xs
xsm
sm
md
lg

"ศุภชัย"ชี้พ.ร.ป.กกต.จบแล้ว ไม่ยื่นศาลรธน.ตีความ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. กล่าวถึงการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตีความร่าง พ.ร.ป.กกต.ว่า ขึ้นอยู่กับมติที่ประชุมกกต.ในวันนี้ (18 ก.ค.) แต่ส่วนตัวไม่ติดใจอะไรแล้ว เพราะได้ทำหน้าที่ในฐานะกมธ.ร่วม 3 ฝ่าย ชี้แจงข้อโต้แย้ง ต่อที่ประชุมสนช.ตามมติกกต.ไปแล้ว ถือว่าเป็นการทำหน้าที่อย่างครบถ้วนแล้ว
"ไม่ได้ถอดใจ แต่เราต้องดูว่า อะไรเป็นอะไร ที่ประชุมสนช. มีมติยืนยันตามร่าง ที่ผ่านที่ประชุมสนช. ด้วยคะแนนเสียง 194 เสียง ต่อ 0 เราก็ควรต้องพิจารณาว่าจะทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน เพียงไร"
อย่างไรก็ตาม ต้องดูว่าเสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมกกต. เห็นอย่างไร ตนในฐานะประธาน ก็ต้องดำเนินการไปตามมติ ส่วนที่ก่อนหน้านี้มี กกต.2 คน เป็นเสียงข้างน้อย ไม่เห็นด้วยการการโต้แย้งในประเด็น เซตซีโร กกต. ก็เข้าใจว่าในการประชุมครั้งนี้ กกต.ทั้ง 2 คน ก็คงจะยืนตามมติเดิม
นายศุภชัย ยังกล่าวถึงกระแสข่าวว่า กกต. จะชิงลาออกก่อนว่า เราต้องดูว่าการลาออกเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติหรือไม่ ถ้าลาออกเพื่อประชดประชัน ก็ไม่ควรทำ เขาให้อยู่รักษาการ ก็ควรทำหน้าที่ต่อไป ยกเว้นเขาไม่อยากให้อยู่
ด้าน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. กล่าวถึงช่องทางในการยื่นเรื่องต่อศาลรธน.ว่า มี 4 ช่องทาง โดยช่องทางแรก เป็นการยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่มีอำนาจตามรธน. มาตรา 148 ( 2) ที่บัญญัติว่า ก่อนนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ หากนายกรัฐมนตรีเห็นว่ามีปัญหาความชอบด้วยรธน. สามารถส่งให้ศาลรธน. พิจารณาวินิจฉัยได้ เพื่อชี้ให้นายกฯเห็นว่า หากให้ร่างกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ก็จะเกิดปัญหาในทางปฏิบัติ
ช่องทางที่ 2 กกต.มีมติในฐานะเป็นองค์กรอิสระ ยื่นตามรธน.มาตรา 210(1) ที่กำหนดว่า ศาลรธน.มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยกฎหมาย หรือร่างกฎหมายว่าชอบด้วยรธน. หรือไม่
ช่องทางที่ 3 กรรมการแต่ละคนใช้สิทธิตามรธน. มาตรา 213 ยื่นต่อศาลรธน.วินิจฉัย ซึ่งก็จะยื่นได้เฉพาะประเด็น เซตซีโรกกต.
ช่องทางที่ 4 เป็นกรณีที่ ร่าง พ.ร.ป.กกต. ประกาศใช้บังคับแล้ว กกต.ก็สามารถยื่นตามรธน. มาตรา 231 ต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรธน.วินิจฉัย ซึ่งช่องทางทั้งหมด จะมีการนำเข้าหารือในที่ประชุมกกต. ในวันนี้ ( 18 ก.ค.) เพื่อมีมติ
"ต้องรอดูมติที่ประชุม กกต.ในวันนี้ว่าจะเลือกช่องทางใด ซึ่งอาจจะเลือกดำเนินการมากกว่า 1 ช่องทาง ก็ได้ หรืออาจจะไม่ยื่นเลยก็ได้"
อย่างไรก็ตาม มติกกต.ในวันนี้ จะไม่ผูกพันการยื่นตีความของกกต. แต่ละคน ซึ่งตนเห็นว่า รธน.นี้มีข้อดี ที่ทำให้ประชาชนมีสิทธิ มีเสียงที่แท้จริง เปิดโอกาสให้แต่ละฝ่าย สามารถช่วยตรวจสอบกฎหมายให้มีรอบคอบสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เมื่อถามว่า หากที่ประชุมกกต. มีมติไม่ยื่นตีความ ส่วนตัวจะยื่นต่อศาลรธน. เองหรือไม่ นายสมชัย กล่าวว่า ตนยังไม่คิดอะไร และถึงตนจะยื่น ก็ไม่ได้ยื่นเพื่อให้ตัวเองอยู่ต่อ แต่เป็นการยื่นเพื่อให้รู้ว่า รธน.มีความศักดิ์สิทธิ ทำให้ประชาชนเพียงคนเดียวรู้ว่า สามารถยื่นคำร้องตรงต่อศาลรธน.ได้
"เมื่อรธน.ออกมาแล้ว กรธ.บอกเองว่า ประชาชนมีสิทธิยื่นตรงต่อศาลรธน.ได้ นี่ก็เป็นตัวอย่าง ถือเป็นการทดลอง อาจจะเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่ประชาชนคนไทยจะสามารถใช้สิทธิ เพื่อพิสูจน์ความศักดิสิทธิ์ของกฎหมาย หากศาลบอกว่าไม่สามารถยื่นคำร้องได้ ก็จะได้รู้ว่า สิทธิของประชาชนที่เขียนไว้ในรธน.นั้น อาจจะไม่เป็นจริง" นายสมชัยกล่าว
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาของกกต. ที่มีนายสุรินทร์ นาควิเชียร เป็นประธาน เมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่ผ่านมา ทางสำนักกฎหมายของสำนักงานกกต. ได้ขอความเห็นต่อที่ประชุมคณะที่ปรึกษาว่า หากกกต. จะมีหนังสือไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ใช้อำนาจตามรธน. มาตรา 148 ( 2) ยื่นเรื่องให้ศาลรธน.ตีความ จะสามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาฯ เห็นว่า ตามรธน. ไม่ได้กำหนดให้นายกฯ มีหน้าที่รับหรือผ่านคำร้องให้ฝ่ายใด รวมทั้งต้องพิจารณาว่า ประเด็นหลักที่ต้องการจะยื่นนั้น เป็นประโยชน์ส่วนตน หรือประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งใน 6 ประเด็นที่ กกต.เห็นแย้งนั้นก่อนหน้านี้คณะกรรมการที่ปรึกษาฯ เห็นว่า มีเพียงประเด็นเดียวที่ไม่สอดคล้องกับรธน. คือ กรณีที่รธน. มาตรา 224 วรรคสอง บัญญัติให้ กกต.คนเดียวมีอำนาจสั่งระงับ ยับยั้ง การเลือกตั้งของหน่วยหรือเขตเลือกตั้งได้ แต่ มาตรา 26 ของร่าง พ.ร.ป.กกต. กลับบัญญัติให้ต้องรายงานต่อที่ประชุมกกต. เพื่อมีมติ ซึ่งประเด็นข้อโต้แย้งทั้งหมด ก็ได้มีพิจารณาในที่ประชุม สนช. และกมธ.ร่วม 3 ฝ่ายไปแล้ว ดังนั้นจึงเห็นว่า ไม่มีประเด็นอะไรที่จะต้องมีการยื่นตีความอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น