xs
xsm
sm
md
lg

“นิพิฏฐ์” แนะ พธม.ทำใจ ชี้ถ้า ป.ป.ช.อุทธรณ์สิแปลก เชื่อ ส.ว.ถูก คสช.ล็อกตั้งค้ำอำนาจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รอดูวิธีการได้ ส.ว. แต่เชื่อถูกล็อกจาก คสช. แล้วทั้งสิ้น คาดแต่งตั้งค้ำอำนาจต่อ ยันพันธมิตรฯ ไม่ชุมนุม แต่แนะทำใจ ยากที่ ป.ป.ช. จะอุทธรณ์ เหตุ “วัชรพล” เคยคิดถอนฟ้อง แต่ถ้าทำถือว่าแปลก ด้าน “สาธิต” กลับบี้ให้อุทธรณ์

วันนี้ (5 ส.ค.) นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี กรธ. แบ่งกลุ่มสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตามสาขาอาชีพต่างๆ เป็น 20 กลุ่ม ว่า ต้องติดตามดูในรายละเอียดอีกครั้ง เพราะเท่าที่ทราบก็เป็นการแบ่งตามที่รัฐธรรมนูญปี 60 กำหนดไว้ จึงไม่มีอะไรแปลกใหม่ แต่ที่น่าติดตาม คือ เขาจะกำหนดวิธีการได้มาซึ่ง ส.ว. ทั้ง 20 กลุ่มนี้อย่างไร จะมีวิธีการคัดเลือก หรือสรรหากันอย่างไร และแต่ละกลุ่มสาขาอาชีพจะมีสัดส่วนของ ส.ว. เท่าเทียมกัน หรือจะกำหนดให้ความสำคัญกับกลุ่มสาขาอาชีพไหนมาก อาชีพไหนน้อย ต่างกันอย่างไร เช่น กลุ่มชาวนา จะได้จำนวนเท่ากับกลุ่มนักธุรกิจหรือไม่ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า คสช. คงจะมีคนในใจอยู่แล้วว่าจะหยิบใครมาตั้งให้เป็น ส.ว. พูดประสาชาวบ้านเข้าใจง่าย คือ คสช. จะเลือกใคร 200 คน มาเป็น ส.ว. แล้วกำหนดให้กระจายตามกลุ่มที่กำหนดให้ จากนั้นก็เลือกมาอีก 50 คน เพื่อแซมเพิ่มไม่ให้น่าเกลียด โดยสรุปคือ ส.ว. จะถูกล็อกโดยผู้มีอำนาจไว้แล้วทั้งสิ้น

“ที่ผมกังวลคือ น่าเห็นใจประเทศชาติ เพราะ ส.ว. 250 คน ที่จะถูกแต่งตั้งขึ้นนี้ จะเป็นคนค้ำอำนาจของ คสช. ต่อไป ทั้งที่น่าคิดให้ได้ว่า ประเทศในระบอบประชาธิปไตยจะปกครองด้วยกฎหมาย ไม่ใช่ปกครองด้วยรัฐบาล เพราะรัฐบาลที่ดี ที่มีธรรมาภิบาลจะเป็นรัฐบาลที่อยู่ภายใต้กฎหมายทั้งสิ้น ที่บอกว่าเป็นห่วง หรือวิตกกังวล คือ ในอนาคตหากจะมีการแก้ไขกฎหมายที่พบว่ามีข้อบกพร่อง หรือการเสนอออกกฎหมายอาจจะไม่ตรงตามเจตนารมณ์ ความต้องการของประชาชน ที่สุดก็จะเกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาอีก ส่วนรัฐบาลในอนาคตนั้น เรายังไม่รู้ว่าจะได้ใครมาเป็นรัฐบาล อาจจะเป็นคนในรัฐบาลนี้เป็นต่อ หรือรัฐบาลใหม่ก็ได้ แต่ขอให้หลักคิดว่า ไม่ว่าจะเป็นใครที่จะมาเป็นรัฐบาลในอนาคต ขอให้คิดถึงรัฐชาติและคิดถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนดีกว่าที่จะออกกฎหมายมาเพื่อรองรับอำนาจต่างๆ” นายนิพิฏฐ์ กล่าว

นายนิพิฏฐ์ กล่าวถึงกรณีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) จะยื่นหนังสือถึงป.ป.ช. เพื่อให้อุทธรณ์คดีการสลายชุมนุม พธม. ปี 2551 ว่า เชื่อว่า พธม. ไม่น่าจะออกมาชุมนุม การที่เขาพบปะกันก็เพื่อหารือ หาวิธีต่อสู้คดี เพราะเป็นผู้เสียหาย บาดเจ็บ ล้มตาย เป็นเรื่องปกติในการหาทางอุทธรณ์เพื่อจะชนะคดี ตนไม่เห็นมี พธม. คนไหนบอกว่าจะออกมาชุมนุม เคลื่อนไหว หรือกดดันเลย อย่างไรก็ตาม ส่วนตนเห็นว่า เป็นเรื่องยากที่ ป.ป.ช. จะยื่นอุทธรณ์คดีนี้ โดย พธม. ต้องทำใจเพราะเดิมตอน พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. เข้ามาใหม่ๆ นั้น ป.ป.ช. เคยคิดจะถอนฟ้องอยู่แล้ว ซึ่งการจะถอนฟ้อง คือ การไม่ประสงค์ที่จะดำเนินคดี พอผลออกมาว่าคดียกฟ้องแล้วแพ้ แล้ว ป.ป.ช. จะอุทธรณ์ทำไม ในเมื่อระหว่างดำเนินการคิดจะถอนฟ้อง ตนถึงบอกว่า พธม. คงต้องทำใจ ถ้า ป.ป.ช. อุทธรณ์คดีนี้ ถือว่าแปลกมาก

ด้าน นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่ พธม. ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลนั้นเป็นสิทธิ และมีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะไปเรียกร้อง ป.ป.ช. ให้ยื่นอุทธรณ์ คดีเป็นที่สนใจของสังคม นำไปเป็นบรรทัดฐานได้ขนาดนี้ ส่วนตนมองว่า ป.ป.ช. ควรทำหน้าที่อุทธรณ์คดี แต่หากไม่อุทธรณ์จะเกิดข้อสงสัยกับสังคม ว่า ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่แล้วจริงหรือ เนื่องจาก ป.ป.ช. เป็นองค์กรอิสระ ไม่ขึ้นตรงกับรัฐบาล แต่บังเอิญประธาน ป.ป.ช. ถูกสังคมตั้งคำถาม ตั้งข้อสงสัยว่า ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจ และผู้ต้องหาในคดี อย่างไรก็ตาม อยากเรียกร้องให้แต่ละฝ่ายควรใช้สิทธิด้วยความสงบและเคารพกฎหมาย รัฐบาลต้องบังคับใช้กฎหมายเท่าเทียม ส่วน พธม. ก็ใช้สิทธิได้ตามกรอบ แต่ยังไม่ควรออกมาชุมนุมในขณะนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น