ประธาน กกต.อุบไต๋ช่องทางส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่าง พ.ร.ป.กกต. ชี้เป็นอาวุธลับ ไม่กลัวคำสั่งพิเศษเซตซีโร่ กกต. พร้อมปกป้ององค์กรให้อยู่อย่างมีคุณภาพ ส่งต่อ กกต.ใหม่โดยไม่วางยา กร้าวเป็นเสือต้องไม่ร้องให้ ต้องมีศักดิ์ศรี ยันสอบคุณสมบัติ รมต.-สนช.ตามหน้าที่
วันนี้ (6 ก.ค.) นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างฯ ระบุว่า กกต.ยังไม่สามารถส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้เอง เนื่องจากต้องรอให้กฎหมายมีผลใช้บังคับก่อนว่า เรื่องนี้ต้องไปศึกษาว่ามีช่องทางใดในการยืนเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามระเบียบวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญฉบับเดิมได้หรือไม่ เพราะ กกต.มีมติเอกฉันท์เห็นว่า 6 ประเด็นในร่าง พ.ร.ป.กกต.ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ส่วนช่องทางตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (1) เป็นเพียงช่องทางที่ให้อำนาจ หรือที่ศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาว่าร่างกฎหมาย หรือกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่ง กกต.ก็ต้องหารือกัน ไม่ใช่ยื่นไปแล้วเสียรังวัด ส่วนจะใช่ช่องทางใดในการยื่นนั้นยังบอกไม่ได้ ถือเป็นอาวุธลับ เพราะทุกฝ่ายก็มีอาวุธลับเป็นของตัวเอง
ส่วนที่ประธาน กรธ.ระว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเห็นแย้งขัดต่อรัฐธรรมนูญ กกต.ที่ทำหน้าที่จะต้องพ้นสภาพไปทันที ก็เห็นว่าการจะพ้นไปทันทีหรือไม่ เราไม่ได้วิตก เราพร้อมไปอยู่แล้ว ไม่ได้กังวลอะไร แต่ถ้าศาลรัฐธรรมูญเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญก็จะทำให้กฎหมายฉบันนี้ตกไป ใช้บังคับไม่ได้ แต่เราก็ยังอยู่ตามกฎหมายพิเศษ ไม่ได้ไปทันที แต่ไม่ขอบอกว่าเป็นกฎหมายอะไร
“พวกเราไม่ได้กังวล จะช้าหรือเร็วเราก็ต้องไปอยู่ดี ถ้าเราไปเร็วเราก็ได้พักผ่อน ไม่ต้องมากังวลหรือถกเถียงอะไรให้วุ่นวาย แม้ตัวเราจะต้องพ้นจากตำแหน่งไป แต่ก็ต้องรักษาองค์กรให้อยู่อย่างมีคุณภาพ เป็นเสือต้องไม่ร้องให้ ต้องมีศักดิ์ศรี”
นายศุภชัยยังกล่าวกรณีที่มีการมองว่า กกต.มีมติตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรีและ สนช. ถือเป็นนำเรื่องนี้มาต่อรองกับปมจะถูกเซตซีโร่ ว่าไม่ใช่ แต่เป็นการทำตามอำนาจหน้าที่เมื่อนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทยยื่นร้องให้ตรวจสอบ กกต.ก็ต้องพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่ทำก็จะโดนข้อหาละเว้นการปฎิบัติหน้าที่
“ไม่ได้ต่อรองเรื่องเซตซีโร่ เรามีหน้าที่อะไรก็ทำไป ไม่คิดว่าจะยื้อเพื่อให้อยู่ในตำแหน่ง เราต้องรอบคอบ เพราะกรณีนี้เป็นเรื่องของการกระทบสิทธิ” นายศุภชัยกล่าว และว่าไม่กลัวที่จะพ้นจากตำแหน่งจากคำวินิจฉัยของศาล หรือคำสั่งพิเศษใดๆ
ประธาน กกต.ยังกล่าวว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่เห็น 3 ประเด็นข้อโต้แย้งของ กรธ.เกี่ยวกับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง คาดว่าจะส่งมาถึง กกต.ในวันนี้ (6 ก.ค.) ซึ่งในชั้นของกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ตนจะยืนยันตามมติ กกต.ว่าไม่มีบทบัญญัติใดที่ขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องของแนวทางปฎิบัติ ซึ่งกอนหน้านี้ กกต.ได้ถามเจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติ ทั้งเจ้าหน้าที่ และผู้บริหารของสำนักงาน กกต.ก็ยืนยันว่าสามารถปฎิบัติได้ ไม่มีปัญหาอะไร เพราะผู้บริหารฯ และพนักงานมีประสบการณ์เกี่ยวกับเลือกตั้งถึง 19 ปี ที่เราเห็นว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญไมได้เป็นการวางยา
อย่างไรก็ตาม กกต.ไม่เคยมีการไปพูดคุยหรือล็อบบี้อดีต กกต.ที่อยู่ในกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย เพราะทุกคนเป็นผู้ใหญ่ การพิจารณาจะต้องยึดหลักเหตุและผล อีกทั้งการล็อบบี้เป็นเรื่องที่ผิด ไม่มีใครทำกัน ส่วนท้ายที่สุดหากยื่นเรื่องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วออกมาอย่างไรเราต้องเคารพ เพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร จะไปโต้แย้งไม่ได้