xs
xsm
sm
md
lg

กกต.แห้ว! ตุลาการศาล รธน.ไม่รับคำร้องขอวินิจฉัย กม.ลูก เหตุยังเป็นร่างฯ ไม่เข้าเกณฑ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เผยที่ประชุมตุลาการศาล รธน.มีมติเสียงข้างมากไม่รับคำร้อง กกต.ขอวินิจฉัยร่างกฎหมายลูก กกต.ชี้ไม่เข้าหลักเกณฑ์เหตุยังเป็นเพียงร่างฯ รับลำบากใจพิจารณาหากใช้อำนาจกว้างไปจะกระทบอำนาจองค์กรอื่น อีกทั้ง กรธ.กำลังร่าง กม.ลูกคดีศาล รธน.ด้วย



วันนี้ (2 ส.ค.) ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ แถลงภายหลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าที่ประชุมมีมติเสียงข้างมากไม่รับคำร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.มาตรา 26 วรรคหนึ่ง กรณีตัดอำนาจ กกต.คนเดียวสามารถระงับยับยั้งการเลือกตั้งของหน่วยและเขตเลือกตั้ง และมาตรา 27 กรณีตัดอำนาจ กกต.ในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นได้เอง ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ไว้พิจารณาเนื่องจาก ไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เพราะขณะนี้ยังเป็นเพียงร่างกฎหมาย จึงเห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (1) มาตรา 232 ประกอบมาตรา 148 และมาตรา 263 ได้กำหนดให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เสนอความเห็นต่อประธาน สนช. หรือให้นายกรัฐมนตรีส่งความเห็นมายังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากกฎหมายประกาศใช้แล้ว ตามความหมายของรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 หน่วยงานหรือองค์กรที่เห็นว่าอำนาจหน้าที่ของตนเองมีปัญหาสามารถใช้สิทธิยื่นตรงได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2)

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่กกต.บางคนจะใช้สิทธิส่วนตัวในการยื่นคำร้อง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 นายพิมลกล่าวว่า มาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องของการกระทำที่กระทบสิทธิเสรีภาพตามที่รัญธรรมนูญกำหนด ตรงนี้ศาลก็ได้วางแนวทางและหลักเกณฑ์การพิจารณาว่าผ่านการพิจารณาการเยียวยาจากองค์กรที่เกี่ยวข้องหรือไม่ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ศาลก็ลำบากใจ และต้องระมัดระวังในการพิจารณาเพราะหากใช้อำนาจกว้างมากเกินไป ก็อาจไปกระทบอำนาจหน้าที่ขององค์กรอื่น อีกทั้งขณะนี้อยู่ในระหว่างที่ กรธ.กำลังยกร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลก็ต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป

นายพิมลกล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันช่วงเช้าประธานศาลรัฐธรรมนูญได้ร่วมหารือกับประธานองค์กรอิสระอื่นๆ เพื่อพิจารณาการจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 219 วรรคสองที่ได้ผ่านความเห็นชอบองค์กรอิสระมาปรับปรุงแก้ไขในความเห็นและข้อเสนอขององค์กรต่างๆ มาแล้วที่ประชุมมอบหมายให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ส่งร่างฯ ดังกล่าวภายใน 2 สัปดาห์ให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และนายกฯ เพื่อรับฟังความคิดตามมาตรา 219 วรรค 2 อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการกำลักษณะการกระทำที่ถือเป็นความผิดทางจริยธรรมก็ถือว่ากำหนดอย่างครอบคลุมชัดเจน เมื่อประกาศใช้ หากมีการร้องผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่ากระทำผิดจริยธรรม คณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็จะนำร่างดังกล่าวเป็นมาตรฐานในการพิจารณา
กำลังโหลดความคิดเห็น