xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ทุบ “บูรณุปกรณ์” สะเทือน “ชินวัตร-เสื้อแดง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บุญเลิศ บูรณุปกรณ์
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เหมือนฟ้าผ่าสนามการเมืองเชียงใหม่ หนึ่งในฐานที่มั่นของ “ทักษิณ ชินวัตร” ตลอดจนเครือข่ายคนเสื้อแดง เมื่อรัฐบาล คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ทุบกลุ่ม “บูรณุปกรณ์” หนึ่งในกลุ่มตระกูลที่ก้าวขึ้นมาครองความยิ่งใหญ่ทั้งด้านธุรกิจ-ขุมข่ายการเมือง จนครอบคลุมแทบทุกพื้นที่ของ “เชียงใหม่”

“บูรณุปกรณ์” เริ่มต้นมาจากครอบครัวคนจีน ที่มีฐานะยากจน มีต้นตระกูลคือ “นายใช้” ผู้เป็นพ่อที่เดินทางจากเมืองจีน มาปักหลักอยู่เชียงใหม่ เปิดร้านขายของชำชื่อ “จิ้มชุ่ยใช้” อยู่ย่านกาดหลวง กับนางจิตรา ผู้เป็นแม่ และมีลูกๆ อีก 11 คน (บุญเลิศ บูรณุปกรณ์ เป็นลูกคนที่ 10)

แต่ขุมข่ายทางธุรกิจของตระกูล “บูรณุปกรณ์” ถือว่า เติบโตอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นกลุ่มทุนที่มั่งคั่งมากที่สุดกลุ่มหนึ่งของเชียงใหม่ ในระยะเวลาไม่ถึงครึ่งศตวรรษ จากร้าน “จิ้มชุ่ยไช้” ขยายเป็นร้านขายผ้าพื้นเมืองย่านถนนท่าแพ “ทัศนาภรณ์” เมื่อปี 2512 รับผ้าพื้นเมืองจากแหล่งผลิต เช่น ป่าซาง - สันกำแพง ฯลฯ มาจำหน่าย

ก่อนขยับขยายมาเป็น “เชียงใหม่ทัศนาภรณ์” ย่านถนนสายเชียงใหม่-สันกำแพง ในปี 2518 ยุคที่การท่องเที่ยวบนถนนสาย “บ่อสร้าง-สันกำแพง” กำลังบูมเต็มที่

เป็น “เชียงใหม่ทัศนาภรณ์” ที่เปรียบเหมือนเสาหลักของครอบครัว “บูรณุปกรณ์” ก่อนแตกแขนง ขยายเครือข่ายทางธุรกิจครอบคลุมทั้งด้านการท่องเที่ยว และพัฒนาที่ดินจนถึงทุกวันนี้

มีทั้ง บริษัทเชียงใหม่สุดาลักษณ์ จำกัด ที่เทคโอเวอร์ต่อจากกลุ่ม “ประวิทย์ อัครชิโนเรศ” คหบดีแถวหน้าของเชียงใหม่ เมื่อปี 2535 , ธุรกิจร้านจำหน่ายของที่ระลึก-จิวเวลรี่ เครื่องเงิน เครื่องเขิน ฯลฯ ของญาติพี่น้อง , โรงแรมดิเอ็มเพรส โรงแรมเดอะปาร์ค โรงแรมดาวน์ทาวน์อินน์ โรงแรมเมอริตัสเชียงใหม่ รติล้านนาแอดน์สปา , บริษัท ช้างคลานพร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ที่ทำธุรกิจบ้านจัดสรร-คอนโดมิเนียม ภายใต้ชื่อ “อรสิริน” ร่วมๆ 20 โครงการ รวมเป็นหมื่นๆยูนิตเป็น “เชียงใหม่ทัศนาภรณ์” ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง ใช้อำนาจตามมาตรา 44 บุกเข้าตรวจค้นในเช้าวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากต้องสงสัยมีส่วนพัวพันกับการส่งจดหมายบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญห้วง 12-15 ก.ค.59 ที่มีการตรวจยึดได้จากเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง รวม 11,181 ฉบับ เฉพาะเชียงใหม่ ตรวจยึดได้ (13-15 ก.ค.) รวม 7,417 ฉบับ

เส้นทางการเมืองของกลุ่ม “บูรณุปกรณ์” เริ่มจาก “ประพันธ์ บูรณุปกรณ์” ที่เคยดำรงตำแหน่งรองนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ และก้าวสู่สนามการเมืองระดับชาติ แต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก โดยส่งไม้สนามการเมืองท้องถิ่นให้กับ “ปกรณ์ บูรณุปกรณ์” น้องคนเล็ก ที่ได้ชื่อว่า เป็นคนนำทีมล้มกลุ่มการเมืองท้องถิ่นที่เคยครองสนามเลือกตั้งเทศบาลนครเชียงใหม่ มาอย่างยาวนานทั้งกลุ่มอานันทภูมิ-ประชาสันติ รวมไปถึงกลุ่มเสธฯคนดังอย่าง พล.ต.อินทรัตน์ ยอดบางเตย

หลายเรื่องยังเป็นที่กล่าวขานกันจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีการจัดการปัญหาขยะล้นเมืองเชียงใหม่ในอดีต - กรณี “อาหลิว หรือสุก ตาจง หรือ เฉิน หมั่น ซุง ผู้ต้องหายักยอกเงินจากธนาคารกลางจีนกว่า 20,000 ล้านบาท”

กระทั่ง “ทักษิณ ชินวัตร” ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย เดินเกมกวาดต้อน ส.ส.-นักการเมืองท้องถิ่นเข้าพรรค “ปกรณ์” ถูกดึงเข้าพรรคไทยรักไทย ลงสมัคร ส.ส.เขต 1 เชียงใหม่ และได้รับการเลือกตั้ง โดยส่งไม้สนามการเมืองท้องถิ่นให้กับ “บุญเลิศ บูรณุปกรณ์”
ขณะเข้าตรวจค้นที่ อบจ.เชียงใหม่
ด้วยศักยภาพทางการเงิน-ฐานธุรกิจของตระกูล ตลอดจนฐานเสียงการเมืองท้องถิ่น เมื่อเข้าไปอยู่ใต้ร่มธงของ “ชินวัตร” แบบน้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า ทำให้สองพี่น้อง “บุญเลิศ - ปกรณ์” ได้สร้างตำนานทางการเมืองของตระกูล “บูรณุปกรณ์” อย่างโดดเด่น และหวือหวา !! กลายเป็นหนึ่งในแกนหลักของ “กลุ่มวังบัวบาน-เจ๊แดง เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวทักษิณ ชินวัตร”

กระทั่ง “ปกรณ์ บูรณุปกรณ์” เสียชีวิตกะทันหัน ก็มีการส่งไม้ต่อให้ “กุ้ง-ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์” ที่มีศักดิ์เป็นหลานสาว เข้ามาครองเก้าอี้ ส.ส.เชียงใหม่ แทน ขณะที่ “บุญเลิศ” ก็ส่งไม้ให้ “ไก่-ทัศนัย บูรณุปกรณ์” หลายชาย เข้ามาครองพื้นที่การเมืองท้องถิ่นในเทศบาลนครเชียงใหม่ ก่อนขยับไปลงสนามการเมืองชิงเก้าอี้ “นายก อบจ.เชียงใหม่” จนสามารถล้ม “เจ้าหนุ่ย-ธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่” รวมถึงคู่แข่งสำคัญอย่าง “พ่อเลี้ยงอี๊ด - อุดรพันธุ์ จันทรวิโรจน์” ครองเก้าอี้ “นายก อบจ.เชียงใหม่” มาอย่างยาวนานถึง 2 สมัย

ด้วยสายสัมพันธ์ทางการเมืองที่แนบแน่น ระหว่าง “บูรณุปกรณ์-ชินวัตร” ทำให้กลุ่ม “บูรณุปกรณ์” ตกเป็นเป้าถูกตรวจค้น ตรวจสอบมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นเมื่อคราวการปฏิวัติโดย คมช. - คสช. ซึ่ง “เชียงใหม่ทัศนาภรณ์” ถูกเจ้าหน้าที่บุกเข้าตรวจค้นทุกครั้ง บัญชีการจัดซื้อ-จัดจ้าง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเครือข่าย ถูกชำแหละตรวจสอบถี่ยิบ

แต่ “บูรณุปกรณ์” ยังคงฝ่ามรสุมทางการเมืองมาได้ทุกครั้ง

ยกเว้นคราวนี้ ... หลังเจ้าหน้าที่ตรวจยึดจดหมายบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ ที่ถูกนำไปหย่อนตามตู้ไปรษณีย์ทั้งเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ได้ต่อเนื่อง 4 วันติด (12-15 ก.ค.) รวมถึงพบเอกสารโหวตโนเสียบติดหน้ารถที่จอดอยู่ในชั้นใต้ดินห้างสรรพสินค้าพันธ์ทิพย์พลาซ่า กลางเมืองเชียงใหม่ เมื่อ 20 ก.ค.59

จนนำไปสู่การจับกุม วิศรุต คุณะนิติสาร อายุ 38 ปี พนักงานเทศบาลตำบลช้างเผือก ที่มี “คเชน เจียกขจร นายกเทศบาลตำบลช้างเผือก สามีของกุ้ง-ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์” เป็นนายกเทศมนตรีฯอยู่ ตามหมายจับศาลจังหวัดเชียงใหม่ที่ 473/2559 วันที่ 22 กรกฎาคม 2559 ในข้อหากระทำความผิดฐานเผยแพร่ข้อความในสื่อสิ่งพิมพ์ หรือช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงโดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิ์ออกเสียงหรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ได้ที่คอนโดมิเนียม เลขที่ 793/97 ลาดพร้าว 101 แขวงคลองเจ้าคุณสิงห์ เขตบางทองหลาง กรุงเทพฯ คุมตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมายที่เชียงใหม่

จากนั้นได้สนธิกำลังตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง ใช้อำนาจตาม ม.44 เข้าตรวจค้นจับกุมผู้กระทำผิดเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และลำพูน รวมกว่า 10 เป้าหมาย ซึ่งจากการตรวจค้นบ้านเลขที่ 11 หมู่ 1 ต.ท่าศาลา อ.เมืองเชียงใหม่ ยึดสิ่งของจำนวน 9 รายการ อาทิ เสื้อผ้า หมวก นาฬิกา และ รถจักรยานยนต์สีน้ำเงินที่ใช่ก่อเหตุ ตรงกับภาพที่ตรวจสอบได้ตามกล้องวงจรปิด และเข้าค้นเชียงใหม่ทัศนาภรณ์ จำกัด เลขที่ 123 หมู่ 3 ถ.เชียงใหม่ - สันกำแพง ต.ท่าศาลา ยึดสิ่งของ จำนวน 21 รายการ ประกอบด้วย เอกสาร ซองจดหมาย เครื่องปรินซ์เตอร์ คอมพิวเตอร์ ฯลฯ
จดหมายบิดเบือนร่าง รธน.
ตรวจค้นบ้านเลขที่ 129 หมู่ 5 ต.บ้านธิ อ.บ้านธิ จ.ลำพูน ของนายพงศ์พันธ์ จีระวัง หลังก่อเหตุและกระทำความผิดด้วยการเป็นคนบรรจุจดหมาย จำนวน 500 ฉบับ และส่งให้เพื่อนร่วมขบวนการอีกคนซึ่งอยู่ระหว่างติดตามตัว ใน จ.ลำปาง และตรวจค้นบ้านเลขที่ 234/20 หมู่ 6 ต.หนองหอย อ.เมืองเชียงใหม่ ของนายสามารถ ขวัญชัย ผู้ต้องหาในฐานะแจกใบปลิวในลานจอดรถพันธุ์ทิพย์พลาซ่า เชียงใหม่ ยึดของกลางใบปลิว Vote No จำนวน 400 ฉบับในบ้านพัก

ล่าสุดจนถึงขณะนี้ เจ้าหน้าที่ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 เชิญตัวนักการเมืองท้องถิ่น ญาติ และผู้เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว เพื่อควบคุมตัวไปสอบสวน ที่มณฑลทหารบกที่ 11 กรุงเทพฯ ทั้งสิ้น 11 คน คือ

1. นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ 2. น.ส.ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ 3. นายคเชน เจียกขจร นายกเทศบาลตำบลช้างเผือก 4. น.ส.ธารทิพย์ บูรณุปกรณ์ (หลานสาวนายบุญเลิศ) 5. นายวิศรุต คุณะนิติสาร คนส่งจดหมายที่ตู้ไปรษณีย์ 6. นายอติพงษ์ คำมูล 7.นายกฤตกร ไพทะยะ 8. น.ส.เอมอร ดับโศรก 9. นางสุภาวดี งามเมือง 10. นายเทวรัตน์ อินต้า และ 11. นางกอบกาญจน์ สุตีคา ซึ่งล่าสุดเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไว้ได้ 8 คนแล้ว เหลืออีก 3 คน ได้แก่ นายบุญเลิศ ที่อยู่ต่างประเทศกำลังประสานงานให้กลับมารายงานตัว (มีกำหนดเดินทางกลับวันที่ 2 ส.ค.) , นายกฤตกร ไพทะยะ และนายเทวรัตน์ อินต้า

ขณะที่ “บุญเลิศ” ก็ถูกหัวหน้า คสช.สั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ใน อบจ.เชียงใหม่ เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่ 26 ก.ค.59 เป็นต้นมา

แน่นอนว่า การทุบทลายห้างกลุ่ม “บูรณุปกรณ์” ที่มี “บุญเลิศ บูรณุปกรณ์” เป็นฟันเฟืองหลักครานี้ กระเทือนไปถึง “กลุ่มวังบัวบาน ของเจ๊แดง-เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ และทักษิณ ชินวัตร” ตลอดจนขุมข่ายของกลุ่มคนเสื้อแดงในเชียงใหม่ อย่างเลี่ยงไม่พ้นเช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น