xs
xsm
sm
md
lg

กรธ.เข้ม กม.ลูก ส.ส.เพิ่มโทษคนไม่ไปโหวต ตัดสิทธิ์ 2 ปี ให้พ้นตำแหน่งการเมืองทันที

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เผย ศึกษากฎหมายลูก ส.ส. แล้ว 29 ประเด็น ให้ผู้สมัครจับเบอร์ไม่ต้องตรงกับพรรค โยน กกต. คุยพรรคแบ่งเขต นับคะแนนที่หน่วย ให้ผู้สมัครยื่นหลักฐานเสียภาษี 3 ปี ได้คืนค่าธรรมเนียม 5 พัน ถ้าได้เสียงเกิน 5% ห้ามหาเสียงออนไลน์ 3 วันสุดท้าย ไม่ห้ามทำโพลแต่ไม่ทำดีกว่า ตั้ง 3 เงื่อนไขลงคะแนนไฮเทค เข้มโทษไม่ไปโหวต ถูกตัดสิทธิ์เลือกตั้ง 2 ปี แบนลงสมัครองค์กรอิสระ ถ้าดำรงตำแหน่งการเมืองให้พ้นทันที

วันนี้ (5 ส.ค.) ที่โรงแรมรอยัล พลา คลิฟ บีช รีสอร์ท แอนด์ สปา จ.ระยอง นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงถึงความคืบหน้าในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาหลักการร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่มี นายประพันธ์ นัยโกวิท ประธานอนุกรรมการ ได้เสนอผลการศึกษา 39 ประเด็น โดย กรธ. ได้พิจารณาไปแล้ว 29 ประเด็น โดยในเรื่องหมายเลขผู้สมัคร เนื่องจากการเลือกตั้งเป็นระบบเลือกตั้งแบบใหม่ จากเดิมที่เป็นแบบเขตเดียวเบอร์เดียว ก็ได้ปรับเปลี่ยนโดยให้ผู้สมัครแต่ละเขตมีการจับสลากเบอร์ของตัวเองตามลำดับของการสมัคร แม้ผู้สมัคร ส.ส. ในแต่ละเขตจะอยู่ในพรรคเดียวกัน ก็ไม่จำเป็นต้องมีเบอร์ที่เหมือนกัน เพื่อให้ผู้สมัครในแต่ละเขตแสดงความรู้ความสามารถของตัวเอง ไม่ใช่อาศัยหมายเลขพรรคในการพึ่งพาเพื่อช่วยให้ได้เป็น ส.ส. ส่วนการกำหนดให้แต่ละพรรคส่งรายชื่อผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ไม่เกิน 3 ชื่อ และ วิธีการประกาศรายชื่อให้ประชาชนทราบนั้น เห็นควรให้ ทาง กกต. ดำเนินการวางระเบียบและหลักเกณฑ์

นายนรชิต กล่าวต่อว่า ในการกำหนดเรื่องเขตเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องหารือกับพรรคการเมืองในการแบ่งเขต ซึ่งในเรื่องของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละหน่วย ให้ใช้เกณฑ์ขั้นต่ำ 1,000 คน จากเดิม 800 คน เป็น 1 หน่วยเลือกตั้ง และไม่ควรใช้เขตของหมู่บ้านเป็นเขตตายตัวในการกำหนดเขตเลือกตั้ง แต่ให้กำหนดเขตเลือกตั้งโดยคำนึงถึงความสะดวกของผู้ที่จะมาลงคะแนนเป็นสำคัญ ในเรื่องการนับผลคะแนนเลือกตั้ง ทาง กรธ. มีความเห็นว่า ควรจะนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง โดยมีผลดีคือจะได้ทราบผลการเลือกตั้งรวดเร็วขึ้น แต่ทั้งนี้จะต้องมีมาตรการป้องกันหีบบัตรให้รัดกุมเพิ่มขึ้น ส่วนบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งนั้น จะมีการปิดประกาศไว้หน้าหน่วย โดยระบุชื่อ ที่อยู่ แต่ไม่บรรจุเลข 13 หลัก เพื่อป้องกันการละเมิดข้อมูลสิทธิส่วนบุคคล นอกจากนี้ ผู้สมัคร ส.ส. จะต้องมีหลักฐานประกอบการสมัคร ส.ส. ตามมาตรา 36 (2) คือการยื่นหลักฐานการเสียภาษีเงินได้ย้อนหลัง 3 ปี ส่วนค่าธรรมเนียมการสมัคร ส.ส. เป็นเงิน 10,000 บาท กรณีที่ผู้สมัครได้เสียงเกิน 5% ของผู้ที่ลงคะแนนในเขตนั้น ก็จะได้รับเงินคืน 5,000 บาท

นายนรชิต กล่าวต่อว่า ในเรื่องของค่าใช้จ่ายเลือกตั้ง ทาง กรธ. เห็นว่า จะต้องยึดตามที่ กกต. ได้เคยประกาศไว้ ทั้งนี้ จะมีเพิ่มหน้าที่ให้เจ้าหน้าที่ของ กกต. ในแต่ละจังหวัด ให้รายงานการกระทำของพรรคในเรื่องต่างๆ ส่งให้ กกต. กลางวินิจฉัยว่าเป็นค่าใช้จ่ายหรือไม่ ถ้าเป็นค่าใช้จ่าย สิ่งที่ทำมาแล้วก็ไม่นำมาคำนวณ แต่ในอนาคตต้องนำมาคิดเป็นค่าใช้จ่ายด้วย หากเจ้าหน้าที่ กกต. รายงานเท็จ ให้ลงโทษไล่ออก แต่ถ้าไม่รายงานก็ถือว่า เป็นการหย่อนสมรรถภาพในการทำงาน ซึ่ง ผอ.กกต. ของจังหวัดนั้นๆ จะเป็นผู้โดนลงโทษก่อนผู้อื่น อีกทั้ง กกต. สามารถส่งเรื่องให้ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบเส้นทางการเงิน กรณีสงสัยว่าจะมีการทุจริตการเลือกตั้ง

นายนรชิต กล่าวอีกว่า ในเรื่องของการหาเสียงออนไลน์นั้น กรธ. มีแนวคิดว่า เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ และให้รวมเป็นค่าใช้จ่าย โดย กกต. ต้องคิดภายใต้เงื่อนไข 3 วันสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง ห้ามเพิ่มเติมการหาเสียงผ่านออนไลน์ สิ่งใดที่มีอยู่มีอยู่แล้วก็ไม่ต้องลบ หากมีการแชร์ข้อมูลของก่อนหน้านี้ ก็สามารถทำได้ นอกจากนี้ ในเรื่องของการทำโพลที่มีลักษณะเป็นการชี้นำ ทาง กรธ. ไม่ได้ห้าม แต่ทาง กรธ. เห็นว่า ถ้าไม่ทำโพลล์จะดีกว่า เนื่องจากผลโพล สามารถชักจูง และโน้มน้าวใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ แต่หากจะมีการทำโพลล์ ก็ขอให้ทาง กกต. ไปกำหนดหลักเกณฑ์ก่อน

นายนรชิต กล่าวด้วยว่า ส่วนเรื่องการลงคะแนน สามารถลงคะแนนได้โดยบัตร หรือ เครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ โดยกรณีของเครื่องลงคะแนนนั้น ทาง กรธ. ได้ตั้งเงื่อนไขไว้ 3 ประการ คือ 1. ต้องสร้างหลักประกันว่าจะขจัดการทุจริตการเลือกตั้งได้ดีกว่าการใช้บัตร 2. ค่าใช้จ่ายจะต้องถูกกว่าการเลือกตั้งแบบเดิม และ 3. ประกันเรื่องความลับของผู้ที่มาลงคะแนนเลือกตั้ง และได้ขยายเวลาการใช้สิทธิเลือกตั้งอีกไปอีก 1 ชั่วโมง จากเดิมเวลา 08.00 - 15.00 น. เป็น 8.00 - 16.00 น.

นายนรชิต กล่าวต่อว่า สำหรับโทษของบุคคลไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในทุกระดับ รวมทั้งการเลือกตั้งกำนัน - ผู้ใหญ่บ้าน โดยไม่มีเหตุผลสมควร จะถูกตัดสิทธิ์ในการเลือกตั้งในระยะเวลา 2 ปี และไม่สามารถดำรงตำแหน่งใดๆ ในทางการเมืองได้ ไม่ว่าจะเป็นการลงสมัคร ส.ส. ส.ว. สภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งการลงสมัครเพื่อเข้ารับการสรรหาในองค์กรอิสระ อีกทั้งถ้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่ ก็ให้พ้นจากตำแหน่งทันที เนื่องจากบุคคลผู้ที่มีตำแหน่งในทางการเมือง ควรจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้ประชาชนในการใช้สิทธิทางการเมือง และถ้ายังไม่ไปใช้สิทธิ์อีก ก็ให้ตัดสิทธิ์เป็นเวลา 2 ปีต่อไปอีก ส่วนการร้องคัดค้าน ผู้ร้องควรไปยื่นคำร้องต่อ กกต. ในฐานะเป็นผู้จัดการเลือกตั้ง และให้ กกต. เป็นผู้วินิจฉัย แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิ์ผู้ร้องในการอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาฯ

ต่อมาเวลา 17.00 น. นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธาน กรธ. พร้อมคณะ ได้เยี่ยมชมถนนสายวัฒนธรรมบ้านพลา ในงาน “ถนนเดินกินถิ่นพลา” โดยมีผู้บริหารระดับสูงของจังหวัดและชาวบ้านให้การต้อนรับ
กำลังโหลดความคิดเห็น