xs
xsm
sm
md
lg

มติสนช.ฉลุย"เซตซีโร" กกต.ฮึดยื่นศาลรธน.ตีความ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (13ก.ค.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณา ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หลังจากที่คณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ได้พิจารณาทบทวนข้อโต้แย้ง 6 ประเด็น ของกกต.เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. ในฐานะประธานกมธ.ร่วม 3 ฝ่าย ได้รายงานผลการพิจารณากรณีที่ กกต.โต้แย้งร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าว 6 ประเด็น ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรธน. ได้แก่ 1. มาตรา11 วรรค 3 การกำหนดคุณสมบัติของกก.สรรหา เกินกว่าที่รธน.บัญญัติ 2. มาตรา12 วรรค1 การกำหนดคุณสมบัติของกกต. เกินกว่าที่รธน.บัญญัติ 3. มาตรา 26 หน้าที่และอำนาจของกกต. แต่ละคน 4. มาตรา 27 อำนาจการจัดการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น 5. มาตรา42 การบัญญัติให้กกต. มอบอำนาจการสอบสวนได้ 6. มาตรา70 วรรค1 การให้ประธานกกต. และกกต. ที่ดำรงตำแหน่งในวันก่อนที่ พ.ร.ป.กกต.ใช้บังคับ พ้นจากตำแหน่ง นับจากวันที่ พ.ร.ป.ฉบับนี้ใช้บังคับ ซึ่ง กมธ.ร่วม 3 ฝ่าย ประกอบด้วย สนช. 5 คน กรธ. 5 คน และ ประธานกกต. พิจารณาแล้ว มีมติเสียงข้างมากในแต่ละประเด็นว่า ไม่ขัดต่อเจตนารมณ์ของรธน. และตรงตามเจตนารมณ์ทุกประการ จึงไม่มีการแก้ไขร่างที่ สนช.ให้ความเห็นชอบแล้วแต่อย่างใด
นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. ในฐานะกมธ.เสียงข้างน้อย ในกมธ.ร่วม 3ฝ่าย ได้อภิปรายประเด็นที่สงวนความเห็นทั้ง 6 ประเด็น ต่อที่ประชุม โดยยืนยันว่า แต่ละประเด็นมีความขัดแย้งต่อเจตนารมณ์รธน. โดยเฉพาะ มาตรา 70 วรรค 1 ที่ระบุให้กกต.ต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ นับจากวันที่ร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าว มีผลบังคับใช้ ถือว่าไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์รธน. มาตรา 267 วรรค 2 และไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม หลักธรรมาภิบาล ประเพณีรธน. รวมทั้งเป็นการออกกฎหมายแบบเลือกปฏิบัติ เพราะองค์กรอิสระอื่น อาทิ ศาลรธน. - ป.ป.ช. ยังสามารถอยู่ในตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้
"กมธ.ได้แก้ไขเนื้อหาที่เป็นหลักการสาระสำคัญของกรธ. โดยมิได้รับฟังเหตุผลให้รอบด้านจากผู้เกี่ยวข้อง และไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา การให้กกต.พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ เป็นการจำกัดและลิดรอนสิทธิบุคคลมากเกินไป เราไม่ได้ต่อสู้เพื่อการคงอยู่ของกกต. อันเป็นผลประโยชน์ส่วนตน แต่ในฐานะนักกฎหมาย เมื่อเห็นว่า ร่างพ.ร.ป.ฉบับนี้ ไม่สอดคล้องกับรธน.จึงต้องโต้แย้ง กกต.ต้องรักษาศักดิ์ศรี แม้จะรู้ล่วงหน้าว่าผลจะออกมาอย่างไร สนช.เป็นผู้ออกกฎหมาย ภายใต้หลักนิติธรรม จึงขอให้พิจารณาทบทวนร่างพ.ร.บ.กกต.อีกสักครั้ง" นายศุภชัย กล่าว
ด้านนายปกรณ์ นิลประพันธ์ กรธ. ในฐานะกมธ.ร่วม 3 ฝ่าย เสียงข้างมาก ชี้แจงว่า สิ่งที่กมธ.ร่วม ลงมติไป ไม่ได้ยึดตัวบุคคล แต่ยึดเจตนารมณ์และหลักการเป็นตัวตั้ง การลงมติเป็นไปด้วยจิตใจสะอาด สว่าง สงบ ปราศจากอคติในการใช้ดุลยพินิจ เป็นไปตามหลักการและเหตุผล บทบัญญัติตามรธน. ไม่ได้ระบุให้องค์กรอิสระต้องคงอยู่ต่อไป แต่ให้ขึ้นอยู่กับโครงสร้าง และองค์ประกอบขององค์กรอิสระแต่ละแห่ง ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด ไม่อยากให้มองว่าการดำรงอยู่ในตำแหน่ง เป็นเรื่องสิทธิ ถ้ามองเป็นเรื่องสิทธิ ก็จะคงอยู่ตลอดไป แต่ขอให้มองเป็นเรื่องการอาสามาปฏิบัติหน้าที่ และการให้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 70 วรรค 1 ไม่ใช่การลงโทษ เพราะมีการระบุชัดเจนให้ผู้พ้นตำแหน่งได้รับบำเหน็จจากการพ้นการปฏิบัติหน้าที่ หากเป็นการลงโทษ คงไม่ระบุเรื่องนี้ไว้ และไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม แต่เป็นความจำเป็น เมื่อมีการปรับโครงสร้างองค์กร ไม่ใช่การออกกฎหมายย้อนหลังโดยเป็นโทษ
ทั้งนี้ ที่ประชุมสนช.ได้ลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ป.กกต. ด้วยคะแนน 194 ต่อ 0 งดออกเสียง 7 จากนั้น ส่งให้นายกรัฐมนตรี นำขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ ถือเป็นร่าง พ.ร.ป. ฉบับแรกที่ สนช.ให้ความเห็นชอบ และเสร็จสิ้นกระบวนการตามรธน.ปี 60 กำหนด
ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ในส่วนของกกต. จะมีความชัดเจน ในวันจันทร์ที่ 17 ก.ค.นี้ ว่าจะส่งศาลรธน.ขอให้วินิจฉัยว่าร่างดังกล่าวชอบด้วยรธน.หรือไม่ ส่วนจะใช้ช่องทางใดในการยื่นนั้น กกต. จะร่วมประชุมกับคณะที่ปรึกษากฎหมายก่อน และในวันที่ 18 ก.ค.ก็จะประชุมเพื่อมีมติอีกครั้ง
ทั้งนี้ ช่วงดังกล่าวยังอยู่ในระยะเวลา 5 วัน ที่รธน.กำหนดว่า นับแต่นายกรัฐมนตรีได้รับร่างกฎหมายจากสนช.แล้ว ให้รอไว้ก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อดูว่าจะมีสมาชิก สนช. 1 ใน 10 เข้ายื่นคำร้องขอให้ศาลรธน. วินิจฉัยความชอบด้วยกฎหมายของร่างกฎหมายหรือไม่ หากไม่มี ก็ให้ดำเนินการเรื่องการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น