวงกลาโหม ผบ.ทสส. ผบ.ทบ. ผบ.ทร. ผบ.ทอ.และ ผบ.ตร. รวมเป็น 250 คน เมื่อเลือกเสร็จให้ให้ กกต.ประกาศผลการเลือกตั้งภายใน 7 วัน
นายนรชิต กล่าวอีกว่า ส่วนข้อห้ามและบทลงโทษ คือ ห้ามหาเสียงไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ แต่ให้ทำประวัติเอกสารแนะนำตัวได้โดยส่งให้ กกต. จัดทำ และส่งให้ผู้สมัครส่วนบทลงโทษเป็นไปตามหลักการของร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ส. และ ส.ว. ปี 2550 แต่กำหนดโทษใหม่ใน 3 ประเด็นคือ 1. กรณีมีผู้สนับสนุนให้ผู้สมัคร หรือจ้างคนมาสมัคร หรือไม่ให้สมัครเพื่อตนเองหรือผู้อื่น 2. กรณีที่กรรมการบริหารพรรคการเมือง ส.ส. สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทำการช่วยเหลือผู้สมัครให้เป็น ส.ว. และ 3. การจูงใจให้มาซื้อขายเสียงทั้งการให้เงินหรือการใช้อิทธิพลข่มขู่ ซึ่งทั้ง 3 ข้อนี้ จะมีบทลงโทษจำคุกระหว่าง 1 - 10 ปี ปรับ 20,000 - 200,000 บาท และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี