xs
xsm
sm
md
lg

กม.พรรคการเมือง-กกต.ไม่ขัดรธน. "บิ๊กตู่"ยังห้ามจัดกิจกรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (4ก.ค.) มีการประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญร่วมกันระหว่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันให้ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. คนที่ 1 เป็นประธานคณะกมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยกกต. โดยคณะกมธ.ชุดนี้ มีกรอบเวลาทำงาน 15 วัน ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 14 ก.ค. จากนั้นเมื่อเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม นายสุรชัย ได้แจ้งถึงประเด็นที่ต้องมีการพิจารณาใน ร่าง พ.ร.ป.กกต. จำนวน 6 ประเด็น ซึ่งได้แก่ 1. การกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้เป็นกรรมการสรรหากกต. 2. การกำหนดเพิ่ม เรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกกต. 3. การให้กกต.คนเดียว ที่หากพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายเป็นทุจริตสามารถสั่งระงับ ยับยั้งการเลือกตั้งในหน่วยหรือเขตเลือกตั้งนั้นได้ 4. การให้กกต. มีอำนาจมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการจัดการเลือกตั้งผู้บริหาร และสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 5. การกำหนดให้กกต.มอบอำนาจให้เลขาธิการ กกต. หรือพนักงาน กกต. เป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจในการสืบสวน สอบสวน หรือไต่สวนได้ และ 6. การบัญญัติให้กกต. ชุดปัจจุบันพ้นจากตำแหน่ง หรือการ เซตซีโร โดยจะเป็นการพิจารณารายประเด็น
หลังการประชุม นายสมชาย แสวงการ สมาชิกสนช. ในฐานะโฆษกกมธ. เปิดเผยว่าที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ในทั้ง 6 ประเด็น ไม่ขัด หรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้มีเพียงนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. ที่ไม่เห็นด้วย และขอสงวนความเห็นไว้ โดยในวันที่ 7 ก.ค.นี้ คณะกมธ.ร่วม จะมีการประชุมเพื่อตรวจรายละเอียดอีกครั้ง ก่อนนำเสนอประธานสนช. เพื่อบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม สนช. ซึ่งคาดว่าน่าจะเข้าได้วันที่ 13 ก.ค. หรือ วันที่ 14 ก.ค. ซึ่งถือว่าอยู่ในกรอบ ระยะเวลา15 วัน
"เชื่อว่าสมาชิก สนช. จะโหวตผ่านร่างดังกล่าว โดยใช้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง หรือหากจะคว่ำร่าง ต้องใช้ 2 ใน 3 ของสมาชิก แต่มองว่า ไม่มีเหตุผลที่จะคว่ำ เพราะ สนช.เป็นผู้ผ่านร่างมาเอง และกมธ.ร่วม ก็ไม่มีการแก้ไขอะไร หากจะคว่ำ ต้องตอบสังคมให้ได้ว่าเพราะอะไร สมมติว่าเกิดมีการคว่ำร่าง ทางกรธ. จะเป็นผู้ร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ ซึ่งคงใช้เวลาไม่นาน เพราะใช้ร่างเดิมอยู่แล้ว จึงไม่ถือว่าเป็นการยื้อโรดแมปเลือกตั้ง เท่าที่ทราบจะมีการตั้ง กมธ.ร่วมพิจารณาในร่าง กฎหมายลูกอีกหลายฉบับ แต่เชื่อว่าจะยังอยู่ในกรอบเวลา 8 เดือน จึงไม่น่าจะกระทบกับโรดแมป”นายสมชาย กล่าว
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.เปิดเผยว่า ที่ประชุมกกต.มีมติเอกฉันท์ เห็นตามที่สำนักงานกกต. เสนอว่า ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ไม่มีเนื้อหาขัดหรือแย้งต่อเจตนารมณ์รธน. จึงไม่ต้องส่งความเห็นกลับไปยัง สนช. ภายใน 10 วัน อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการปฏิบัติตาม ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ยอมรับว่า อาจจะมีปัญหา ซึ่งที่ประชุมกกต.ก็ให้แนวปฏิบัติกับทางสำนักงานฯ ว่า หากร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว กกต.ต้องแถลงชี้แจงให้กับพรรคการเมืองทั้งใหม่ และเก่าทราบว่า จะต้องทำอะไรบ้าง เช่น 6 เดือนแรก หลังประกาศใช้พรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นใหม่ จะต้องหาสมาชิกใน 4 ภาคให้ได้ 5 พันคน และต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท เป็นต้น โดยพรรคการเมืองเอง ก็ต้องศึกษากฎหมายให้เข้าใจว่ามีเนื้อหาสาระอย่างไร
"มติกกต.วันนี้เป็นมติเอกฉันท์ 4 เสียง เนื่องจากประธานกกต. ติดไปร่วมประชุมกมธ.ร่วม 3 ฝ่าย พิจารณา พ.ร.ป.กกต. แต่ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะมติกกต.วันนี้ ก็สอดคล้องกับความเห็นของคณะที่ปรึกษากฎหมายของกกต. และความเห็นของสำนักงาน โดยการปฏิบัติตามร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง เป็นรายละเอียดใหม่ที่อาจจะยุ่งยากต่อการปฏิบัติในระยะแรก ๆ แต่กระบวนการต่างๆ มุ่งหวังที่จะทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง มีความเป็นสถาบัน ซึ่งกกต. ก็จะพยายามช่วยอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติให้กับพรรคการเมืองมากที่สุด" นายสมชัย กล่าว
ด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. กล่าวถึงกรณีฝ่ายการเมืองเรียกร้องให้คสช. พิจารณาผ่อนปรนเรื่องการประชุมพรรคและกิจกรรมทางการเมืองในช่วงนี้ว่า "ก็ให้เรียกร้องไป จะไปเรียกร้องแทนเขา ทำไม"
กำลังโหลดความคิดเห็น