xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.กกต.ปัดถอดใจไม่ยื่นตีความ กม.ลูก “สมชัย” แย้มส่อชงศาลพิสูจน์ความศักดิ์สิทธิ์ รธน.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประธาน กกต.บอกไม่ติดใจกฎหมายลูก กกต.แล้ว อ้างทำหน้าที่แย้งเต็มที่ จ่อไปพักผ่อน ยันไม่ได้ถอดใจ แต่ต้องดูว่าอะไรเป็นอะไร รอเสียงส่วนใหญ่ให้ทำยังไงต่อ กั๊กข่าวลาออก ระบุถ้าประชดก็ไม่ควรทำ ด้าน “สมชัย” ย้ำ 4 ช่องทาง ยันมติพรุ่งนี้ไม่มีผลผูกพันยื่นตีความต่างหาก แย้มส่อใช้พิสูจน์ความศักดิ์สิทธิ์ รธน.

วันนี้ (17 ก.ค.) นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวกรณีการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.ป.กกต. ว่าไม่ทราบเหมือนกัน ต้องแล้วแต่มติที่ประชุม กกต.ในวันที่ 18 ก.ค.นี้ แต่ส่วนตัวไม่ติดใจอะไรแล้ว เพราะได้ทำหน้าที่ในฐานกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายและแถลงข้อโต้แย้งต่อที่ประชุม สนช.ตามมติ กกต. ถือว่าเป็นการทำหน้าที่อย่างครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว และหมดหน้าที่ในการทำตรงนี้แล้ว

“ส่วนตัวจะได้ไปพักผ่อนหรือทำอะไรที่อยากจะทำ ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้ว่าถอดใจ แต่เราต้องดูว่าอะไรเป็นอะไร ที่ประชุม สนช.มีมติยืนยันตามร่างที่ผ่านที่ประชุม สนช.ด้วยคะแนนเสียง 194 เสียง ต่อ 0 เราก็ควรต้องพิจารณาว่าจะทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหนเพียงไร” ประธานกรรมการการเลือกตั้งกล่าว

เมื่อถามว่า หากที่ประชุม กกต.ยังมีกรรมการคนอื่นติดใจต้องการให้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญในฐานะประธานจะดำเนินการอย่างไร นายศุภชัยกล่าวว่า ก็ต้องดูว่าเสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุม กกต.เห็นอย่างไร ตนในฐานะประธาน กกต.ก็ต้องดำเนินการไปตามมติจะไปขัดอะไรก็ได้ ส่วนที่ก่อนหน้านี้มี กกต.2 คน เป็นเสียงข้างน้อยไม่เห็นด้วยการการโต้แย้งในประเด็นเซตซีโร่ กกต. ก็เข้าใจว่าในการประชุมครั้งนี้ กกต.ทั้ง 2 คนก็คงจะยืนตามมติเดิม

นายศุภชัยยังกล่าวงถึงกระแสข่าวว่า กกต.จะชิงลาออกก่อนว่า เราต้องดูว่าการลาออกเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติหรือไม่ ถ้าลาออกเพื่อประชดประชันก็ไม่ควรทำเราเป็นผู้ใหญ่ เขาให้อยู่รักษาการก็ควรทำหน้าที่ต่อไป ยกเว้นเขาไม่อยากให้เราอยู่ สำหรับร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมีข้อโต้แย้งใน 3 ประเด็น ทราบว่าจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายในวันที่ 20 ก.ค.นี้และจะประชุมนัดแรกในวันที่ 25 ก.ค. ซึ่งตนก็พร้อมที่จะทำหน้าที่กรรมาธิการ โดยจะดูว่า 3 ประเด็นดังกล่าวปัญหาไม่ตรงตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ที่ทราบจะมีการปรับเปลี่ยนบทบัญญัติที่เกี่ยวกับไพรมารีโหวตเพื่อให้ปฏิบัติง่ายขึ้น กกต.ในฐานะผู้ปฏิบัติก็ยินดี เพราะตอนที่ยังไม่ตกลงกันว่าจะแก้ไข กกต.ก็ได้ชี้แจงไปแล้วในฐานะผู้ปฏิบัติไม่มีปัญหา สามารถปฏิบัติได้

ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. แถลงถึงช่องทางในการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า มีทั้งหมด 4 ช่องทาง โดยช่องทางแรก เป็นการยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีในฐานะที่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 148 (2) ที่บัญญัติว่า ก่อนนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าหากนายกรัฐมนตรีเห็นว่ามีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญสามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้ เพื่อชี้ให้นายกฯ เห็นว่า หากให้ร่างกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ก็จะเกิดปัญหาในทางปฏิบัติ ช่องทางที่ 2 กกต.มีมติในฐานะเป็นองค์กรอิสระยื่นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 (1) ที่กำหนดว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยกฎหมายหรือร่างกฎหมายว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ช่องทางที่ 3 คือ กรรมการแต่ละคนใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งก็จะยื่นได้เฉพาะประเด็นเซตซีโร่ กกต. ส่วนช่องทางที่ 4 เป็นกรณีที่ร่าง พ.ร.ป.กกต.ประกาศใช้บังคับแล้ว กกต.ก็สามารถยื่นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 231 ต่อผู้การแผ่นดินให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ซึ่งช่องทางทั้งหมดจะมีการนำเข้าหารือในที่ประชุม กกต.ในวันพรุ่งนี้ (18 ก.ค.) เพื่อมีมติ

“ต้องรอดูมติที่ประชุม กกต.ในวันพรุ่งนี้ว่าจะเลือกช่องทางใด อาจจะเลือกดำเนินการมากว่า 1 ช่องทางก็ได้ หรืออาจจะไม่ยื่นเลยก็ได้” นายสมชัยกล่าว

นายสมชัยกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม มติ กกต.ในวันพรุ่งนี้จะไม่ผูกพันการยื่นตีความของ กกต.แต่ละคน ซึ่งตนเห็นว่ารัฐธรรมนูญนี้มีข้อดีที่ทำให้ประชาชนมีสิทธิ มีเสียงที่แท้จริง เปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายสามารถช่วยตรวจสอบกฎหมายให้มีรอบคอบสมบูรณ์ ไม่ใช่การเอาชนะซึ่งกันและกัน เพราะที่ผ่านมา กกต.ได้ส่งความเห็นแย้งไแล้วว่าร่างกฎหมายดังกล่าวหากนำไปสู่การปฏิบัติจะมีปัญหาเรื่องของการตีความ

เมื่อถามว่า หากที่ประชุม กกต.มีมติไม่ยื่นตีความ ส่วนตัวจะยื่นต่อรัฐธรรมนูญเองหรือไม่ นายสมชัยกล่าวว่า ตนยังไม่คิดอะไร และถึงตนจะยื่นก็ไม่ได้ยื่นเพื่อให้ตัวเองอยู่ต่อ แต่เป็นการยื่นเพื่อให้รู้ว่ารัฐธรรมนูญมีความศักดิ์สิทธิ์ ทำให้ประชาชนเพียงคนเดียวรู้ว่าสามารถยื่นคำร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

“เมื่อรัฐธรรมนูญออกมาแล้ว กรธ.ก็บอกเองว่าประชาชนมีสิทธิยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ นี่ก็เป็นตัวอย่างถือเป็นการทดลอง อาจจะเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่ประชาชนคนไทยจะสามารถใช้สิทธิเพื่อพิสูจน์ความศักดิสิทธิ์ของกฎหมาย หากศาลบอกว่าไม่สามารถยื่นคำร้องได้ ก็จะได้รู้ว่าสิทธิของประชาชนที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญนั้นอาจจะไม่เป็นจริง” นายสมชัยกล่าว

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาของ กกต.ที่มีนายสุรินทร์ นาควิเชียร เป็นประธาน เมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา ทางสำนักกฎหมายของสำนักงาน กกต.ได้ขอความเห็นต่อที่ประชุมคณะที่ปรึกษาว่า หาก กกต.จะมีหนังสือไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 148 ( 2) ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความจะสามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาฯ เห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้นายกฯ มีหน้าที่รับหรือผ่านคำร้องให้ฝ่ายใด รวมทั้งต้องพิจารณาว่าประเด็นหลักที่ต้องการจะยื่นนั้น เป็นประโยชน์ส่วนตน หรือประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งใน 6 ประเด็นที่ กกต.เห็นแย้งนั้นก่อนหน้านี้คณะกรรมการที่ปรึกษาฯ เห็นว่ามีเพียงประเด็นเดียวที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญคือกรณีที่รัฐธรรมนูญมาตรา 224 วรรคสอง บัญญัติให้ กกต.คนเดียวมีอำนาจสั่งระงับยับยั้งการเลือกตั้งของหน่วยหรือเขตเลือกตั้งได้ แต่มาตรา 26 ของ ร่างพ.ร.ป.กกต.กลับบัญญัติให้ต้องรายงานต่อที่ประชุม กกต.เพื่อมีมติ ซึ่งประเด็นข้อโต้แย้งทั้งหมดก็ได้มีพิจารณาในที่ประชุม สนช. และคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่ายไปแล้ว ดังนั้นจีงเห็นว่าไม่มีประเด็นอะไรที่จะต้องมีการยื่นตีความอีก




กำลังโหลดความคิดเห็น