xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” ตั้งคำถาม “สลายชุมนุม 7 ตุลาเกินกว่าเหตุหรือไม่ ?” หวัง ป.ป.ช.ยื่นอุทธรณ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รสนา โตสิตระกูล (ภาพจากแฟ้ม)
“รสนา” ทวนความจำสลายการชุมนุม 7 ตุลา เผยผลสอบของกรรมาธิการวุฒิสภา พบว่า ไม่เป็นตามแผนกรกฎ - ใช้แก๊สน้ำตาจากจีนที่หมดอายุ มีสารที่อานุภาพเท่าระเบิดซีโฟร์ อีกทั้งยังขว้างตรงใส่ฝูงชน จนทำให้แขนขาขาด - เสียชีวิต จี้ถาม “กระทำเกินกว่าเหตุหรือไม่ ?” หวัง ป.ป.ช. ยื่นอุทธรณ์ เพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้เสียหาย

วันนี้ (2 ส.ค.) นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงกรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษา ยกฟ้องคดี นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และพวก สลายการชุมนุมของพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ว่า “การสลายการชุมนุม 7 ตุลา เป็นการกระทำเกินกว่าเหตุหรือไม่?”

เหตุการณ์สลายการชุมนุม วันที่ 7ตุลาคม 2551 เกิดขึ้นในปีแรกที่ดิฉันเป็นสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพฯจากการเลือกตั้ง

เช้าตรู่วันที่ 7 ตุลา เพื่อนในกลุ่ม 40 ส.ว. โทรมา บอกให้ดิฉันเปิดทีวีดู ในทีวีปรากฏภาพชุลมุนของการสลายการชุมนุมเพื่อเปิดทางให้ ส.ส. และ ส.ว. เข้าไปร่วมประชุมการแถลงนโยบายของรัฐบาล สมาชิกในกลุ่ม 40 ส.ว. นัดหมายไปพบกันที่ราชภัฏสวนดุสิตเพื่อดูสถานการณ์

ปรากฏว่า หลังจากที่มี ส.ส. และ ส.ว. เดินทางเข้าร่วมประชุมจนครบองค์ประชุมแล้ว รัฐสภาก็เปิดประชุมให้นายกฯแถลงนโยบาย แต่การยิงแก๊สน้ำตายังไม่หยุด

ดิฉันจึงเดินทางเข้าไปในรัฐสภา และเข้าไปพูดในระหว่างที่ท่านนายกฯสมชาย กำลังแถลงนโยบาย ว่าขอให้ยุติการแถลงนโยบายก่อน เพราะข้างนอกมีคนบาดเจ็บแขนขาขาดจากการยิงแก๊สน้ำตาของตำรวจ และจนขณะนั้น ตำรวจก็ยังไม่หยุดการยิงแก๊สน้ำตา

การลุกขึ้นพูดของดิฉันทำให้สมาชิกพรรคเพื่อไทยโกรธมาก ดิฉันเกือบถูก ส.ส. พรรคเพื่อไทย รุมทำร้ายในห้องประชุม มี ส.ส. ผู้ชายหลายคนเข้ามารุมล้อม ชี้หน้าบริภาษอย่างรุนแรง สามีดิฉันซึ่งเดินทางมาเป็นเพื่อน เห็นภาพจากจอทีวีด้านนอก จึงเข้ามาพร้อมกับสมาชิกที่เดินเข้ามาจากด้านนอก เพราะเห็นเหตุการณ์ชุลมุนในห้องประชุม

กรณีที่สามีเข้ามาเพราะเกรงว่าดิฉันจะถูกทำร้าย เลยเป็นประเด็นให้พรรคเพื่อไทยอ้างว่าดิฉันพาคนนอกเข้ามาประชุมเพื่อเป็นเหตุยื่นถอดถอนดิฉัน แต่ ป.ป.ช. ไต่สวนแล้วยกคำร้องถอดถอนดิฉัน เพราะมีหลักฐานวิดีโอจากทีวีหลายช่อง ว่า ดิฉันไม่ได้พาคนนอกเข้ามาตามที่ถูกกล่าวหา

หลังเหตุการณ์ 7 ตุลา กรรมาธิการหลายคณะในวุฒิสภาได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ และพบว่าตำรวจไม่ได้ปฏิบัติตามแผนกรกฎ โดยที่ลำดับของแผนกรกฎมีหลายขั้นตอน การใช้แก๊สน้ำตาเป็นขั้นตอนสุดท้าย ต้องใช้การเจรจาก่อน ขั้นต่อมาใช้วิธีดันคนออก ขั้นต่อมาใช้น้ำในการสลายการชุมนุม ซึ่งพบว่าไม่มีการขอรถน้ำมาเตรียมไว้ก่อนการใช้แก๊สน้ำตาเป็นขั้นตอนสุดท้ายของแผนกรกฎ แต่จากการสอบข้อเท็จจริง พบว่า ตำรวจเริ่มต้นก็ใช้แก๊สน้ำตากับผู้ชุมนุมเลย

ในการตรวจสอบของกรรมาธิการในวุฒิสภา พบว่า แก๊สน้ำตาจากจีนเป็นแก๊สน้ำตาที่หมดอายุแล้ว และสาร RDX ในแก๊สน้ำตา มีอานุภาพเท่ากับระเบิดซีโฟร์ มีการทดลองโดยเชิญผู้เชี่ยวชาญมาทำการทดสอบ และพบว่า หากมีการปาแก๊สน้ำตาเข้าใส่ผู้ชุมนุมโดยตรง ทำให้เนื้อฉีกขาดได้

กรรมธิการได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิดมาพิสูจน์เรื่องแก๊สน้ำตา รวมทั้งการตายของน้องโบว์ และพบว่าการตายของน้องโบว์เกิดจากการถูกขว้างด้วยระเบิดแก๊สน้ำตา ไม่ใช่เกิดจากระเบิดที่พกมาเองตามที่มีการกล่าวอ้าง รวมทั้งพบอีกว่า วิถีการยิงแก๊สน้ำตา เป็นการยิงแก๊สน้ำตาที่ผิดหลักวิธีตามที่แนะนำในวิธีการใช้ เพราะเป็นการขว้างตรงเข้าสู่ผู้ชุมนุม ซึ่งวิธีใช้ที่ถูกต้อง ต้องขว้างแบบวิถีโค้ง ให้ห่างจากผู้ชุมนุม การขว้างตรงเข้าสู่ผู้ชุมนุมทำให้เกิดการบาดเจ็บที่รุนแรงเช่น แขน ขาขาด การเสียชีวิตทันที อย่างกรณีของ น้องโบว์ แม้หลังจบการแถลงนโยบายในสภาไปแล้วหลายชั่วโมง แต่ยังมีการยิงแก๊สน้ำตาต่อเนื่องจนถึงเวลาดึกของคืนนั้น

การเสียชีวิตของน้องโบว์เกิดขึ้นบริเวณมุมถนนบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ในเวลาประมาณ 6 โมงเย็น ซึ่งการประชุมสภาสิ้นสุดไปแล้วตั้งแต่ประมาณเที่ยง คนที่ตายและบาดเจ็บจำนวนมากเกิดในช่วงค่ำ หลังการประชุมเสร็จสิ้นไปนานแล้ว

ด้วยความเคารพในคำพิพากษาของศาล แต่จากข้อเท็จจริงที่ดิฉันได้มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยนั้น ดิฉันยังมีคำถามว่าควรมีข้อพิจารณาหรือไม่ว่า กระบวนการสลายการชุมนุมของประชาชนที่ผู้มีอำนาจบริหารบ้านเมืองในขณะนั้นกระทำต่อผู้ชุมนุม จะถือว่าเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ หรือไม่?

ดิฉันหวังว่า ป.ป.ช. จะอุทธรณ์เรื่องนี้ต่อไป เพื่อให้ความเป็นธรรมต่อผู้ที่เสียชีวิต และพิการในเหตุการณ์ 7 ตุลา 51


กำลังโหลดความคิดเห็น