xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ไม่พบช่องชงศาลตีความ พ.ร.ป. ยื่นแค่ 2 ประเด็น โต้ข่าวกำหนดวันเลือกตั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (แฟ้มภาพ)
“กกต.สมชัย” แจงผลประชุม กกต. ไร้อาวุธลับ ไม่พบช่องยื่นศาล รธน.ตีความร่าง พ.ร.ป.กกต. สั่ง สนง.ศึกษาเพื่อยื่นแค่ 2 ประเด็น อำนาจจัดเลือกตั้งท้องถิ่น-อำนาจสั่งเลือกตั้งใหม่ ไม่ฟันธงยื่นส่วนตัวหลัง กม.ใช้บังคับ แก้ข่าวกำหนดวันเลือกตั้ง อ้างสื่อเข้าใจผิด ระบุเป็นเพียงการประเมินของ จนท.

วันนี้ (18 ก.ค.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงภายหลังการประชุม กกต.ว่า ที่ประชุม กกต.มีมติเอกฉันท์ให้สำนักงาน กกต.พิจารณาช่องทางที่จะยื่นร่าง พ.ร.ป.กกต.ต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญใน 2 ประเด็นจาก 7 ประเด็นที่มีการเสนอให้ที่ประชุม กกต.พิจารณา คือ 1. ให้ยื่นในประเด็นที่มาตรา 26 ของ พ.ร.ป.กกต.ตัดอำนาจ กกต.คนเดียวในการสั่งระงับยับยั้งเลือกตั้งได้หากพบว่ามีการกระทำการที่เข้าข่ายเป็นการทุจริต โดยเห็นว่าไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 224 วรรคท้าย ที่กำหนดชัดเจนว่า กกต.คนเดียวมีอำนาจในการสั่งระงับยับยั้งการเลือกตั้งของหน่วยหรือเขตเลือกตั้งได้ 2. ให้ยื่นในประเด็นมาตรา 27 ของ พ.ร.ป.กกต.ที่ตัดอำนาจ กกต.ในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นได้เอง ทั้งที่รัฐธรรมนูญมาตรา 224 (1) บัญญัติให้ กกต.มีอำนาจทั้งจัด หรือมอบอำนาจให้หน่วยงานหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นก็ได้

“ทั้ง 2 ประเด็นนี้ กกต.เห็นว่าหากประกาศใช้เป็นกฎหมายจะเกิดผลเสีย นำไปสู่การตีความว่าบทบัญญัติขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และอาจมีปัญหาในแง่ของการปฏิรูปประเทศ ไม่สามารถทำให้เกิดการเลือกตั้งที่สุจริต เที่ยงธรรม กกต.จึงเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าขัดรัฐธรรมนูญ และให้สำนักงานไปศึกษาช่องทางกฎหมายในการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสัปดาห์นี้ หากมีช่องทางก็ให้เสนอต่อประธาน กกต.ลงนามทันที แต่ถ้าไม่มีช่องทางก็ให้รายงานต่อที่ประชุม กกต.ส่วนประเด็นอื่นๆ กกต.ไม่ติดใจที่จะส่งศาล โดยเฉพาะเรื่องเซตซีโร่ กกต. เพราะถ้ายื่นก็จะทำให้สังคมเข้าใจว่าทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว"

นายสมชัยยังกล่าวอีกว่า ที่กกต.ไม่ใช้ช่องทางยื่นหนังสือผ่าน สนช.หรือนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเห็นว่าทั้งสองช่องทางเราไม่สามารถไปก้าวล่วงได้ อีกทั้งที่ผ่านมา กกต.ได้แสดงความเห็นต่อสาธารณะแล้วว่าร่างกฎหมายมีปัญหาอย่างไร ก็เพียงพอที่นายกฯ จะนำไปประกอบการพิจารณาว่า สมควรที่จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาก่อนนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ หรือไม่ ซึ่งการจะยื่นหรือไม่ ก็เป็นสิทธิของนายกรัฐมนตรีในฐานะฝ่ายบริหาร

นายสมชัยยังกล่าวถึงการใช้สิทธิส่วนตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า ถ้า กกต.คนใดเห็นว่าถูกกระทบสิทธิก็สามารถยื่นเรื่องไปได้ ตรงนี้ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล ที่ประชุม กกต.ไม่ได้มีการพูดคุยกันว่าใครจะยื่นหรือไม่ยื่นอย่างไร แต่ถ้าจะยื่น ก็คงต้องยื่นเมื่อกฎหมายบังคับใช้แล้ว เพราะเมื่อยังไม่บังคับใช้ก็ยังไม่ถือว่าถูกละเมิดสิทธิ

“ส่วนตัวผมเองก็ยังไม่มีคำตอบว่าจะต้องยื่นหรือไม่ เพราะต้องรอจนถึงวันนั้นก่อนค่อยว่ากันแต่ยืนยันว่าถ้าจะยื่นก็ไม่ได้ยื่นเพื่อให้ตัวเองอยู่ต่อ แต่จะยื่นเพื่อให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญนี้มีข้อความว่าพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน”

นายสมชัยยังกล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวว่า กกต.กำหนดวันเลือกตั้งในช่วง ส.ค. 61 ว่า ยืนยันว่า กกต.ยังไม่ได้มีการกำหนดวันเลือกตั้งที่แท้จริง และแผนงานดังกล่าวเป็นเพียงการประเมินของเจ้าหน้าที่เพื่อเตรียมการภายใน ยังไม่เคยมีการเสนอให้ที่ประชุม กกต.ได้รับทราบเลย ไม่ได้เป็นปฏิทินการเลือกตั้งดังนั้นสื่อจึงอาจเข้าใจผิด
กำลังโหลดความคิดเห็น