xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.เคาะทุนประเดิมตั้งพรรค1.5ล้าน "ไพรมารีโหวต"คัดผู้สมัคร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณา ร่าง พ.ร.ป.ฉบับดังกล่าวว่า กมธ.ได้ลงมติโหวตในมาตราสำคัญๆ 3-4 มาตรา คือ กรณีทุนประเดิมจัดตั้งพรรคการเมือง ที่ตามคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำหนดไว้ที่ 1 ล้านบาท แต่กมธ.พิจารณาแล้วเห็นว่า ควรแก้ไขเป็นให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้กำหนด โดยยึดจากตัวเลขค่าใช้จ่ายการเลือกตั้ง ส.ส.ของแต่ละคนในครั้งที่ผ่านมา คือ 1.5 ล้านบาท ดังนั้นทุนประเดิมในการจัดตั้งพรรคการเมือง จึงขยับจาก 1 ล้านบาท เป็น 1.5 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การจ่ายทุนประเดิมพรรค ไม่จำเป็นต้องนำมาจ่ายในวันจัดตั้งพรรคการเมือง สามารถนำมาจ่ายในวันที่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งได้ หากไม่ส่งผู้สมัคร ก็ไม่ต้องจ่าย แต่ถ้าพรรคใดไม่จ่ายทุนประเดิม จะไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองของ กกต.
นอกจากนี้ ในตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค ที่กรธ. ตัดตำแหน่งเลขาธิการพรรค ไม่เป็นกรรมการบริหารพรรคนั้น ทางกมธ.เห็นว่า ควรให้เลขาธิการพรรค เป็นกรรมการบริหารพรรคเช่นเดิม
ทั้งนี้ หากที่ประชุมสนช. ลงมติเห็นด้วยกับเนื้อหาตามที่ กมธ.เสนอมา และถ้า กรธ.ไม่เห็นด้วยกับร่างที่ สนช.ลงมติไป ก็ต้องตั้งกมธ.ร่วม 11 คนประกอบด้วยกรธ. 5 คน สนช. 5 คน ประธานศาลรัฐธรรมนูญ หรือประธานองค์กรอิสระ 1 คน มาพิจารณาแก้ไขร่างกฎหมายร่วมกัน แล้วส่งไปให้ สนช. พิจารณา หากสนช. ยืนยันด้วยมติ 2 ใน 3 ไม่เห็นด้วยกับร่างที่แก้ไขใหม่ ถือว่า ร่างกฎหมายดังกล่าว ตกไป
ด้านนายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต. กล่าวว่า ประเด็นค่าสมาชิกพรรคนั้น กมธ.ให้คงตามร่างที่ กรธ.เสนอมา คือ ให้สมาชิกพรรคเสียค่าบำรุงพรรคปีละไม่เกิน 100 บาท
อย่างไรก็ตาม มีบทเฉพาะกาลยกเว้นปีแรก ให้จัดเก็บไม่น้อยกว่า 50 บาท และปีต่อไปจึงขยับเพิ่มเป็นไม่เกิน 100 บาท ขณะเดียวกัน กมธ. ยังมีมติให้แก้ไขเรื่องการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส. ทั้งระบบ ส.ส.เขต และบัญชีรายชื่อ จากเดิมที่กำหนดให้กรรมการบริหารพรรคเป็นผู้คัดเลือกผู้สมัคร แก้ไขเป็นดังนี้
ในกรณีผู้สมัครส.ส.เขต จะให้พรรคประกาศรับสมัครผู้สมัครส.ส. จากนั้นจะส่งรายชื่อผู้สมัครไปให้สาขาพรรค หรือตัวแทนจังหวัดเป็นผู้พิจารณา ว่าจะให้ใครเป็นผู้สมัคร โดยเลือกมาเขตละ 2 คน เพื่อส่งรายชื่อกลับมาให้กรรมการบริหารพรรคพิจารณา ถ้าหากไม่เลือกผู้ที่ได้รับคะแนนลำดับ 1 ต้องให้เหตุผลว่า เพราะอะไร และหากไม่เลือกทั้งสองคน ให้ส่งเรื่องกลับไปที่สาขาพรรค เพื่อคัดเลือกผู้สมัครใหม่
ส่วนการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ 150 คน กำหนดให้คณะกรรมการสรรหาแต่ละพรรคจัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัคร 150 คน โดยให้หัวหน้าพรรค อยู่ในลำดับ 1 ส่วนลำดับที่ 2-150 ให้พรรคทำบัญชีรายชื่อ และส่งไปให้สาขาพรรค หรือตัวแทนจังหวัดคัดเลือก โดยตัวแทนสาขาพรรค 1 คน สามารถเลือกได้ 15 รายชื่อ เมื่อลงคะแนนเสร็จแล้ว จึงส่งกลับมาให้กรรมการบริหารพรรค จัดลำดับตามคะแนนโหวตตามที่สาขาพรรคลงคะแนนมา ซึ่งวิธีการนี้ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น