xs
xsm
sm
md
lg

ศาลฎีกาฯ มีมติ 8 ต่อ 1 ห้ามอัยการแก้ต่างให้ “สมชาย-พวก” คดีสลายชุมนุมพันธมิตรฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ลงมติ 8 ต่อ 1 เสียง เห็นว่าพนักงานอัยการไม่มีอำนาจเป็นทนายความแก้ต่างให้ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์ กับพวก” ในคดีที่ ป.ป.ช.ยื่นฟ้องฐานสั่งสลายการชุมนุมพันธมิตรฯ ปี 51 โดยมิชอบ ระบุพนักงานอัยการต้องปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทนายแผ่นดิน มิใช่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อต่อสู้คดีกับแผ่นดินในกรณีที่องค์กรของรัฐเป็นผู้ฟ้องคดีเอง

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 58 ที่ผ่านมา องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีความที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี กับพวกรวม 4 ราย ในฐานะจำเลย กรณีคดีกล่าวหาการสั่งสลายการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551

การออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีความครั้งนี้ยังไม่มีการพิจารณาคดี เนื่องจากฝ่ายจำเลยได้แต่งตั้งพนักงานอัยการเข้ามาทำหน้าที่ทนายแก้ต่างในคดีให้ ซึ่งองค์คณะผู้พิจารณาเห็นว่าพนักงานอัยการไม่มีอำนาจว่าความแก้ต่างในคดีนี้ให้แก่จำเลยทั้งสี่ พร้อมสั่งการให้จำเลยทั้งสี่แต่งตั้งทนายความคนใหม่เข้ามาดำเนินการกระบวนพิจารณาคดีต่อไป

องค์คณะผู้พิพากษาพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 11 บัญญัติว่า “ให้มีพนักงานอัยการไว้เป็นทนายแผ่นดินประจำศาลต่างๆ ...” แม้จะมีบทบัญญัติในมาตรา 14 (4) บัญญัติถึงอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการ แต่การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการต้องปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทนายแผ่นดินตามมาตรา 11 มิใช่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อต่อสู้คดีกับแผ่นดินในกรณีที่แผ่นดินโดยองค์กรของรัฐเป็นผู้ฟ้องคดีเสียเอง

ประกอบกับการดำเนินคดีนี้ ศาลจะต้องใช้สำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นหลักในการพิจารณา เมื่อปรากฎจากคำฟ้องว่า อัยการสูงสุดส่งสำนวน รายงานและเอกสารที่เกี่ยวข้องคืนให้แก่โจทก์เพื่อฟ้องคดีเอง แสดงว่าอัยการสูงสุดเห็นควรไม่ฟ้องคดีนี้ให้แก่องค์กรของรัฐแล้วการที่พนักงานอัยการจะเข้าแก้ต่างคดีนี้ให้แก้จำเลยทั้งสี่ จึงเป็นปฏิปักษ์ต่อการปฎิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการซึ่งได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการที่โจทก์จะฟ้องคดีนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 10 และมาตรา 11 แห่ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542

องค์คณะจึงมีมติด้วยเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 ว่า พนักงานอัยการไม่มีอำนาจเข้าแก้ต่างในคดีนี้ให้แก่จำเลยทั้งสี่ และสั่งให้จำเลยทั้ง 4 แต่งตั้งทนายความใหม่ เข้ามาดำเนินการกระบวนพิจารณาคดีต่อไป

สำหรับคดีนี้ ป.ป.ช.เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. เป็นจำเลยที่ 1-4 ตามลำดับ ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 295 และ 302 กรณีเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่ปิดล้อมทางเข้ารัฐสภา ถนนอู่ทองใน กระทั่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 471 ราย

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ ป.ป.ช.ส่งสำนวนการไต่สวนคดีไปให้ทางอัยการสูงสุด (อสส.) พิจารณายื่นฟ้องคดีให้ แต่ฝ่ายอัยการเห็นว่าสำนวนคดียังมีความไม่สมบูรณ์ทำให้มีการตั้งคณะทำงานร่วมสองฝ่ายขึ้นมาพิจารณาสำนวนคดีตามขั้นตอนกฎหมาย แต่สุดท้ายหาข้อยุติไม่ได้ ทำให้ ป.ป.ช. ต้องยื่นเรื่องฟ้องคดีต่อศาลเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น