“กกต.สมชัย” แจงทำความเห็นแย้ง สนช. ยก 3 ประเด็นค้านเซตซีโร่ ทั้งขัดหลักนิติธรรม เจตนารมณ์ รธน. และการตรากฎหมาย คาดจัดส่งช้าสุดไม่เกิน 22 มิ.ย. นับชั้น กมธ.ไม่คิดว่าชนะ เปิดทางสู้สุดท้ายเล็งใช้สิทธิยื่นศาล รธน.ตาม ม.210 (1)
วันนี้ (15 มิ.ย.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยถึงการทำความเห็นแย้งเกี่ยวกับร่าง พ.ร.ป.กกต.ไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า ประเด็นที่ กกต.จะยื่นมี 4-5 ประเด็น ในจำนวนนี้จะรวมถึงเรื่องการเซตซีโร่ กกต.ด้วย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างสำนักกฎหมายของสำนักงานกำลังนำเหตุผลของคณะที่ปรึกษาและที่ประชุม กกต.ที่เห็นว่าการเซตซีโร่ กกต.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาเรียบเรียงก่อนที่จะเสนอเป็นร่างหนังสือความเห็นแย้งให้ที่ประชุม กกต.วันที่ 20 มิ.ย.ได้พิจารณา ซึ่งจะมีเหตุผลประกอบการเซตซีโร่ กกต.ไม่ชอบรวม 3 ประเด็น คือ 1. การขัดหลักนิติธรรม 2. ขัดเจตนารมณ์การยกร่างรัฐธรรมนูญ และ 3. กระบวนการตรากฎหมายไม่ชอบ โดยจะมีการแนบเอกสารประกอบรวมถึงเอกสารบันทึกเจตนารมณ์การยกร่างมาตราดังกล่าวของคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญไปให้พิจารณาด้วย ทั้งนี้ คาดว่าทาง กกต.จะสามารถจัดส่งหนังสือความเห็นแย้งไปยัง สนช.ได้อย่างช้าไม่เกิน 22 มิ.ย.
“ในชั้นกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายก็ไม่คิดว่าเราจะชนะเพราะว่าองค์กรประกอบคณะกรรมาธิการมีประธาน กกต.เพียงคนเดียวที่เป็นตัวแทน กกต. ส่วนที่เหลือ10 คนมาจาก กรธ.และ สนช. คิดว่าทั้งสองหน่วยงานก็คงยืนยันในจุดยืนเดิม แต่ก็ต้องสู้เพราะ กกต.มีหน้าที่ปกป้องกฎหมายให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ”
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของ กกต.เชื่อว่าในชั้นของกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย กกต.ไม่น่าจะเปลี่ยนความคิดของ กรธ.และ สนช. ได้ การโหวตร่างกฎหมายของที่ประชุม สนช.ในชั้นนี้ผลที่ออกมาก็จะยังคงประเด็นให้เซตซีโร่ กกต.เหมือนเดิม โดยเมื่อสิ้นสุดในขั้นตอนของ สนช.ออกเป็นร่างกฎหมายที่รัฐบาลเตรียมนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อให้ตราเป็นกฎหมาย มีความเป็นไปได้ที่ระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว กกต.จะอาศัยช่องทางตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 (1) ที่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือร่างกฎหมายได้ เพื่อให้เกิดการตีความที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม หากผลการตีความของศาลรัฐธรรมนูญออกมาว่าร่างกฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยเกิดขึ้นก่อนทรงลงพระปรมาภิไธยตราเป็นกฎหมาย นายกฯ ก็สามารถยื่นขอพระราชทานร่างกฎหมายดังกล่าวคืนมาเพื่อปรับแก้ให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอีกครั้ง หรือหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยมาภายหลังร่าง พ.ร.ป.กกต.ประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว นายกฯ ก็ต้องเสนอแก้ไขกฎหมายตามกระบวนการต่อไป