xs
xsm
sm
md
lg

มติ กกต.ยัน กม.ลูกพรรคการเมืองไม่ขัด รธน.ตั้งอนุฯ ไต่สวนปม 90 สนช.ถือหุ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (แฟ้มภาพ)
กรรมการการเลือกตั้ง เผย ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ ยันร่างกฎหมายลูกพรรคการเมืองไม่ขัดแย้งเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ เตรียมแจงรายละเอียดพรรค พร้อมตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง ปม “เรืองไกร” ร้อง 90 สนช. ถือครองหุ้นส่อขัด รธน.

วันนี้ (4 ก.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกต. มีมติเอกฉันท์เห็นตามที่สำนักงาน กกต. เสนอว่า ร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ไม่มีเนื้อหาขัดหรือแย้งต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ และเมื่อรัฐธรรมนูญมาตรา 267 วรรค 5 กำหนดว่า หากมีความเห็นแย้งก็ไม่ต้องส่งความเห็นกลับไปยัง สนช. ภายใน 10 วัน แต่เมื่อขณะนี้ กกต. ไม่มีความเห็นแย้ง ดังนั้น ก็จะไม่มีหนังสือแจ้งกลับไป อย่างไรก็ตามในเรื่องการปฏิบัติตามร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง ยอมรับว่า อาจจะมีปัญหา ซึ่งที่ประชุม กกต. ก็ให้แนวปฏิบัติกับทางสำนักงานฯ ว่า หากร่าง พ.ร.ป. ฉบับนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว กกต. ต้องแถลงชี้แจงให้กับพรรคการเมืองทั้งใหม่ และเก่า ทราบว่า จะต้องทำอะไรบ้าง เช่น 6 เดือนแรกหลังประกาศใช้พรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นใหม่จะต้องหาสมาชิกใน 4 ภาคให้ได้ 5 พันคน และต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท เป็นต้น โดยพรรคการเมืองเองก็ต้องศึกษากฎหมายให้เข้าใจว่ามีเนื้อหาสาระอย่างไร

“มติ กกต. วันนี้เป็นมติเอกฉันท์ 4 เสียง เนื่องจากประธาน กกต. ติดไปร่วมประชุมคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายพิจารณา พ.ร.ป. กกต. แต่ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะมติ กกต. วันนี้ก็สอดคล้องกับความเห็นของคณะที่ปรึกษากฎหมายของ กกต. และความเห็นของสำนักงาน โดยการปฏิบัติตามร่าง พ.ร.ป. พรรคการเมืองเป็นรายละเอียดใหม่ที่อาจจจะยุ่งยากต่อการปฏิบัติในระยะแรกๆ แต่กระบวนการต่างๆ มุ่งหวังที่จะทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็งมีความเป็นสถาบัน ซึ่ง กกต. ก็จะพยายามช่วยอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติให้กับพรรคการเมืองมากที่สุด” นายสมชัย กล่าว

นายสมชัย ยังกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติตามที่สำนักกฎหมายของสำนักงาน กกต. เสนอให้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณี นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ตรวจสอบการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 186 ประกอบมาตรา 187 และมาตรา 170(5) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการถือครองหุ้นของสมาชิกสภานิติบัญญัติแแห่งชาติ (สนช.) 90 คน ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 264 วรรคสอง โดยประธาน กกต. จะได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน นับจากนี้ และคณะอนุกรรมการไต่สวนมีเวลาดำเนินการสอบสวนให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ก่อนเสนอความเห็นต่อ กกต. โดยหากเห็นว่าไม่มีมูลก็จะเสนอ กกต. ยกคำร้อง แต่หากเห็นว่ามีมูล ก็จะเสนอให้ กกต. มีความเห็นเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
กำลังโหลดความคิดเห็น