xs
xsm
sm
md
lg

กรธ.เปิดผลสำรวจ 91% ประชาชนหนุนเพิกถอนสิทธิ กก.บห.พรรค หากพบทุจริต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อุดม รัฐอมฤต
โฆษก กรธ. เผยผลสำรวจความเห็นประชาชน 91.4% หนุนเพิกถอนสิทธิกรรมการบริหารพรรค หากมีการทุจริตเลือกตั้ง ค้านรัฐจ่ายเงินสมทบให้กับพรรคการเมือง พร้อมเสนอให้พรรคการเมืองควรเปิดโอกาสประชาชนมีส่วนร่วม และดำเนินการต่างๆ ของพรรค

นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชน ต่อร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ว่า กรธ. ได้ขอความร่วมมือจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในการสำรวจความคิดเห็นประชาชน ต่อ ร่าง พ.ร.ป. ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยได้มีการสำรวจความเห็นในภาคต่างๆ ซึ่งมีผลการสำรวจในประเด็นต่างๆ ดังนี้

1) ในเรื่องของการติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการจัดทำ พ.ร.ป. นั้น ประชาชนร้อยละ 76.9 มีการติดตามข่าวสารในเรื่องดังกล่าว โดยมีการติดตามผ่านช่องทางของสถานีโทรทัศน์มากที่สุดถึงร้อยละ 70.3

2) ประชาชนร้อยละ 21.2 มีความเห็นว่า ผู้ที่จะเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ไม่จำเป็นต้องเสียค่าสมาชิกเลย ส่วนประชาชนร้อยละ 30.7 เห็นควรให้พรรคเป็นผู้กำหนดเอง และมีประชาชนร้อยละ 16. 2 ให้เสียค่าสมาชิกฯ ปีละ 100 บาท ประชาชนร้อยละ 13.1 ให้เสียค่าสมาชิกฯ ปีละ 200 บาท ประชาชนร้อยละ 18.8 ให้เสียปีละมากกว่า 200 บาท

3) ประชาชนร้อยละ 50.4 เห็นว่า รัฐไม่ควรจ่ายเงินสมทบให้กับพรรคการเมือง เมื่อพรรคการเมืองได้รับเงินค่าสมาชิกจากสมาชิกพรรคเป็นรายปีแล้ว ส่วนร้อยละ 22.1 รัฐจะต้องจ่ายในจำนวนที่เท่ากับเงินค่าสมาชิกพรรค และ ร้อยละ 27.5 รัฐจ่ายในจำนวนครึ่งหนึ่งของเงินค่าสมาชิกพรรค

4) ประชาชน ร้อยละ 83.9 เห็นด้วยกับการกำหนดให้แต่ละพรรคการเมือง มีเงินประเดิมจำนวน 1,000,000 บาท จากสมาชิกผู้ก่อตั้งพรรค ส่วนร้อยละ 16.1 ไม่เห็นด้วย

5) ในเรื่องการดำเนินการเพื่อให้พรรคการเมืองที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริงนั้น ประชาชนร้อยละ 80.3 เห็นว่า พรรคการเมืองควรเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมและดำเนินการต่างๆ เช่น การเป็นสมาชิกพรรค การจัดการหาเสียง รวมทั้งการตรวจสอบการทำงานของพรรค นอกจากนั้น เช่น การมีโอกาสกำหนดบุคคลที่พรรคจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง การมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของพรรค การเปิดเผยข้อมูลสำคัญๆ ให้สมาชิกพรรคทราบนั้น ประชาชนมีการให้ความเห็นลดหลั่นกันลงมา

6) ประชาชนร้อยละ 79 เห็นว่า ควรกำหนดค่าสมัครเข้ารับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. จำนวน 10,000 บาท ส่วนอีกร้อยละ 21 มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันไปตั้งแต่ จำนวนน้อยกว่า 5,000 บาท จนถึงมากกว่า 10,000 ขึ้นไป

7) ประชาชน ร้อยละ 91.4 เห็นด้วยกับการกำหนดให้ผู้สมัครพรรคการเมืองใด ที่มีการทุจริตการเลือกตั้งและกรรมการบริหารพรรคนั้น มีส่วนรู้เห็น เมื่อมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้กรรมการบริหารพรรค ถูกเพิกถอนสิทธิในการเลือกตั้งและเพิกถอนสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย ส่วนร้อยละ 16.1 ไม่เห็นด้วย

8) ประชาชน ร้อยละ 86.3 เห็นด้วยกับการกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งในแต่ละเขตเลือกตั้ง สามารถมีจำนวนผู้ช่วยหาเสียง หรือหัวคะแนน ได้ไม่เกินจำนวนตามที่กฎหมายกำหนด และจะต้องจดทะเบียนและแสดงบัญชีทรัพย์สิน ส่วนร้อยละ 13.7 ไม่เห็นด้วย

นายอุดม แถลงอีกว่า ในวันพรุ่งนี้ (7 ธันวาคม) เวลา 13.00 น. ที่ห้องสารนิเทศ อาคารรัฐสภา 1 ชั้น 1 กรธ. ได้นัดพบสื่อมวลชนเพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง ฉบับที่ กรธ. จัดทำแล้วเสร็จเบื้องต้น ก่อนการเผยแพร่ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการ และในวันที่ 14 ธันวาคม เวลา 13.30 - 16.00 น. กรธ. จะเปิดเวทีชี้แจงกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือมีส่วนได้เสียเกี่ยวกับร่าง พ.ร.ป. พรรคการเมือง ที่ห้องประชุมรัชนี สโมสรสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ถ.พิชัย เขตดุสิต กทม.


กำลังโหลดความคิดเห็น