xs
xsm
sm
md
lg

ศาลไม่รับตีความพ.ร.ป.กกต.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ แถลงภายหลังการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า ที่ประชุมมีมติเสียงข้างมากไม่รับคำร้อง ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง( กกต.) ขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยกกต. มาตรา 26 วรรคหนึ่ง กรณีตัดอำนาจกกต.คนเดียว สามารถระงับยับยั้งการเลือกตั้งของหน่วย และเขตเลือกตั้ง และ มาตรา 27 กรณีตัดอำนาจ กกต. ในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นได้เอง ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ไว้พิจารณาเนื่องจาก ไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามที่รธน.กำหนด เพราะขณะนี้ยังเป็นเพียงร่างกฎหมาย จึงเห็นว่า ตามรธน. มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (1) มาตรา 232 ประกอบมาตรา 148 และ มาตรา 263 ได้กำหนดให้สมาชิก สนช. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เสนอความเห็นต่อประธาน สนช. หรือให้นายกรัฐมนตรี ส่งความเห็นมายังศาลรธน. เพื่อวินิจฉัยเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากกฎหมายประกาศใช้แล้ว ตามความหมายของรธน. มาตรา 210 หน่วยงาน หรือองค์กรที่เห็นว่า อำนาจหน้าที่ของตนเองมีปัญหา สามารถใช้สิทธิยื่นตรงได้ ตามรธน. มาตรา 210(2)
ผู้สื่อข่าวถามว่า กกต.บางคนจะใช้สิทธิส่วนตัว ในการยื่นคำร้อง ตามรธน. มาตา 213 นายพิมล กล่าวว่า มาตรา 213 ของรธน. เป็นเรื่องของการกระทำที่กระทบสิทธิ เสรีภาพ ตามที่รธน.กำหนด ซึ่งตรงนี้ศาลก็ได้วางแนวทาง และหลักเกณฑ์การพิจารณาว่า ผ่านการพิจารณาการเยียวยาจากองค์กรที่เกี่ยวข้องหรือไม่ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ศาลก็ลำบากใจ และ ต้องระมัดระวังในการพิจารณา เพราะหากใช้อำนาจกว้างมากเกินไป ก็อาจไปกระทบอำนาจหน้าที่ขององค์กรอื่น อีกทั้งขณะนี้อยู่ในระหว่างที่ กรธ.กำลังยก ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรธน. ซึ่งศาลก็ต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป
นายพิมล กล่าวว่า ช่วงเช้า ประธานศาลรธน. ได้ร่วมหารือกับประธานองค์อิสระอื่นๆ เพื่อพิจารณาการจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรม ตามรธน. มาตรา 219 วรรคสอง ที่ได้ผ่านความเห็นชอบองค์กรอิสระ มาปรับปรุงแก้ไขในความเห็น และข้อเสนอขององค์กรต่างๆ มา แล้วที่ประชุมมอบหมายให้ประธานศาลรธน. ส่งร่างฯดังกล่าวภายใน 2 สัปดาห์ ให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ นายกฯ เพื่อรับฟังความคิดตาม มาตรา 219 วรรค 2 อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการกำลักษณะการกระทำที่ถือเป็นความผิดทางจริยธรรมก็ถือว่ากำหนดอย่างครอบคลุมชัดเจน เมื่อประกาศใช้หากมีการร้องผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่ากระทำผิดจริยธรรม คณะกรรมการป.ป.ช.ก็จะนำร่างดังกล่าวเป็นมาตรฐานในการพิจารณา
กำลังโหลดความคิดเห็น