xs
xsm
sm
md
lg

มติ กกต.งัด 6 ปมเห็นแย้ง กม.ลูกไม่เป็นไปตาม รธน.ส่ง สนช.ศุกร์นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (แฟ้มภาพ)
ที่ประชุม กกต. มีมติให้โต้แย้งกฎหมายลูก กกต. ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น มีเรื่องเซตซีโร่ ชี้ ขัดหลักนิติประเพณี คาด ส่ง สนช. เย็นศุกร์นี้ ระบุ ยังไม่ได้ กม. ลูกพรรคการเมือง เผย “ธีรวัฒน์ - ประวิช” ไม่เห็นด้วยแย้งปมโละ กกต. “สมชัย” ปัดจ่อเอาคืน

วันนี้่ (20 มิ.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง นายภูมิพิทักษ์ กองแก้ว รองเลขาธิการกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงหลังการประชุม ว่า ที่ประชุม กกต. มีมติให้โต้แย้งร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ใน 6 ประเด็นที่เห็นว่าไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ คือ 1 มาตรา 11 วรรคสามมีการกำหนดเพิ่ม เรื่อง การกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้เป็นกรรมการสรรหา กกต. ว่า ให้คัดเลือกบุคคลซึ่งมีความเป็นกลาง ซื่อสัตย์ สุจริต มีความเข้าใจภารกิจของ กกต. ไม่มีพฤติกรรมยอมตนอยู่ใต้อาณัติพรรคการเมืองใด ซึ่งถือว่าเขียนเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 203 ประกอบมาตรา 201 และ มาตรา 202 บัญญัติไว้

2. มาตรา 12 วรรคหนึ่ง มีการกำหนดเพิ่มเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่า บุคคลที่จะเป็น กกต. ต้องไม่มีพฤติการณ์ยอมตนอยู่ใต้อาณัติพรรคการเมืองใดๆ รวมตลอดทั้งมีทัศนคติที่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลสำเร็จ ซึ่งเขียนเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญมาตรา 203 วรรคท้าย ประกอบ 206 และ 222 บัญญัติไว้

3. มาตรา 26 ที่บัญญัติให้ กกต. คนเดียวหากพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายเป็นทุจริตสามารถสั่งระงับ ยับยั้งการเลือกตั้งในหน่วยหรือเขตเลือกตั้งนั้นได้ และให้รายงานต่อ กกต. ทราบโดยเร็ว เห็นว่า ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 224 วรรคสามที่บัญญัติให้เรื่องดังกล่าว กกต. คนเดียวมีอำนาจเด็ดขาดดำเนินการได้โดยไม่ต้องรายงานต่อ กกต. 4. มาตรา 27 ให้ กกต. มอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการจัดการเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขณะที่ รัฐธรรมนูญมาตรา 224 (1) และ (2) บัญญัติให้ กกต. มีอำนาจในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นได้เองหรือมอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการได้

5. มาตรา 42 วรรคหนึ่ง ที่ให้ กกต. มอบอำนาจให้เลขาธิการ กกต. หรือพนักงาน กกต. เป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจในการสืบสวน สอบสวน หรือไต่สวนได้ ซึ่งเป็นการเขียนเกินกว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 224 วรรคสองที่บัญญัติให้อำนาจดังกล่าวเป็นของ กกต. เท่านั้น 6. มาตรา 70 ที่ให้ กกต. ปัจจุบันพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ โดยเห็นว่าบทบัญญัตินี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 3 มาตรา 26 และ 27 ในเรื่องของหลักนิติธรรมและหลักนิติประเพณีที่ปฏิบัติมา ทั้งนี้ การพิจารณาเรื่องดังกล่าวของ กกต. เป็นการประชุมลับ ซึ่ง กกต. ก็จะส่งหนังสือแย้งดังกล่าวไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติในเย็นวันศุกร์ที่ 23 มิ.ย. นี้

สำหรับประเด็นร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น ที่ประชุมเพียงแต่รับทราบถึงการที่ สนช. ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.ป. ดังกล่าว รวมถึงกรณีที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เชิญ นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต. ด้านพรรคการเมืองไปหารือในวันพรุ่งนี้ (21 มิ.ย.) แต่ กกต. ยังไม่ได้รับร่างดังกล่าว จึงยังไม่มีความเห็นใดๆ ในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม หากไม่มีประเด็นที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่มีปัญหาในทางปฏิบัติไม่ว่าจะยากหรือง่าย กกต. ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ดังนั้น การจะหารือในวันพรุ่งนี้ไม่มีผลผูกพันต่อการพิจารณาของ กกต.

มีรายงานด้วยว่า ในการพิจารณาข้อโต้แย้งทั้ง 6 ประเด็นของ กกต. 5 ประเด็น กกต. มีมติเอกฉันท์ มีเพียงประเด็นเรื่องคุณสมบัติ กกต. ที่ที่ประชุมมีมติ 3:2 โดย นายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ และ นายประวิช รัตนเพียร เป็น 2 เสียงข้างน้อย ที่ไม่เห็นด้วยกับการแย้ง สนช. เรื่องคุณสมบัติ เพราะถือเป็นเรื่องส่วนตัว

ด้าน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. เปิดเผยว่า ในประด็นร่าง พ.ร.ป. พรรคการเมืองเบื้องต้นที่ประชุม กกต. เห็นว่า ไม่ขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่ขณะนี้ กกต. ยังไม่รับร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งการที่ กกต. ส่งผู้แทนไปหารือกับ กรธ. ในวันพรุ่งนี้ตามคำเชิญ ก็เพราะว่า กกต. มีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายนี้มาแต่แรก และหากท้ายที่สุด กกต. ไม่เห็นด้วยว่าร่างกฎหมายนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ใช่เรื่องของการเอาคืน แต่เราเห็นว่าเป็นเรื่องของแนวทางปฏิบัติซึ่ง ฝ่ายปฏิบัติของ กกต. ก็ยืนยันต่อที่ประชุม กกต. ถึงแม้จะยากแต่ก็ทำได้
กำลังโหลดความคิดเห็น