xs
xsm
sm
md
lg

รู้ไหม? ญี่ปุ่นเพิ่งมีบัตรประชาชนปีนี้ รัฐบาลหวังเก็บข้อมูลรายได้เหมือนกับไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รัฐบาลญี่ปุ่นริเริ่มใช้เลขประจำตัวประชาชนเป็นครั้งแรกในปีนี้ โดยมุ่งหวังเก็บข้อมูลภาษีและรายได้ของประชาชน และได้รับการต่อต้านจากประชาชนเรื่องการละเมิดสิทธิส่วนตัวไม่แตกต่างกับกรณีของประเทศไทย

ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการบรรจุข้อมูลรายได้และอาชีพลงในบัตรประชาชนของไทย หลายคนอาจไม่ทราบว่าประชาชนชาวญี่ปุ่นไม่เคยมีบัตรประชาชน จนกระทั่งรัฐบาลชุดปัจจุบันเพิ่งริเริ่มนำระบบเลขประจำตัวประชาชนมาบังคับใช้ในปีนี้

“มาย นัมเบอร์” คือ ระบบเลขประจำตัวประชาชนที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะนำมาใช้กับประชาชนชาวญี่ปุ่นทุกคน รวมทั้งชาวต่างชาติที่พำนักในญี่ปุ่นนานกว่า 6 เดือนขึ้นไป โดยเป็นเลข 12 หลักที่จะติดตัวประชาชนแต่ละคนไปตลอดชีวิต รัฐบาลญี่ปุ่นได้เริ่มแจกจ่ายเลข “มาย นัมเบอร์” ตั้งแต่เดือนตุลาคม ปีนี้ และจะบังคับใช้ทั่วประเทศในเดือนมกราคม ปี 2016

ประชาชนชาวญี่ปุ่นไม่เคยมีบัตรประชาชน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันการทำธุรกรรมต่างๆหรือติดต่อกับหน่วยงานราชการจะใช้บัตรประกันสังคม, ทะเบียนราษฎร์, ใบขับขี่ หรือพาสปอร์ต รวมทั้งตราประทับ หากแต่บัตรส่วนใหญ่ไม่มีภาพถ่าย รวมทั้งไม่มีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลกัน ทำให้ต้องตรวจทานเอกสารจำนวนมาก
หนังสือเดินทางเป็นเอกสารราชการเพียงไม่กี่อย่างในญี่ปุ่นที่มีรูปถ่าย
รัฐบาลญี่ปุ่นอ้างว่า การมีเลขประจำตัวประชาชนจะช่วยรวบรวมฐานข้อมูลต่างๆ เช่น สถานะครอบครัว, รายได้, ภาษี และสวัสดิการสังคมให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งจะทำให้จัดเก็บภาษีได้ครอบคลุมมากขึ้น รวมทั้งให้ความช่วยเหลือกับผู้ด้อยโอกาสได้อย่างทั่วถึง

เบื้องหลังการบังคับใช้ระบบบัตรประชาชน คือ รัฐบาลญี่ปุ่นพบว่ามีประชาชนจำนวนมากแจ้งข้อมูลเท็จเรื่องภาษี รวมทั้งขอสวัสดิการสังคมอย่างซ้ำซ้อน ขณะที่คนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริงกลับไม่ได้รับสวัสดิการ

การมีเลขประจำตัวประชาชนจะทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นล่วงรู้รายได้และสวัสดิการสังคมต่างๆของประชาชนแต่ละคน โดยกำหนดว่าการทำธุรกรรมทางการเงิน, ขอบัตรเครดิต, รวมทั้งการเปิดบัญชีซื้อ-ขายหลักทรัพย์ รวมทั้งการหักภาษีจากเงินเดือนจะต้องระบุเลข “มาย นัมเบอร์”
ชาวญี่ปุ่นประท้วงการใช้ มายนัมเบอร์ หรือเลขประจำตัวประชาชน
แน่นอนว่า ประชาชนชาวญี่ปุ่นจำนวนมากกังวลว่า การใช้เลขประจำตัวประชาชนจะทำให้รัฐบาลสามารถล่วงรู้ข้อมูลส่วนตัวเกือบทุกสิ่งทุกอย่าง และยังมีประชาชนจำนวนหนึ่งยื่นฟ้องต่อศาลว่า ระบบนี้ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ด้านรัฐบาลญี่ปุ่นได้บรรเทาความกังวลของประชาชน โดยระบุว่า “มาย นัมเบอร์” จะใช้เฉพาะงานเรื่องภาษี, สวัสดิการ และการบรรเทาภัยพิบัติเท่านั้น นอกจากนี้ยังออกกฎหมายห้ามบริษัทและหน่วยงานราชการแจ้งเลข “มาย นัมเบอร์” ให้กับบุคคลภายนอกด้วย

อย่างก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนจะเชื่อมโยงเลข “มาย นัมเบอร์” เข้ากับทะเบียนบ้าน, พาสปอร์ต รวมทั้งบัญชีธนาคาร ซึ่งทำให้ “มาย นัมเบอร์” กลายเป็น “รหัสชีวิต” เหมือนกับเลขประจำตัวประชาชนของไทย.
กำลังโหลดความคิดเห็น