โฆษกศาลปกครองชี้จำเลยคดี 7 ตุลาฯ ไม่ผิดทางอาญา ไม่เป็นเหตุให้พ้นผิดทางแพ่ง ระบุศาลปกครองกลางตัดสินเมื่อปี 55 ให้ ตร.-สำนักนายกฯ จ่ายชดใช้ผู้ชุมนุม 32 ล้านบาท เหตุสลายชุมนุมไม่เป็นตามหลักสากล ใช้แผนกรกฎ 48 แค่ข้ออ้าง แต่ต้องรอศาลปกครองสูงสุดชี้ขาด ด้านพันธมิตรฯ นัดหารือที่บ้านพระอาทิตย์พรุ่งนี้ เตรียมจี้ ป.ป.ช.อุทธรณ์คดี
วันนี้ (3 ส.ค.) นายสมชาย งามวงศ์ชน โฆษกศาลปกครอง กล่าวถึงคำตัดสินของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่พิพากษายกฟ้อง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบ.ชน.ในคดีสลายชุมนุมพันธมิตรฯ ว่าเป็นคนละส่วนกับการพิจารณาคดีของศาลปกครองซึ่งเป็นคำร้องในเรื่องของการให้ชดใช้ค่าเสียหาย โดยในขณะนี้มีประเด็นที่ค้างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดอยู่ ในกรณีที่ผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ ได้ยื่นขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักนายกรัฐมนตรี จ่ายค่าชดเชยให้ผู้ร้อง ซึ่งโดยปกติแล้วแม้ว่าจะไม่มีความผิดอาญาก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ต้องรับโทษทางแพ่ง อย่างไรก็ตาม คำพิพากษาของศาลฎีกาฯ จะมีผลต่อการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้อย่างไร ขึ้นอยู่กับองค์คณะจะพิจารณา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้นายชิงชัย อุดมเจริญกิจ กับพวกรวม 250 คน ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักนายกรัฐมนตรี กรณีเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 มีคำสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่บริเวณหน้ารัฐสภาและหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อเปิดทางให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเข้าแถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 1569/2552 ลงวันที่ 5 ต.ค. 2555 ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักนายกรัฐมนตรี จ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ร้องเป็นเงินกว่า 32 ล้านบาท เนื่องจากเห็นว่าการสลายการชุมนุมดังกล่าวไม่ได้ปฏิบัติตามหลักสากลที่ต้องเริ่มจากการเจรจาต่อรอง หากไม่เป็นผลจึงจะใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก แต่การสลายการชุมนุมดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อาวุธปืนยิงและขว้างแก๊สน้ำตาตรงเข้าไปยังผู้ชุมนุมโดยตรง มีการยิงใส่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ รถพยาบาล โดยไม่คำนึงถึงหลักมนุษยธรรม อันแสดงให้เห็นว่าแผนกรกฎ 48 ที่นำมาใช้เป็นเพียงการอ้างหลักการ ตามมาตรฐานสากล แต่การปฏิบัติจริง หาได้เป็นไปตามหลักการให้ความเมตตาต่อผู้มีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง ดังที่เขียนไว้ในแผนแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม คดีนี้ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด โดยได้นั่งพิจารณาคดีครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 23 พ.ค. ซึ่งขั้นตอนต่อไปศาลก็นัดอ่านคำพิพากษา
ก่อนหน้านี้ ในวันที่ 12 เม.ย. 2559 ที่ประชุม ป.ป.ช.นำเรื่องที่จำเลยขอความเป็นธรรมเข้าพิจารณาว่าจะถอนฟ้องคดีสลายชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ หรือไม่ โดยให้เจ้าหน้าที่ไปพิจารณาถึงเหตุผลประกอบการถอนฟ้อง ต่อมาในวันที่ 18 เม.ย. 59 เจ้าหน้าที่ทำหนังสือถึง ป.ป.ช.เห็นว่าไม่สมควรถอนฟ้อง เนื่องจากจำเลยสามารถขอความเป็นธรรมระหว่างการต่อสู้ในชั้นศาลได้อยู่แล้ว โดยยังมีความพยายามให้เจ้าหน้าที่กลับไปทบทวนใหม่ แต่ในที่สุดก็มีมติไม่ถอนฟ้องในวันที่ 26 พ.ค. 59 เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการปฏิบัติหน้าที่ของ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช.อย่างมาก เนื่องจากมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ พล.ต.อ.พัชรวาท หนึ่งในจำเลยคดีนี้ก่อนที่จะมารับหน้าที่ประธาน ป.ป.ช.
ด้านนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตแกนนำรุ่น 2 และโฆษกพันธมิตรฯ ระบุว่า เบื้องต้นจะยื่นต่อ ป.ป.ช.ให้อุทธรณ์คดี โดยเห็นว่ามีข้อสงสัยในการต่อสู้คดีของ ป.ป.ช.ซึ่งที่ผ่านมามีท่วงทำนองว่าไม่อยากต่อสู้คดี จึงมีความห่วงใยว่าการต่อสู้คดีในครั้งนี้ได้ทำอย่างสมศักดิ์ศรีหรือไม่
ขณะเดียวกัน นายปานเทพ ได้โพสต์ข้อความในแฟนเพจ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ว่า จากกรณีคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษายกฟ้องคดีการสลายการชุมนุมหน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 จึงขอเรียนเชิญอดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและผู้ที่เกี่ยวข้องประชุมกันในวันศุกร์ที่ 4 สิงหาคม 2560 เวลา 9.00 น. และจะแถลงข่าวในเวลา 11.30 น. ณ ห้องประชุม บ้านพระอาทิตย์ จึงขอเรียนเชิญสื่อมวลชนและผู้ที่สนใจเข้าร่วมการแถลงข่าวในวันและเวลาดังกล่าวมา ณ โอกาสนี้
นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความพันธมิตรฯ กล่าวว่า ในการหารือกันในวันพรุ่งนี้ (4 ส.ค.) คงมีประเด็นใหญ่ในการนำคำพิพากษาศาลฎีกาฯ มาวิเคราะห์ร่วมกันถึงแนวทางต่อสู้คดีว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร เนื่องจากมีปัญหาว่าผู้เสียหายที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าวจำนวนกว่า 400 คน ได้สู้จนชนะคดีที่ศาลปกครองแล้ว แต่แพ้คดีในศาลฎีกาฯ ซึ่งผู้เสียหายก็ไม่เห็นด้วย จึงต้องยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯ ต่อไป อย่างไรก็ตาม คดีนี้ประชาชนไม่สามารถยื่นอุทธรณ์เองได้ เมื่อ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นโจทก์ยื่นอุทธรณ์ในฐานะคู่ความที่แพ้ สิทธิในการยื่นอุทธรณ์ก็อยู่ที่ ป.ป.ช.
เผยชื่อผู้พิพากษาเสียงข้างน้อยให้ “สมชาย”และพวกผิด
มีรายงานว่า สำหรับคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสี่นั้น แบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนแรกมีมติ 8 ต่อ 1 เสียง เห็นว่าจำเลยสามคนไม่มีความผิด คือ นายสมชาย พล.อ.ชวลิต และพล.ต.อ.พัชรวาท โดยนายปริญญา ดีผดุง ประธานแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญา เป็นเสียงข้างน้อย และส่วนที่สอง มติ 6 ต่อ 3 เห็นว่าจำเลยทั้งสี่คนรวม พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ไม่มีความผิด ขณะที่เสียงข้างน้อยสามคน ประกอบด้วย นายโสภณ โรจน์อนนท์ ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นายธนสิทธิ์ นิลกำแหง ประธานแผนกคดีเลือกตั้งและ นายปริญญา ดีผดุง ประธานแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญา เห็นว่า พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว มีความผิดตามคำร้องของ ป.ป.ช.