วันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำตัดสินคดีประวัติศาสตร์ การสลายการชุมนุมในเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม 2551 ซึ่งทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องสังเวยการใช้ความรุนแรง 2 ราย บาดเจ็บอีก 471 ราย
จำเลยที่รอคำพิพากษาความผิดในคดีนี้ ประกอบด้วยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และพล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล
ทั้งหมดถูกตั้งข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
ย้อนไปในเหตุการณ์ 7 ตุลาคมทมิฬ ปี 2551 ตำรวจถูกสั่งให้สลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บริเวณหน้ารัฐสภา ซึ่งตำรวจสนองคำสั่งของรัฐบาลนายสมชาย ด้วยความยินดี บางคนใช้ความรุนแรงอย่างเมามัน
โดยเฉพาะพล.ต.ท.ลือชัย สุดยอด รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 ซึ่งเพิ่งรับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2560
การใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชน เริ่มต้นตั้งแต่เช้าตรู่บริเวณหน้ารัฐสภา โดยตำรวจปาระเบิดแก๊สน้ำตายิงใส่ประชาชนที่ชุมนุมด้วยมือเปล่าอย่างไม่ยั้ง
ระเบิดแก๊สน้ำตาที่นำมาใช้ปฏิบัติการมีอานุภาพทำลายล้างสูง จนมีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บสาหัส แขน ขาขาด เลือดนองหน้ารัฐสภา
แต่ปฏิบัติการอันโหดร้ายอำมหิตยังดำเนินต่อไป จนกระทั่งค่ำ
พล.ต.ท.ลือชัย ซึ่งขณะนั้นมียศพันตำรวจเอก ดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ (รอง ผบก.ตปพ.) ได้แสดงธาตุแท้ของความเป็นคนอำมหิตผิดวิสัยนายตำรวจที่มีสำนึกโดยทั่วไป โดยใส่ชุดพรางแอบอยู่หลังแนวโล่ของตำรวจ
และเมื่อสบโอกาส จะโผล่ออกมาปาระเบิดใส่ผู้ชุมนุมอย่างเมามัน เหมือนประชาชนเป็นศัตรูที่พล.ต.ท.ลือชัยจะต้องเข่นฆ่าให้หมด
ปฏิบัติการสนองคำสั่งใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมของรัฐบาลนายสมชาย ซึ่งพล.ต.ท.ลือชัยสนองตอบอย่างออกนอกหน้า เกินภาระหน้าที่ด้วยวิธีการป่าเถื่อน มีหลักฐานการกระทำที่ชัดเจน และถูกเผยแพร่ผ่านสื่อ พร้อมเสียงวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมความอำมหิตของนายตำรวจผู้นี้
แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดแต่อย่างใด ไม่มีผู้บังคับบัญชาคนใดพูดถึงปฏิบัติการที่จงใจทำร้ายประชาชน
พล.ต.ท.ลือชัยไม่ถูกข้อหาใดๆ ตำแหน่งหน้าที่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ถูกกระทบ ไม่มีมลทินใดๆ ในราชการ และยังเติบโตในตำแหน่งหน้าที่ จนล่าสุดก่อนเกษียณ ได้ปูนบำเหน็จในตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 ยศพลตำรวจโทอีกด้วย
กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ชุมนุมกันอย่างสงบ ปราศจากอาวุธ เพื่อขับไล่รัฐบาลนายสมชาย หรือรัฐบาลหุ้นเชิดนายทักษิณ ชินวัตร บาดเจ็บ หลายคนต้องกลายเป็นคนพิการ และหลายคนต้องสังเวยชีวิตจากปฏิบัติการอันป่าเถื่อนเหี้ยมโหดในการสลายการชุมนุมวันที่ 7 ตุลาคม 2551
ผู้ที่ร่วมในปฏิบัติการอันป่าเถื่อน จงใจทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์มีจำนวนมาก โดยเฉพาะตำรวจ ซึ่งเป็นกองกำลังสำคัญของรัฐบาลนายสมชาย และปฏิบัติหน้าที่เกินขอบเขตของกฎหมาย แสดงตัวเป็นข้ารับใช้นักการเมืองอย่างออกนอกหน้า ซึ่งควรจะถูกดำเนินคดีด้วย
เพราะคำตัดสินของศาลฎีกา เป็นการคืนความเป็นธรรมให้กับพี่น้องกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ถูกปราบปรามอย่างป่าเถื่อนในเหตุการณ์ 7 ตุลาฯ
ถ้านายสมชาย พล.อ.ชวลิต พล.ต.อ.พัชรวาท และพล.ต.ท.สุชาติ ต้องรับชะตากรรมคดีสลายการชุมนุม คำถามต่อไปคือ นายตำรวจที่ร่วมใช้ความรุนแรงป่าเถื่อนในเหตุการณ์เดียวกัน ประชาชนผู้เสียหายจะตามรื้อฟื้นคดีได้หรือไม่
จะมีใครลากโยงพฤติกรรมพล.ต.ท.ลือชัยในคดี 7 ตุลาฯ เพื่อดำเนินคดีได้หรือไม่ หรือสังคมจะปล่อยลอยนวลต่อไป