xs
xsm
sm
md
lg

จี้ปปช.อุทธรณ์คดีถล่มพธม. หลังศาลฯยกฟ้องชายจืด-จิ๋ว-ป๊อด-เบื้อก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศาลฎีกานักการเมืองยกฟ้อง “สมชาย-บิ๊กจิ๋ว-พัชรวาท-สุชาติ” ในคดีสั่งใช้แก๊สน้ำตา สลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อ 7 ตุลาฯ 51 ชี้การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ไม่มีเจตนาให้สูญเสีย ด้านกรธ.ชี้รธน. 60 เปิดทางให้ ป.ป.ช. ยื่นอุทธรณ์คดีได้ แม้กม.ปราบโกงนักการเมือง ยังไม่ประกาศใช้ ด้านประธาน ป.ป.ช. ยังกั๊ก รอดูคำพิพากษาเต็มก่อนหารือว่าจะอุทธรณ์หรือไม่ "ปานเทพ" จี้ ป.ป.ช.ยื่นอุทธรณ์ แม้จะมีความหวังริบหรี่ เหตุประธานป.ป.ช. ซี้ "พัชรวาท" มาก่อน ด้าน "สุริยะใส" ยกศาลรธน.-ศาลปกครอง เคยชี้พธม.ชุมนุมโดยสงบ จนท.ใช้ความรุนแรง และเกินกว่าเหตุ

วานนี้ (2 ส.ค.) ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ นายธนสิทธิ์ นิลกำแหง ประธานแผนกคดีเลือกตั้ง เจ้าของสำนวนคดีสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และผู้พิพากษาองค์คณะ รวม 9 คน ได้นัดฟังคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ ที่ อม. 2/2558 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี , พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 กับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 295 และ 302 จากกรณีเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 51 รัฐบาลนายสมชาย ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจขอคืนพื้นที่การชุมนุมจากกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ปิดล้อมทางเข้ารัฐสภา ภายหลังมีการสลายการชุมนุมโดยมิชอบ ไม่เป็นไปตามหลักสากล กระทั่งมีผู้เสียชีวิต 2 ราย และผู้บาดเจ็บ 471 ราย

โดยเมื่อวานนี้ นายสมชาย อดีตนายกฯ จำเลยที่ 1, พล.ต.อ.ชวลิต จำเลยที่ 2 พล.ต.อ.พัชรวาท จำเลยที่ 3 และ พล.ต.ท.สุชาติ จำเลยที่ 4 ได้เดินทางไปฟังคำพิพากษาด้วย

ทั้งนี้ องค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 9 ท่าน ได้ประชุมเพื่อทำคำพิพากษากลาง ก่อนมีคำพิพากษา ยกฟ้องจำเลย 1-4

โดยรายละเอียดในพิพากษา ระบุว่า เหตุการช่วงเช้าวันที่ 7 ต.ค.51 ซึ่ง จำเลยที่ 1 โดยมติครม. ให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ติดตามและควบคุมเหตุการณ์ ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้มอบหมายให้ จำเลยที่ 3 และ 4 ปฏิบัติตามมติครม. ในการผลักดันผู้ชุมนุม เพื่อให้ครม.-ส.ส. และส.ว. เข้ารับฟังการแถลงนโยบายโดยจำเลยที่ 1 ต่อรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญฯ ปี 50 มาตรา 176 ซึ่งศาลเห็นว่า ก็เป็นคำสั่งให้ปฏิบัติการเพื่อให้ครม. ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามรธน. การที่ผู้ชุมนุมปิดล้อมประตูเข้าออกทุกด้านของอาคารรัฐสภา ถือว่าเป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ และไม่ได้เป็นการชุมนุมโดยสงบ สันติ ตามที่แกนนำได้ประกาศไว้

เนื่องจากตามทางนำสืบของเจ้าหน้าที่ พบว่าหลังเกิดเหตุ ในพื้นที่พบระเบิดปิงปอง และตามรายงานตามทางข่าว พบว่าผู้ชุมนุมพกอาวุธ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้โล่ผลักดัน. ผู้ชุมนุมได้ใช้หนังสติกยิงลูกเหล็ก หัวน๊อต ลูกแก้ว รวมทั้งขว้างปาไม้ ขวดน้ำใส่ การชุมชุมนั้น จึงไม่ได้เป็นการที่ชุมนุมที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ

ขณะที่พยานหลักฐานและข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รักษาความสงบเรียบร้อยตามที่ได้รับมอบหมาย และได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของแผนรักษาความสงบ กรกฎ 48 โดยใช้มาตรการควบคุมฝูงชนจากเบาไปหาหนักแล้วเท่าที่จะทำได้ในขณะนั้น ส่วนเหตุที่ไม่ใช้รถดับเพลิงฉีดน้ำ เพื่อผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุม รวมทั้งการใช้รถส่องสว่าง ในช่วงค่ำ เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนจากกทม. โดยมีการติดต่อประสานผู้ว่าฯกทม.แล้ว แต่ไม่สามารถติดต่อได้

พยานหลักฐานของป.ป.ช.โจทก์ จึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้ง 4 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

สำหรับเหตุการณ์ช่วงบ่าย และช่วงค่ำ ที่ ป.ป.ช.โจทก์ ได้ขอให้ลงโทษ จำเลยที่ 1, จำเลยที่ 3 และ จำเลยที่ 4 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า พล.อ.ชวลิต จำเลยที่ 2 ได้ลาออกจากตำแหน่ง หลังเกิดเหตุการณ์ในช่วงเช้า การที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้กลับมาปิดล้อมอาคารรัฐสภา หลังจากช่วงเช้า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พยายามผลักดันผู้ชุมนุมไปยัง ถ.อู่ทองใน โดยเจ้าหน้าที่ใช้รถโมบายให้กลุ่มผู้ชุมนุมถอยร่น แต่ผู้ชุมนุมไม่ยอม เรียกพรรคพวกมาเพิ่ม จนปิดล้อมรัฐสภา ทำให้ ครม. ส.ส. และ ส.ว. ติดอยู่ในอาคาร จนจำเลยที่ 1 ต้องปีนกำแพงหนี ซึ่งการปลุกระดมผู้ชุมนุม และจะบุกเข้าไปข้างในรัฐสภา ก็ไม่ใช่เป็นการชุมนุมโดยสงบ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องปฏิบัติตามขั้นตอน แผนกรกฎ 48 และจำเป็นต้องใช้แก๊สน้ำตา เพื่อช่วยเปิดทางให้ผู้ที่ติดอยู่ในรัฐสภาได้ออกมา

แม้พยานโจทก์ และจำเลยทั้งสี่ ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการใช้แก๊สน้ำตา ยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน เกี่ยวกับผลที่เกิดจากการใช้แก๊สน้ำตา ซึ่งพยานโจทก์ระบุว่า แก๊สน้ำตาที่ผลิตจากจีน มีส่วนประกอบของ RDX ที่จะเป็นอันตรายได้ และการทดสอบก็พบแรงของการยิงแก๊สน้ำตา ทำให้เกิดหลุมกว้าง แต่พยานจำเลยระบุว่า แก๊สน้ำตาไม่เป็นอันตราย ซึ่งสาร RDX ที่ผสมในแก๊สน้ำตา มีจำนวนน้อย เพื่อให้แก๊สน้ำตาเกิดการฟุ้งกระจาย โดยจะไม่เป็นอันตราย หากไม่ได้ผสมรวมกับสารเคมีอื่นอีก 3 ชนิด ที่จะมีฤทธิ์คล้ายระเบิดซีโฟร์ ส่วนที่การทดสอบเกิดหลุมกว้าง เนื่องจากก่อนการทดสอบฝนตก ทำให้ดินนิ่ม

แม้เหตุการณ์จะมีผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต แต่ศาลเห็นว่า ในสถานการณ์เช่นนั้นเป็นการยากสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะรู้ว่า แก๊สน้ำตา จะเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิต โดยเมื่อเหตุการณ์ชุมนุมยังไม่สงบ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังมีหน้าที่ต้องปฏิบัติเพื่อรักษาความสงบ ไม่ให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล และทรัพย์สินของทางราชการ และขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1, จำเลยที่ 3 และ จำเลยที่ 4 ก็ไม่อาจอนุมานได้ว่า แก๊สน้ำตา จะก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ชุมนุมได้ ข้อเท็จจริงจากทางนำสืบ จึงยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสาม มีเจตนาพิเศษเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปทำร้ายผู้ชุมนุมให้ได้รับอันตรายแก่กาย และเสียชีวิต

ดังนั้น นายสมชาย จำเลยที่ 1 และ พล.ต.อ.พัชรวาท จำเลยที่ 3 ไม่มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และ พล.ต.ท.สุชาติ จำเลยที่ 4 ไม่มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่ง ผู้ใด

องค์คณะฯ จึงพิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1-4

**ชี้รธน.ใหม่ให้ป.ป.ช.ยื่นอุทธรณ์คดีได้

นายอุดม รัฐอมฤต กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการป.ป.ช. ในฐานะเป็นโจทย์ ในคดีนี้ สามารถยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ตาม รธน.60 มาตรา 195 หลังจากศาลฯ มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมด ซึ่งการอุทธรณ์สามารถกระทำได้ทันที แม้ในเวลานี้ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฉบับใหม่ ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบจาก สนช. ยังไม่มีผลบังคับใช้ก็ตาม เพราะในทางปฏิบัติ หากมีการยื่นอุทธรณ์ตามรธน. ฉบับปัจจุบัน ส่วนตัวคิดว่า ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา สามารถใช้วิธีพิจารณาตาม ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 ไปได้ เนื่องจาก ร่าง พ.ร.ป.ฉบับปัจจุบัน และฉบับใหม่ มีหลักการไม่แตกต่างกัน

เมื่อถามว่า ถ้าป.ป.ช.ไม่ดำเนินการยื่นอุทธรณ์คดีนี้ ต่อศาลฎีกา จะมีความผิดทางกฎหมายหรือไม่ นายอุดม กล่าวว่า กรณีนี้เป็นหลักการเดียวกับอัยการ ซึ่งอัยการไม่ได้ถูกบังคับ ดังนั้นคงไปบังคับป.ป.ช.ไม่ได้ เพราะถือเป็นเรื่องของการใช้สิทธิ

** "บิ๊กกุ้ย" ยังกั๊กอุทธรณ์ คดี

นายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. ที่เคยเป็นผู้รับผิดชอบสำนวนไต่สวนในคดีนี้ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่รู้สึกใดๆ กับคำตัดสิน เพราะเป็นดุลพินิจของศาล เรื่องนี้ในส่วนของ ป.ป.ช.ทำเสร็จ และผ่านไปแล้ว ไม่กังวลใดๆ เพราะทำตามหน้าที่อย่างดีที่สุด โดยตามหลักเกณฑ์ของรธน.ปี 60 ป.ป.ช. สามารถอุทธรณ์ได้ แต่ขึ้นอยู่กับป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน จะดำเนินการหรือไม่

ด้าน พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานป.ป.ช. กล่าวถึงแนวทางที่จะยื่นอุทธรณ์คดีนี้หรือไม่ว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.วันนี้(3 ส.ค.) ทางเจ้าหน้าที่สำนักคดี จะมารายงานการดำเนินการทางคดีดังกล่าวให้ที่ประชุมกรรมการชุดใหญ่ได้ทราบ ว่าดำเนินการอย่างไรไปบ้าง และศาลมีคำพิพากษาอย่างไร ส่วนเรื่องของการจะอุทธรณ์หรือไม่นั้น คงต้องหารือกันอย่างละเอียดรอบคอบ โดยเฉพาะเรื่องข้อกฎหมาย และที่สำคัญคือ ช่วงนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านข้อกฎหมายของศาลคดีทุจริต จึงต้องรอติดตามคำพิพากษาของศาลโดยละเอียดเสียก่อน แล้วจึงหารือ ว่าจะต้องดำเนินการต่อไปอย่างไร

** "ปานเทพ" จี้ป.ป.ช.ยื่นอุทธรณ์

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกกลุ่มพันธมิตรฯ กล่าวว่า คดีนี้กลุ่มพันธมิตรฯไม่ได้มีโอกาสจะใช้ทนายของตัวเอง และไม่ได้มีโอกาสที่จะเข้ามามีส่วนร่วมต่อสู้ในชั้นศาลเลย เนื่องจากป.ป.ช. เป็นผู้ที่ใช้ทนายจากสภาทนายความดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาฯ ซึ่งไม่ได้เป็นผู้ที่รู้ตื้นลึกหนาบางในเหตุการณ์ เท่ากับทนายของกลุ่มพันธมิตรฯ ส่งผลทำให้การต่อสู้ไม่แข็งแรงเท่าที่ควร

นอกจากนี้ เมื่อมีการฟ้องคดีแล้ว ทางอัยการกลับแสดงท่าที ที่จะเป็นทนายแก้ต่างให้กับนายสมชาย และพรรคพวก ขณะที่ป.ป.ช. ก็มีความต้องการที่จะถอนคดีนี้ออกจากการพิจารณาในศาลฎีกาฯ ซึ่งตามรธน. 60 นั้น แม้ว่าจะเปิดโอกาสให้คู่ความยื่นอุทธรณ์ในชั้นศาลฎีกาฯ อีกครั้งหนึ่ง ภายในระยะเวลา 30 วัน แต่ทางเราก็เป็นห่วง เพราะจากท่าทีของป.ป.ช. ที่ผ่านมา ก็เลยไม่ทราบว่าเขาจะไปทำการยื่นอุทธรณ์ และจะฝากความหวังไว้ที่เขาได้หรือไม่ ต้องยอมรับว่า เรื่องนี้ เหนือการควบคุมของกลุ่มพันธมิตรฯ

"ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ดูจากสภาพที่ป.ป.ช. มีความโน้มเอียงไปในทางถอดถอนคดี และ ป.ป.ช. ก็มีสายสัมพันธ์กับคู่กรณีมาก่อนด้วย โดยเฉพาะประธาน ป.ป.ช. เองก็เป็นคนใกล้ชิดกับพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ แต่เมื่อศาลตัดสินออกมาเช่นนี้ เราได้แต่ขออ้อนวอนให้ ป.ป.ช.ยื่นอุทธรณ์ แต่เราก็เป็นห่วงว่า ป.ป.ช.จะยื่นหรือไม่ เพราะความผูกพันของ ป.ป.ช.ชุดนี้ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ทำให้เราเป็นห่วง แต่เราจะทำให้ดีที่สุด" " นายปานเทพ กล่าว

*** "สุริยะใน"ยกศาลรธน.ชี้พธม.ชุมนุมสงบ

นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต อดีตผู้ประสานงานพันธมิตรฯ กล่าวว่า ถือเป็นคำพิพากษาที่ผิดคาด เพราะศาลฯ ได้พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 4 คน ขณะที่ก่อนหน้านั้นพวกเราเชื่อว่าเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 2 คน บาดเจ็บอีกเกือบ 500 คน น่าจะต้องมีคนรับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม เราเคารพคำพิพากษาของศาล เป็นจุดยืนของพันธมิตรฯ ทุกคนที่ไม่เคยหนีและสู้คดีทุกศาล หลังจากนี้ต้องดูว่า ป.ป.ช.ในฐานะโจทก์จะยื่นอุทธรณ์หรือไม่ หรือจะตั้งแง่อะไรหรือไม่

นายสุริยะใสยังตั้งข้อสังเกตต่อคำพิพากษาของศาลบางประเด็น เช่น ที่บอกว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธ เป็นการชุมนุมไม่สงบนั้น ประเด็นนี้เคยมีคนไปร้องต่อศาลว่าการชุมนุมของพันธมิตรฯ ขัดรัฐธรรมนูญ แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อปี 2551 แล้วว่าการชุมนุมของพันธมิตรฯ เป็นการชุมนุมโดยสงบ และในคดีอาญาที่พวกตนถูกฟ้องก็มีคำพิพากษาของศาลอาญาบางส่วนระบุว่าการชุมนุมของพันธมิตรฯ เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ปกป้องส่วนรวม ทำความจริงให้ปรากฏ พร้อมกับมีคำสั่งบรรเทาโทษ

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเด็นที่ศาลฎีกาฯ มีความเห็นขัดแย้งกับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เช่น การสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่เป็นไปตามหลักสากล ที่ศาลปกครองสูงสุดที่ระบุว่าเจ้าหน้าที่กระทำเกินกว่าเหตุ ละเมิดสิทธิผู้ชุมนุม สั่งเอาผิดเจ้าหน้าที่และให้ชดใช้ค่าเสียหาย หรือการดำเนินการจากเบาไปหาหนัก แต่ในวันเกิดเหตุรัฐบาลไม่ได้ประสานงานกับกลุ่มผู้ชุมนุมแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม นายสุริยะใสกล่าวว่า พันธมิตรฯ ยังมีช่องทางที่จะสู้ต่อ โดยต้องรอดูว่า ป.ป.ช.จะยื่นอุทธรณ์หรือไม่ แต่เมื่อมีข้อสงสัยจากผู้เสียหาย ป.ป.ช.ก็ต้องนำพา ถ้าไม่ทำ ต้องดูว่าจะผิด ม.157 หรือไม่ และหาก ป.ป.ช.ไม่ยื่นอุทธรณ์ ผู้เสียหายก็สามารถใช้สิทธิฟ้องเฉพาะตัวได้ ซึ่งจะต้องดูรายละเอียดคำพิพากษาของศาล และหารือในรายละเอียดกันก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น